บทความนี้ก็จะเป็นแนวคำถามสัมภาษณ์งานที่คุณต้องรู้ และต้องตอบอย่างไรให้ได้งาน ซึ่งในขั้นแรก ความพร้อม และการเตรียมตัวของผู้สมัคร ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญก่อนจะเข้ารับการสัมภาษณ์งาน เช่นเดียวกับวิธีการตอบคำถามของผู้สมัคร ที่เป็นการสะท้อนให้เห็น ทั้งบุคลิกภาพความคิด และความเอาใจใส่ต่อตำแหน่งงานนั้นๆ
จะว่าไปแล้ว การสัมภาษณ์งานเปรียบเสมือนการขายความเป็นตัวเอง ขายความสามารถของตน ซึ่งการเตรียมตัวตอบคำถามสัมภาษณ์งานล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการพูดคุยในระหว่างการสัมภาษณ์ ให้คิดว่าเรากำลังเล่าเรื่องของเรา ให้คนที่อยากรู้จักเราฟัง คิดอย่างนี้จะทำให้ เรารู้สึกตื่นเต้นน้อยลง เมื่อเรารู้สึกผ่อนคลายลง ไม่ตื่นเต้น การตอบคำถามต่างๆ ก็จะดีขึ้น การพูดคุยก็จะเป็นธรรมชาติมากขึ้น จะทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง เรามาลองอ่านคำถามสำคัญๆ 17 ข้อ เพื่อเป็นแนวทาง และแง่คิด ในการตอบคำถามของผู้สมัครกันได้เลย
1. ลองเล่าประวัติส่วนตัวให้ทราบหน่อยครับ
เป็นคำถามสัมภาษณ์งานแบบเปิด ถือว่าผู้ถูกสัมภาษณ์ได้เปรียบ คำตอบอาจอยู่ในลักษณะว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์คือใคร เรียนอะไรมา ทำอะไรมา ไม่ต้องลงลึก พยายามเลือกตอบในเชิงบวก หลีกเลี่ยงการกล่าวนำในเชิงลบ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สัมภาษณ์ซักต่อได้ สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ และไม่มีประสบการณ์ อย่ามองว่าการที่เราขาดประสบการณ์ เป็นข้อด้อยของเรา ทุกคนเริ่มจากศูนย์ก่อน ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ว่า นอกจากเรื่องเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว มีอะไรพิเศษ เช่น เคยทำกิจกรรม หรือเคยทำงานพิเศษอะไรมาก่อนหรือเปล่า เคยเข้าอบรมพิเศษที่ไหนหรือเปล่า อย่ามองว่าการที่เราขาดประสบการณ์นั้นเป็นข้อด้อย ให้ถามตัวเองว่า ทำไมเราถึงต้องการที่จะทำงานนี้
2. ทำไมคุณถึงสนใจงานตำแหน่งนี้กับบริษัทเรา
เราอาจจะเตรียมความพร้อม ด้วยการถามตัวเองว่า ทำไมเราถึงมีความต้องการ ที่จะทำงานกับเค้า คนที่ไม่มีความตั้งใจที่แท้จริง จะตกข้อนี้ เพราะคำตอบไม่ชัดเจน คุณไม่มีความต้องการ คุณหว่านไปเรื่อยๆ คุณอยากทำงานนี้จริงๆ หรือแค่ลองดู ที่ทำงานไม่ใช่ที่ทดลอง การสมัครงานควรเป็นไปให้สอดคล้องกับความต้องการของเราอย่างแท้จริง ควรตอบคำถามสัมภาษณ์งานในข้อนี้ว่า เพราะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง มีความมั่นคง มีระบบการบริหารที่ดี สินค้าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป มีโอกาสที่จะก้าวหน้า เป็นบริษัทที่ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม
3. คุณคิดว่าคุณต่างจากผู้สมัครท่านอื่นอย่างไร
คำถามสัมภาษณ์งานข้อนี้ผู้สัมภาษณ์ต้องการความเชื่อมั่นจากผู้สมัคร ว่าเราทำอะไรให้เค้าได้บ้าง เราอาจจะบอกไปว่า เราประสบความสำเร็จในเรื่องงานด้านไหน อาจจะยกตัวอย่าง ประสบการณ์ที่ผ่านมา มีเคล็ดลับอยู่ที่เราเอาตัวเองกับประสบการณ์ของเราสัมพันธ์กันอย่างไร สำหรับนักศึกษาจบใหม่ ให้ตอบว่า ตรงนี้ถึงแม้ว่าเราไม่มีประสบการณ์ แต่เรามีความมุ่งมั่นในการทำงาน เราอาจจะพูดถึงเรื่องการเข้าอบรมภาษา คอมพิวเตอร์ โปรแกรมมิ่ง หรืออินเตอร์เน็ต ทั้งหมดนี้ เป็นตัวเสริมความมั่นใจว่าเรามีความสามารถในการทำงาน ในระดับนี้ได้ เคล็ดลับอยู่ที่เราเอาตัวเองกับประสบการณ์ ของเราสัมพันธ์กันอย่างไร ตัวแปรใด เป็นตัวแปรที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกทำงาน ตรงนี้จะเป็นตัวสะท้อนว่า เราเหมาะกับบริษัทหรือไม่
4. คุณคิดว่าอะไรเป็นสิ่งดึงดูดใจที่สุดในตำแหน่งงานนี้
โดยพื้นฐานแล้ว คนเรามีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้นคำตอบอาจจะเป็นไปได้หลายแนวทาง ผู้สัมภาษณ์บางท่านอาจจะถามคำถามสัมภาษณ์งานว่า อะไรเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจรับงานชิ้นหนึ่ง อาจจะเป็นผลตอบแทน ความท้าทายของงาน ความก้าวหน้าของงาน สถานที่ทำงาน ขึ้นอยู่กับเหตุผล และความต้องการของแต่ละท่าน ปัจจัยทั้งหมดนี้จะเป็นตัวสะท้อนว่า เราเหมาะกับบริษัทหรือไม่ สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดที่บริษัทใช้ในการตัดสินใจรับบุคลากรก็คือ เรื่องของความมั่นใจว่า ถ้ารับแล้วจะเข้าไปทำงานให้เค้าได้
5. มีเป้าหมายชิวิตอย่างไร
ควรจะแสดงให้เห็นว่า เป็นคนที่มีการวางแผนหรือโครงการชีวิตในอนาคตอย่างไร แต่อย่าวางโครงการที่เพ้อฝัน เป้าหมายของชีวิตน่าจะเป็นเรื่องที่มีทางเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นเป้าหมายที่ง่ายเกินไป เช่น อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นลูกจ้างที่ดี เป้าหมายของชีวิตนี้อาจจะเป็นเรื่องงานหรือครอบครัวก็ได้ แต่ถ้าหากจะให้ดีน่าจะเป็นเรื่องงาน เช่นอีก 5 ปีข้างหน้า จะพยายามเป็นหัวหน้าแผนกในงานทีทำอยู่ เป็นต้น
6. ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไร
แนวคำตอบชีวิตในวัยเด็ก ควรตอบตามความเป็นจริง ตั้งแต่จำความได้ จนถึงวัยก่อนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ไม่ควรเล่าในรายละเอียดจนเกินไป เล่าแบบคร่าวๆ พอ อาจจะเล่าถึงสภาพการทำมาหากินของพ่อแม่ และการช่วยเหลอของเรา การทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ ในก้านการช่วยเหลืองานต่างๆ อาจจะเล่าถึงสภาพการเรียน การย้ายโรงเรียนตามพ่อแม่
7. ชีวิตในวัยเรียนเป็นอย่างไร
แนวการตอบชีวิตในวัยเรียน อาจจะเริ่มจากวัยเริ่มเรียนชั้นประถม หรือเริ่มต้นมนระดับมัธยมศึกษาก็ได้ ชอบหรือไม่ชอบวิชาอะไร เพราะเหตุใด ทำกิจกรรมอะไรบ้าง ทำไมถึงชอบทำกิจกรรม เรียนดีในวิชาอะไร สอบตกวิชาไหน ทำไม หรือสมัยเรียนเคยได้รางวัลอะไรมา เป็นต้น
8. คุณคิดว่าอะไรที่เป็นจุดแข็ง หรือส่วนดีของคุณ
ในคำถามสัมภาษณ์งานข้อนี้ แนะนำให้ตอบไปว่า เราเก่งทางด้านไหน มีความถนัดทางด้านไหน ความสามารถต่องานประเภทไหน เราต้องขายตัวเราเอง ถนัดด้านไหน เก่งด้านไหน คล่องด้านไหน
9. และอะไรคือส่วนที่เป็นจุดอ่อน หรือส่วนเสียของคุณ
อย่ามองว่าเรามีจุดอ่อนอะไร ให้มองว่าเราต้องพัฒนาตัวเองจุดไหน ทุกคนมีจุดเริ่มต้น ไม่มีใครดีพร้อม จุดอ่อนตรงนี้เป็นไปได้หลายอย่าง เช่น ด้านการทำงาน ด้านบุคลิกภาพ ขอแนะนำให้ตอบในเรื่องของงาน โดยส่วนใหญ่เน้นไปว่า จุดอ่อนตรงนั้นอยู่ไม่ถาวร พร้อมที่จะได้รับการพัฒนา การทำงานย่อมมีการพัฒนาเกิดขึ้น ผู้สมัครพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
10. มีโครงการด้านการศึกษาอย่างไรบ้าง
ควรจะพยายามแสดงว่า สนใจในเรื่องงานมากกว่า หากงานมากและไม่มีเวลาก็จะไม่เรียน แต่ถ้าหากมีเวลาและไม่เป็นผลเสียต่อการทำงานก็อาจจะเรียนต่อ แต่ทั้งนี้คงจะต้องปรึกษากับหัวหน้าด้วย
11. คุณคาดหวังว่าเงินเดือนสักเท่าไร สำหรับตำแหน่งงานนี้
คำถามสัมภาษณ์งานข้อนี้เป็นแท็คติกของผู้สัมภาษณ์ บางครั้งผู้สัมภาษณ์ มองดูผู้สมัครเพียงแค่ 5 นาทีแรก ก็ยิงคำถามนี้เลย เพื่อจะดูว่าคนนี้คิดอย่างไร กับเรื่องนี้ก่อน ทดสอบว่ามาหางานจริง หรือว่ามาทดลอง ฉะนั้นผู้สมัครอาจตอบได้หลายมุม อาจจะตอบคร่าวๆ ว่า ด้วยคุณสมบัติของเรา เราคิดว่า เราเหมาะกับตำแหน่งนี้ ซึ่งตรงนี้เรากำหนดให้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าบริษัทมีช่วงเงินเดือนยังไง แต่ด้วยความตั้งใจของเรา และประสบการณ์ของเราระยะหนึ่ง เราคิดว่า เราควรจะอยู่ที่บริเวณนี้ แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้ขึ้นอยู่แต่เงินเดือนในการตัดสินใจ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราสนุกกับงานนี้หรือเปล่า ถ้าเราสนใจงานนี้ เงินเดือนเป็นสิ่งที่คุยกันทีหลังก็ได้ คือเราเปิดช่องเอาไว้ จุดนี้ทำให้ผู้สัมภาษณ์ รู้สึกว่าเรายืดหยุ่น
12. จะใช้เงินเดือนที่ได้มาอย่างไร
ควรจะมีแผนการใช้เงินที่ดีพอควร เช่น แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เก็บไว้บ้าง ให้พ่อแม่หรือผู้มีพระคุณบ้าง (คนไทยยังชอบการกตัญญูรู้คุณ) ควรจะมีโครงการว่า จะใช้จ่ายเป็นค่ากิน ค่าเที่ยว ตัดเสื้อผ้าอย่างไร จะเก็บเงินเพื่ออนาคตแค่ไหน หรือจะสะสมเงินเพื่อซื้ออะไรสักอย่างหนึ่ง เท่าไหร่ ทำไมต้องซื้อ
13. คุณสามารถทนความกดดัน จากงานที่ทำได้ดีแค่ไหน
เป็นคำถามสัมภาษณ์งานที่เค้าต้องการสร้างความมั่นใจว่า เราเข้ากับงานของเค้าได้หรือไม่ เพราะว่างานทุกงานต้องมีความกดดันอยู่แล้ว ควรจะยกตัวอย่าง ให้เค้าเห็นว่าที่ผ่านมา ความกดดันเหล่านั้นเป็นอย่างไร และผ่านมาได้อย่างไร เราอาจจะตอบว่า ความกดดันอยู่กับเราเรื่อยๆ ในงาน เราถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของงาน เราไม่มองว่ามันเป็นอุปสรรค แต่เป็นเรื่องปกติ คือสร้างความเชื่อมั่นว่าเราจะทำกับเค้าได้ หากเป็นนักศึกษาจบใหม่ ให้มองในลักษณะการเรียน การส่งงานตามเวลา อุปสรรคในการทำงานเป็นกลุ่มทีมเวิร์ค พยายามดึงสถานการณ์ปัจจุบัน มาเป็นตัวอย่าง เราถือว่าความกดดันเป็นส่วนหนึ่งของงาน อย่ามองว่าความกดดันเป็นอุปสรรค
14. อยากทำงานคนเดียวหรือร่วมงานกับผู้อื่น
แนวการตอบอยากทำงานคนเดียวหรือหลายคน โดยทั่วไป บริษัทต่างๆ อยากให้พนักงานมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน การตอบจึงน่าจะเน้นที่การทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ความสามารถในการจูงใจให้ผู้อื่นเห็นคล้อยตาม
15. อยากทำงานกับหัวหน้าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
น่าจะตอบกลางๆ โดยมุ่งไปในประเด็นที่ว่า ผู้หญิงหรือผู้ชายไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำงาน การมีหัวหน้าเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิงน่าจะมีผลเท่ากันในแง่ของการทำงานแล้ว การแสดงออกซึ่งความสามารถในการทำงานให้หัวหน้า ยอมรับน่าจะเป็นสิ่งที่หัสหน้าทุกเพศทุกวัยชอบ อีกอย่างหนึ่งการที่บริษัทกำหนดให้มีหรือแต่งตั้งผู้หฯงผู้ใดในบริษัท เป็นหัวหน้าอีกคนหนึ่ง แสดงว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งย่อมจะได้แสดงออกซึ่งความสามารถและเหมาะที่จะปกครองคนอยู่แล้ว การที่หัวหน้าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จึงไม่เป็นปัญหาสำคัญ
16. สมัครงานไว้กี่แห่ง ถ้าที่อื่นเรียกตัวโดยให้เงินเดือนมากกว่า ภายหลังจากได้เข้าทำงานบริษัทนี้ จะไปหรือไม่
หากสมัครไว้หลายแห่งก็ควรจะบอกแต่ควรแสดงว่า หากที่นี่รับเข้าทำงานแล้ว ก็คงไม่ไปทำงานที่อื่น แม้จะให้เงินเดือนมากกว่าก็ตาม เพราะบริษัทนี้มีระบบการบริหารงานที่ดี มีความมั่นคง และอยากจะเข้าทำงานอยู่แล้ว เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของการทำงาน
17. มีคำถามอะไรไหมครับ
เป็นคำถามสัมภาษณ์งานแบบเปิดมากๆ และสามารถเป็นไปในทางบวกและลบได้ ถ้าถามไม่ถูกเวลา เมื่อผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ ถามคำถาม ให้ระวังตัว อย่าถามคำถามมากเกินไป จนกลายไปเป็นผู้สัมภาษณ์ไป ส่วนใหญ่คำถาม ก็จะอยู่ในลักษณะเช่นว่า
– องค์กรมีความตั้งใจ จะรับตำแหน่งนี้จริงแค่ไหน
– ใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจนานแค่ไหน
– ปกติกระบวนการตัดสินใจ ตรงนี้จะเป็นอย่างไร
– ในตำแหน่งนี้ องค์กรใช้เกณฑ์อะไร ในการพิจารณา
องค์ประกอบ 3 ข้อ ที่ไม่ควรมองข้ามในการตอบคำถามสัมภาษณ์งาน
1. ควรแต่งกายให้สุภาพเข้ากับบรรยากาศที่สัมภาษณ์
2. ระวังเรื่อง Body Language หรือการแสดงออกทางการเคลื่อนไหวต่างๆ เนื่องจากเรื่องนี้ สะท้อนถึงบุคลิกภาพ ของผู้ถูกสัมภาษณ์
3. Eye Contact เรื่องของการสบตาระหว่างการสัมภาษณ์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ
ข้อควรระวังในการตอบคำถามสัมภาษณ์งาน
หากผู้สัมภาษณ์ถามถึงเหตุผลของการเปลี่ยนงาน ผู้สมัครไม่ควรจะกล่าวโจมตี หรือวิพากษ์วิจารณ์ นายจ้างเก่าว่าเป็นอย่างไร สมมุติว่าเรามีปัญหากับนายจ้าง หรือเพื่อนร่วมงาน เราก็ไม่ควรจะวิจารณ์ว่าเค้าไม่ดีอย่างไร เพราะถ้าหากวิจารณ์อย่างนี้แล้ว ผู้สัมภาษณ์อาจมีความรู้สึกว่า ถ้าหากรับเข้ามาทำงาน ผู้สมัครอาจจะมาวิจารณ์บริษัทในทำนองเดียวกันก็เป็นได้ แต่หากกล่าวถึงตามความเป็นจริง อาจจะกล่าวในทำนองที่ว่า
“บางครั้งเสนอความคิด และเหตุผลไปก็ไม่รับฟัง แต่ทว่าการเปลี่ยนงานก็เป็นการตัดสินใจของตัวเอง ไม่ได้เป็นเพราะนายจ้างเก่ากดดัน สำหรับเรื่องนี้ ไม่ขอพูดถึงเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว”
อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงนายจ้างเก่า ควรจะกล่าวถึงในทำนองกลางๆ ไม่บวกจนทำให้เค้ารู้สึกว่าผู้สมัครมีปัญหา แต่ก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์อะไร ไม่แสดงให้ผู้สัมภาษณ์รู้ว่าเรามีอคติ
สรุป
ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่กำลังจะสัมภาษณ์งานได้ไม่มากก็น้อยนะครับ ก็ขอให้ทุกท่านสัมภาษณ์งานผ่านฉลุย ได้งานที่ตนเองวาดหวังไว้นะครับ