เงินทุนหมุนเวียน หรือชื่อภาษาอังกฤษ คือ Working Capital คืออะไร ในบทความนี้จะมาอธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเงินทุนหมุนเวียนคืออะไร เอาหล่ะครับ เรามาเริ่มศึกษาความหมายของศัพท์การเงินคำนี้กันดีกว่า
หรือ เงินทุนหมุนเวียน หมายถึง เงินทุนที่กิจการต้องมีสำรองไว้ใช้หมุนเวียน ตั้งแต่กิจการเริ่มจ่ายเงินสดในการชำระค่าสินค้า วัตถุดิบ หรือชำระหนี้คืนเจ้าหนี้การค้า และจ่ายค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่างๆ จนกว่ากิจการจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้าหรือบริการ หรือรับชำระเงินจากลูกหนี้การค้า (โดยไม่นับรวมถึงการซื้อสินทรัพย์ เช่น อาคาร เครื่องจักร ยานพาหนะ และอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น) เพื่อให้กิจการสามารถขายสินค้า และบริการได้ตามเป้าหมาย
เงินทุนหมุนเวียน ถ้าอธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ กิจการต้องมีเงินจมอยู่เท่าไหร่จึงจะดำเนินธุรกิจได้
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจของเราซื้อขายแบบเงินสด เราก็จะต้องนำเงินของตัวเองไปซื้อสินค้ามาตุนไว้ เพื่อทะยอยขายสินค้าออกไป เพื่อเปลี่ยนสินค้าให้เป็นเงินสด และผลกำไร เมื่อได้เงินมาก็นำเงินที่ได้ไปซื้อสินค้ามาตุน เพื่อทำการขายสินค้าใหม่ ถ้าธุรกิจของเราเล็ก เราก็ไม่จำเป็นต้องตุนสินค้ามากจนเกินไป ทำให้เราใช้เงินหมุนเวียนน้อย หรือมีเงินจมน้อย แต่ถ้าธุรกิจเราใหญ่ขึ้น มีการขยายสาขา เราก็จำเป็นที่จะต้องตุนสินค้ามากขึ้น ทำให้ใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น หรือมีเงินจมมากขึ้นนั่นเอง
โดยปกติแล้ว เงินทุนหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของกิจการ ถ้ากิจการมีการเติบโตขึ้น แต่เงินหมุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเป็นลบ ก็แสดงว่ากิจการสร้างเงินสดได้มากขึ้น โดยมีเงินจมน้อยลง ซึ่งก็คือการบริการเงินทุนหมุนเวียนได้ดีขึ้นนั่นเอง
การบริหารเงินทุนหมุนเวียน
การบริหารเงินทุนหมุนเวียน คือ การบริหารสินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียน ให้เกิดความสมดุลกันระหว่าง สภาพคล่อง ความสามารถในการทำกำไร และความเสี่ยงซึ่งจากการบริหาร
การก่อหนี้ใหม่เพื่อนำไปจ่ายชำระหนี้เดิมนั้น จะมีผลทำให้สภาพคล่องของกิจการลดลง วิธีที่จะทำให้อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนดีขึ้นก็คือ พยายามเปลี่ยนสภาพสินทรัพย์หมุนเวียน คือลูกหนี้การค้าด้วยการเร่งรัดชำระหนี้ และพยายามขายสินค้าที่มีอยู่ให้เร็วขึ้น ก็จะทำให้กิจการได้เงินสด และนำไปจ่ายชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้การค้าให้ทันตามกำหนดเวลา การทำแบบนี้จึงจะทำให้กิจการมีสภาพคล่องที่แท้จริง
ซึ่งแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่สำคัญที่เจ้าของธุรกิจมักจะไม่ได้พิจารณาก็คือ เครดิตการค้า ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินทุนอัตโนมัติที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เพราะเป็นแหล่งเงินทุนที่เกิดจากธรรมเนียมปกติทางการค้า เครดิตการค้า จึงเป็นแหล่งเงินทุนระยะสั้น ที่สามารถลดภาระในการจัดหาแหล่งเงินทุนของธุรกิจได้อย่างมาก นอกจากนี้หากผู้ประกอบการสามารถเร่งรัดชำระหนี้ และเก็บหนี้ได้ทันกับระยะเวลาที่ถึงกำหนดการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ตกลงกันไว้ ก็จะทำให้กิจการมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
แหล่งเงินทุนหมุนเวียน
ปัญหาในเรื่องของการขาดเงินทุนหมุนเวียน หรือสภาพคล่องของธุรกิจ เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ เช่น การไม่สามารถเก็บหนี้จากลูกหนี้ได้ตามกำหนดเวลา หรือปริมาณสินค้าขายไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ ทำให้เงินจมในสินค้า ผลกระทบตามมาก็คือกิจการขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะชำระหนี้สิน และใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งธุรกิจอาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียน จากแหล่งเงินทุนระยะสั้น เพื่อนำมาจ่ายชำระหนี้ให้ทันกำหนด เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคาร วิธีการดังกล่าวสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ทันตามกำหนดก็จริง แต่จะไม่สามารถทำให้สภาพคล่องของกิจการดีขึ้นแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันจะทำให้กิจการมีปัญหาสภาพคล่องมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้เพราะการหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนระยะสั้นเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาชำระหนี้นั้น จะมีผลทำให้อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ลดลง ซึ่งผู้ประกอบการ ก็ต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย
สรุป
เงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจนั้น เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ หลักในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยพิจารณาสภาพคล่อง ระดับของความเสี่ยง และกำไรในระดับที่ยอมรับได้ กล่าวคือการจัดสรรเงินเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตาม โดยหลักทางการเงิน พบว่าหากลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน จะมีผลทำให้สภาพคล่องต่ำ ความเสี่ยงสูง กำไรสูง แต่หากลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์ถาวร จะมีผลทำให้สภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ กำไรต่ำ นอกจากนี้กิจการควรมีการวิเคราะห์ระดับเงินทุนหมุนเวียนเป็นระยะๆ เพื่อให้ทราบว่ามีกำไร จากการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่
หวังว่าในบทความนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า เงินทุนหมุนเวียน ได้มากขึ้นนะครับ ซึ่งจริงๆ เรื่องเงินทุนหมุนเวียน ยังมีรายละเอียดในส่วนของการคำนวณอีก ซึ่งท่านผู้อ่านก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม ไว้เป็นความรู้สำหรับการประกอบกิจการต่างๆ นะครับ