วิธีการทำธุรกิจที่ซาอุ พร้อมสินค้ายอดฮิตที่นำเข้าและส่งออกไปซาอุ

ประเทศซาอุดิอาระเบีย

 

สำหรับประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือชื่อเต็มคือราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย (The Kingdom of Saudi Arabia) จัดได้ว่าเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในแถบตะวันออกกลาง มีความมั่งคั่งจากการเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซาอุดิอาระเบียจึงเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ยังตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันมากเกินไป จึงมีนโยบายที่จะกระจายการผลิตด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมโรงงานและการเกษตร และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น นับเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเสาะหาลู่ทางการค้าการลงทุนในประเทศซาอุดิอาระเบีย

ข้อดีในการทำธุรกิจที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย

– ซาอุดิอาระเบียมีระบบเศรษฐกิจที่รัฐมีบทบาทนำ (State-led Economy)
– ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลก มีปริมาณน้ำมันสำรองมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก (รองจากรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา)
– รายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็น 90-95% ของรายได้การส่งออกทั้งหมด เศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียจึงมีการพึ่งพาภาคน้ำมันดิบสูงมาก
– มีบทบาทสำคัญใน OPEC และในการรักษาเสถียรภาพราคา และระดับอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ในแต่ละปี ผลผลิตภาคน้ำมันของซาอุดิอาระเบียคิดเป็นประมาณ 40% ของ GDP
– จากที่ซาอุดิอาระเบียเคยพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบมาเป็นเวลานาน ตอนนี้ซาอุดิอาระเบียกำลังพยายามขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนมีการขยายตัวเติบโตขึ้น ภายใต้โครงการ “ซาอุดิ วิชั่น 2030” เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อพาประเทศเข้าสู่ยุคหลังน้ำมันอย่างเต็มตัว เช่น การผลักดันภาคเอกชนที่ไม่ใช่น้ำมันให้มีบทบาทมากขึ้น การจัดการสินทรัพย์ต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียที่เข้มงวดขึ้น ลงทุนในเหมืองแร่
– รัฐบาลซาอุดิอาระเบีมีโครงการลงทุนในธุรกิจก่อสร้างหลายโครงการ อาทิ การก่อสร้างเมืองอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ปรับปรุงระบบการคมนาคม การก่อสร้างโรงแรม และการขยายสนามบินนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างของภาคเอกชนทั้งในส่วนอาคารเพื่ออยู่อาศัย และอาคารเพื่อการพาณิชย์ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
– ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 3-5% ต่อปี

ข้อเสียในการทำธุรกิจที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย

– ข้อจำกัดในการให้ตรวจลงตราแก่นักธุรกิจไทย ซึ่งกระทบกับการขยายช่องทางการติดต่อ และการเพิ่มมูลค่าการค้า ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยได้หาทางขยายตลาดในซาอุดิอาระเบีย โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เมืองเจดดาห์ และที่กรุงริยาด ซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่จะได้รับการตรวจลงตราจากฝ่ายซาอุดิอาระเบีย ซึ่งปัจจุบันนี้ซาอุดิอาระเบียก็ได้ผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการตรวจลงตราแล้ว
– ซาอุดิอาระเบียเน้นนโยบายพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน ทดแทนการนำเข้า และสร้างงาน ดังนั้นจึงมีการปกป้องอุตสาหกรรมบางชนิดที่ผลิตภายในประเทศด้วยการตั้งกำแพงภาษีที่มีอัตราสูงถึง 20%
– ซาอุดิอาระเบียยังไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม WTO การประเมินราคาเพื่อจัดเก็บภาษีจึงไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกลุ่ม WTO กล่าวคือการประเมินจะไม่คำนึงมูลค่าตามใบกำกับสินค้า แต่กรมศุลกากรกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจแห่งชาติของซาอุดิอาระเบียมีหน้าที่ประเมินราคาสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าไปในประเทศ และจะใช้วิธีการกำหนดราคาขั้นต่ำเป็นเกณฑ์โดยพื้นฐานจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ราคาท้องถิ่น และการติดต่อสอบถามจากโรงงานโดยตรง
– ซาอุดิอาระเบียมีปัญหาการว่างงาน เนื่องจากคนซาอุดิอาระเบียยังไม่นิยมทำงานหนัก หรืองานที่ต้องใช้ทักษะความรู้เฉพาะด้าน ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติให้ไม่เกิน 20% ของประชากรซาอุดิอาระเบียทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 25 ล้านคน ซึ่งก็คือมีแรงงานต่างชาติได้ประมาณ 5 แสนคน ซึ่งรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้กำหนดเป้าหมายที่จะเร่งลดจำนวนแรงงานต่างชาติให้ถึงปีละ 100,000 คน เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานชาวซาอุดิอาระเบียเข้ามาแทนที่

นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของประเทศซาอุดิอาระเบีย

– รัฐบาลซาอุดิอาระเบียเล็งเห็นว่าประเทศได้พึ่งพิงรายได้จากน้ำมันเป็นหลัก จึงมีการกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจสำคัญสองประการ คือ
1. การกระจายการผลิต ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมโรงงานและการเกษตร
2. ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งซาอุดิอาระเบียมีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุน The Saudi Arabian General Investment Authority (SAGIA) เมื่อปี พ.ศ. 2453 และได้มีการปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Investment) เมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นการจูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในซาอุดิอาระเบียมากยิ่งขึ้น

สิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุนจากประเทศไทย

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการไทยนั้น ประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายฉบับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย เช่น

– ความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (พ.ศ. 2537)
– ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีกิจการขนส่งทางอากาศ (Agreement for the Reciprocal Exemption of Taxes on the Activities of Air Transport Enterprises)
– เอกสารพิธีการ (Proces-Verbal) เพื่อการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารความตกลง เพื่อการเว้นการเก็บภาษีจากกิจการขนส่งทางอากาศ (พ.ศ. 2539)
– ความตกลงการบิน (ได้มีการเจรจาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงบริการขนส่งทางอากาศระหว่างกันที่เมืองเจดดาห์ โดยฝ่ายซาอุดิอาระเบียเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 เป็นผลให้ บริษัทการบินไทย ตกลงจะทำการบินไปซาอุดิอาระเบียอีกหลังจากหยุดดำเนินการมาเป็นเวลา 14 ปี รวมทั้งเพิ่มสิทธิ์การบินไปยังเมืองเจดดาห์ (จากเดิมที่มีสิทธิ์การบินไปเมืองริยาด เมืองดัมมัม และเมืองดาห์ราน เท่านั้น) ขณะที่สายการบิน Saudi Arabian Airlines ได้ตกลงจะทำการบินมาไทยอีกครั้ง หลังหยุดมาหลายปี และจะมีการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน หรือ Code Sharing ระหว่างทั้งสองสายการบิน)

การทำธุรกิจที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย

ข้อแนะนำในการทำธุรกิจที่ซาอุดิอาระเบีย

– ซาอุดิอาระเบียมีนโยบายการค้าเสรีบนพื้นฐานการแข่งขัน ไม่มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ไม่มีข้อจำกัดปริมาณ และโควตาการนำเข้าสินค้า และไม่มีการควบคุมราคา เพื่อให้มีสินค้าเข้าสู่ตลาดอย่างเสรี และเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และราคาไม่แพง ยกเว้นสินค้าบางรายการที่ห้ามนำเข้าเนื่องจากขัดต่อบทบัญญัติทางศาสนา และความมั่นคงของประเทศ
– ทางการซาอุดิอาระเบียมีนโยบายการนำเข้าสินค้าอาหารที่เข้มงวด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ โดยใช้มาตรการ และแนวทางของสหภาพยุโรปเป็นหลัก หากสหภาพยุโรปดำเนินมาตรการใด ซาอุดิอาระเบียก็จะดำเนินการตามทันทีโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังสุ่มตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าทุกรายการด้วย
– ชาวซาอุมักจะตัดสินใจเลือกทำธุรกิจกับคู่เจรจาที่พวกเขารู้จัก และชื่นชอบ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขา ซึ่งนอกจากภาพลักษณ์ขององค์กรที่เข้มแข็ง และมั่นคงแล้ว การสร้างความเชื่อใจ และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการติดต่อเจรจาธุรกิจกับชาวซาอุ และมักจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น กล่าวคือขณะที่คู่เจรจาชาวซาอุรู้สึกเป็นมิตรกับเรา แต่เขาอาจจะไม่รู้สึกเช่นเดียวกันกับบุคคลอื่นในบริษัทของเรา นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนตัวผู้แทนเจรจาธุรกิจจากเราไปเป็นผู้อื่นมาแทน อาจส่งผลให้เกิดการยกเลิกข้อตกลงก็เป็นได้
– ผู้ประกอบการไทยควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในซาอุดีอาระเบีย เกี่ยวกับรายละเอียดในสัญญาซื้อขายก่อนตัดสินใจลงนามในสัญญาธุรกิจ ทั้งนี้ไม่ควรพาทนายความ หรือที่ปรึกษาทางกฎหมายมาร่วมโต๊ะลงนามสัญญาด้วย เนื่องจากนักธุรกิจชาวซาอุอาจมองว่าเป็นการไม่เชื่อใจกัน
– นักธุรกิจชาวซาอุส่วนใหญ่มีลักษณะการทำงานแบบหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และบ่อยครั้งที่มักจะเปลี่ยนเรื่องเจรจา ทั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องเดิม หรือกลับมาเจรจาเรื่องเดิมที่ได้ข้อสรุปยุติไปแล้ว นอกจากนี้พวกเขาอาจจะขอคุยโทรศัพท์หรือขัดจังหวะการประชุม ซึ่งไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี แต่เพียงต้องการยืดเวลา และสร้างอำนาจในการต่อรองเท่านั้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังเรื่องการแสดงออกทางความรู้สึกต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วย โดยควรยืนยันเงื่อนไขข้อตกลง และประเด็นที่ต้องการเจรจา เพื่อแสดงถึงความจริงจัง และสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของคู่เจรจา
– การจัดหาผู้แทนในท้องถิ่นเพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง เป็นอีกเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาสามารถช่วยเหลือในเรื่องการแนะนำคู่เจรจาที่เหมาะสม และช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างของทั้งสองฝ่ายได้
– แม้ว่านักธุรกิจหญิงชาวไทยจะมีหนังสือรับรองตำแหน่งจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร แต่ก็อาจไม่ได้รับความเชื่อถือจากคู่เจรจาชาวซาอุเนื่องจากสถานะทางสังคมของผู้หญิงในประเทศนี้ยังอยู่ในกรอบจำกัด และด้อยกว่าผู้ชาย ดังนั้นหากจำเป็นต้องเดินทางไปร่วมเจรจาธุรกิจในซาอุดีอาระเบีย อาจจะให้เพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายทำหน้าที่ในการเจรจา โดยนักธุรกิจหญิงไทยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแทน

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเข้าซาอุดิอาระเบีย

สินค้านำเข้าในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เพื่อการค้าทุกประเภทไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าใด จะต้องมีเอกสารประกอบการนำเข้า ดังนี้

– ใบกำกับสินค้า (Commercial Invoice) ซึ่งด้านบนเอกสารจะต้องมีชื่อบริษัทผู้ส่งออก พร้อมทั้งชื่อและสถานที่ติดต่อของผู้ส่งและผู้รับสินค้า มีการระบุรายละเอียดที่ชัดเจนของสินค้า ส่วนประกอบ เครื่องหมายการค้า ชื่อเรือหรือสายการบิน วันขนส่งสินค้า เมืองต้นทางและปลายทาง น้ำหนักสุทธิรวม ปริมาณ ราคาต่อหน่วย ราคารวมของสินค้าแต่ละกลุ่มหรือชนิด ราคารวมทั้งหมด จำนวนบรรจุแต่ละหีบห่อและคอนเทนเนอร์ เงินตราจำนวน L/C (หากมี) รวมทั้งค่าขนส่งและประกันภัย
– หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)
– ใบขนส่งสินค้า (Bill of Lading or an Airway Bill)
– หนังสือรับรองจากบริษัทเดินเรือ หรือสายการบิน
– กรมธรรม์ประกันภัย (Insurance Certificate)
บัญชีหีบห่อสินค้า (Packing List)
– เอกสารอื่นๆ ขึ้นอยู่กับชนิด หรือประเภทสินค้าตามที่กฎระเบียบกำหนด

ส่งออกสินค้าอะไรไปประเทศซาอุดิอาระเบียดี

สินค้าส่งออกไปจากไทยไปซาอุดิอาระเบียส่วนใหญ่ ได้แก่

– รถยนต์และส่วนประกอบ
– เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ
– เคมีภัณฑ์
– ตู้เย็น/ตู้แช่
– เครื่องจักรกล
– ผลิตภัณฑ์ยาง
– เสื้อผ้าสำเร็จรูป
– ผ้าผืน
– อาหารทะเลแปรรูป
– ปลาแห้ง

ทั้งนี้ สินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี และได้รับการยอมรับในตลาดซาอุดีอาระเบีย มีราคาที่แข่งขันได้ และมีคุณภาพทัดเทียมสินค้าของประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ

นำเข้าสินค้าอะไรจากซาอุดิอาระเบียมาขายดี

ส่วนใหญ่แล้วไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาโดยตลอด โดยไทยเป็นฝ่ายนำเข้าสินค้า เช่น

– น้ำมันดิบ/น้ำมันสำเร็จรูป
– ก๊าซธรรมชาติ
– ผลิตภัณฑ์เหล็ก
– สารเคมี
– ปุ๋ย
– ยาฆ่าแมลง
– เส้นใยประดิษฐ์สำหรับทอผ้า
– กระดาษ

ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับธุรกิจประเทศซาอุดิอาระเบีย

ตลาดส่งออกที่สำคัญของซาอุดิอาระเบีย คือ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย และสิงคโปร์
ตลาดนำเข้าออกที่สำคัญของซาอุดิอาระเบีย คือ สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินเดีย เกาหลีใต้ และอิตาลี
สินค้าส่งออกที่สำคัญของซาอุดิอาระเบีย คือ น้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม
สินค้านำเข้าที่สำคัญของซาอุดิอาระเบีย คือ เครื่องจักรและปัจจัยการผลิตต่างๆ อาหาร เคมีภัณฑ์ รถยนต์และชิ้นส่วนเครื่องยนต์ สิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ สินค้าเกษตร

ในปัจจุบัน สินค้าที่มีการขยายตัวและมีอนาคตเชิงธุรกิจในตลาดซาอุดิอาระเบียสูง ได้แก่ อุปกรณ์โทรคมนาคม อุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์การกลั่นน้ำทะเล อะไหล่รถยนต์ สินค้าที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย สินค้าเกษตร ผักผลไม้สด อาหารฮาลาล เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทต่างๆ

ผู้หญิงที่ซาอุดิอาระเบียสามารถทำธุรกิจได้แล้ว

ซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้ผู้หญิงในประเทศสามารถเริ่มตั้งธุรกิจของตัวเองได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตสามี หรือญาติที่เป็นผู้ชายก่อนแล้ว เพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตในภาคเอกชนของประเทศ

กระทรวงพาณิชย์และการลงทุนของซาอุดีอาระเบีย ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่าอนุญาตให้ผู้หญิงเริ่มตั้งธุรกิจของตัวเองได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตสามี หรือญาติที่เป็นผู้ชายก่อนแล้ว ซึ่งกฎระเบียบห้ามผู้หญิงทำธุรกิจ มีมายาวนานกว่า 10 ปี

ทั้งนี้ภายใต้ระบบผู้ปกครอง ซึ่งเป็นกฎเก่า ผู้หญิงชาวซาอุดีอาระเบียต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้ชาย ซึ่งตามปกติจะเป็นสามี หรือบิดา หรือพี่ชาย ก่อน เพื่อทำเอกสารทางราชการ เอกสารเกี่ยวกับการเดินทาง หรือเอกสารสมัครเข้าเรียน

ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เกิดจากซาอุดีอาระเบียเดินหน้าปฏิรูป จากประเทศที่พึ่งพาเพียงรายได้จากการผลิตน้ำมันดิบ มาขยายภาคธุรกิจเอกชนในประเทศมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการจ้างงานสตรีภายใต้แผนปฏิรูปต่างๆ เป็นการให้เสรีภาพกับสตรีเพศมากขึ้น

สำหรับความพยายามในการปฏิรูปประเทศของซาอุดิอาระเบียนั้น เริ่มตั้งแต่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าสนามกีฬาได้ ไปจนถึงอนุญาตให้ขับรถ และสามารถจดทะเบียนบริษัททางออนไลน์ได้เอง

สรุป

การไปลงทุนทำธุรกิจที่ซาอุดิอาระเบีย ท่านที่สนใจจะต้องศึกษากฎระเบียบทางธุรกิจต่างๆ ให้มาก ทางที่ดีจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจที่เคยไปทำธุรกิจที่ซาอุดิอาระเบีย หรือตะวันออกกลางมาก่อน เค้าจะรู้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับ มารยาททางธุรกิจ ข้อตกลงทางธุรกิจต่างๆ เพื่อให้การเจรจาธุรกิจเป็นไปอย่างลุล่วงด้วยดี ไม่มีอะไรติดขัด สำหรับบทความที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจที่ซาอุดีอาระเบียนี้ก็ขอจบลงแต่เพียงเท่านี้นะครับ

error: Content is protected !!