เก๋ากี้ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โกจิเบอรรี่ (Goji-berry) เป็นผลไม้แห้งลูกเล็กๆ รีๆ คล้ายกับลูกเกดแต่มีสีแดงสดใส
คนไทยเชื้อสายจีนย่อมคุ้นเคยกับหน้าตาของมันอยู่แล้ว เก๋ากี้มีเบต้าแคโรทีนสูง มีวิตามินอีมาก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสสระ
มีกรดกำมะถัน เอมีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินบี 2
การแพทย์จีนจัดให้เก๋ากี้เป็นยารสหวาน มีธาตุเป็นกลาง บำรุงเลือด ไตและสายตา ช่วยทำให้ผมดำ บำรุงผิวพรรณ คนจีนเฃื่อว่าเก๋ากี้ ทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉง เป็นยาอายุวัฒนะ มักจะใช้กับคนที่ไม่มีแรง อ่อนเพลีย เวียนศรีษะ ตามัว ปวดเมื่อยเอว ปวดเข่า ประจำเดือนไม่ปกติ ไอเรื้อรัง เลือดจาง และมีอาการตับและไตอ่อนแอ เพราะเก๋ากี้มีความเป็นกลาง แพทย์จีนจึงบอกว่า หากคุณเป็นหวัด ตัวร้อน อาหารไม่ย่อย ท้องผูก อุจจาระเหลว ไม่ควรรับประทานเก๋ากี้ครับ
เนื่องจากเก๋ากี้มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายตัว จากงานวิจัยใหม่ๆ พบว่าเก๋ากี้มีผลในการเสริมภูมิต้านทานโรค เพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวในร่างกาย ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ และช่วยทำให้เซลส์ตับทำงานได้ดีขึ้น
เก๋ากี้นี้มีฉายาว่า “สมุนไพรเพื่อความมีอายุยืนยาว” หรือเรียกว่ายาอายุวัฒนะนั่นเอง เก๋ากี้จัดอยู่ในวงศ์ Solanaceae ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับพริก, มะเขือ, มะเขือเทศ และมันฝรั่ง
ลักษณะของเก๋ากี้เป็นไม้พุ่ม สูง 1-1.5 เมตร ลำต้นมีหนามแหลม ดอกสีม่วง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ผลจะมีรูปกลมรี ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงอมส้ม ภายในมีเมล็ด ดอกและผลอ่อน เก๋ากี้ที่ดีต้องมีเม็ดใหญ่ สีแดง เนื้อหนา อ่อนนิ่ม รสหวาน การเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในที่แห้ง อย่าให้โดนความชื้น ในส่วนของใบจะมีหนาม คล้ายๆ ใบผักหวาน
เก๋ากี้สามารถบริโภคได้ทั้งผลและใบ เมนูที่นิยมกันก็จะเป็นเมนูน้ำแกงเป็นหลัก เช่น ซุปกระดูกหมู ตุ๋นยาจีนตำหรับต่าง ๆ เป็นต้น ถ้าอากาศไม่หนาวจะไม่ค่อยเป็นลูก จึงทำให้บางพื้นที่ที่อากาศไม่หนาวจะนิยมเด็ดใบกิน
วิธีเพาะปลูก เก๋ากี้เป็นพืชที่จะติดดอกออกผลในช่วงฤดูหนาว เป็นพืชที่ทนต่อโรคอีกชนิดหนึ่งและยังต้องการน้ำน้อย จึงสามารถทนแล้งได้ดี ชอบดินที่มีลักษณะโปร่ง เช่น ดินร่วนปนทราย เป็นต้น ชอบแสงแดด
เพาะเมล็ด ข้อควรระวัง:หากเป็นมล็ดที่ผ่านกรรมวิธีการอบความร้อนมาจะเพาะไม่ได้ครับ เมื่อได้เมล็ดมาแล้วให้เอาไปแช่น้ำสักครู่หนึ่ง จากนั้นจึงบีบ ขยี้ ให้แตกเพื่อให้ตัวเมล็ดออกมาครับ เมล็ดที่แก่จะจมน้ำ ส่วนเมล็ดอ่อนจะลอยขึ้นมา เมล็ดอ่อนนำไปเพาะไม่ได้นะครับ ให้ตักทิ้งไป จากนั้นตักเมล็ดเก๋ากี้ส่วนที่จมขึ้นมาวางบนกระดาษ ผึ่งลมสองสามวันให้เมล็ดแห้งสนิท แล้วจึงนำเมล็ดไปคลุกกับไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันการเกิดโรคเชื้อรา จากนั้นจึงนำเมล็ดไปเพาะโดยวางเมล็ดบนกระดาษทิชชู หยอดน้ำให้ชุ่ม ใส่กล่องโฟมมีฝาปิด ทิ้งในอุณหภูมิห้อง รอประมาณเจ็ดถึงสิบวันก็จะเริ่มมีรากเล็ก ๆ งอกออกมา แล้วจึงนำไปเพาะต่อในถาดเพาะครับ
การปลูก สามารถนำต้นเก๋ากี้ที่เพาะไว้ไปปลูกลงดินได้เลย แต่บางท่านก็นิยมนำไปปลูกในกระถางก็ได้เช่นกัน ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 60 X 60 เซนติเมตรครับ ใช้ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนปลูกประมาณ 1 กำมือ
การรดน้ำ ในระยะแรกให้รดน้ำทั้งเช้าและเย็นครับ เมื่อต้นเริ่มแตกยอดให้รดแค่ 2 – 3 วันต่อครั้ง ควรรดก่อนเวลา 16.00 น. เพื่อป้องกันการเกิดโรคเชื้อรา และไม่ควรรดจนชุ่มน้ำเกินไปครับ
การให้ปุ๋ย หลังจากปลูกลงดินประมาณ 2-3 เดือนจึงเริ่มให้ปุ๋ยครับ ให้ปุ๋ยครั้งละประมาณ 1 กำมือต่อเดือนก็ได้ครับตามความเมาะสมของสภาพพื้นดิน ในช่วงกำลังเป็นดอกแนะนำให้ใส่ปุ๋ยหรือฉีดน้ำหมักสูตรบำรุงดอก บำรุงผลเพื่อเพิ่มผลผลิตครับ
การขยายพันธุ์ สามารถขยายด้วยเมล็ดได้ แต่โดยทั่วไปจะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักกิ่งครับ
โรค ศัตรูและการป้องกันกำจัด เก๋ากี้จะเป็นพืชที่ไม่ค่อยเป็นโรคครับ ถ้าเป็นโรคก็จะเป็นโรคคล้าย ๆ กับพริก เพราะเก๋ากี้เป็นพืชตระกูลเดียวกับพริกนั่นเอง อาการโรคที่อาจพบได้คือโรคเชื้อรา สามารถแก้ไขได้โดยการราดเชื้อราไตรโคเดอร์มา
สรุป เก๋ากี้เป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย และยังเป็นสมุนไพรในตัวด้วย สามารถนำไปปรุงอาหารได้ทั้งของคาวและของหวานเรียกว่าครอบจักรวาลกันเลยทีเดียวครับ สรรพคุณที่โดดเด่นของเก๋ากี้คือการช่วยรักษาอาการป่วยที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น น้ำตาแห้ง ปวดตา หรือรับประทานเพื่อบำรุงสายตา จึงเหมาะกับ พนักงานออฟฟิศ หรือผู้ที่ต้องใช้สายตาในการทำงาน เช่น นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์เก๋ากี้ในบ้านเราก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำเก๋ากี้ แยมเก๋ากี้ ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในเมืองก็สามารถหาผลิตภัณฑ์เก๋ากี้มาบริโภคได้อย่างง่ายดาย