วิธีการเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับในบทความนี้ ก็จะเขียนถึงเรื่องการเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ ประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก (พ.ศ. 2560) ท่านที่เจาะตลาดไปทำร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ควรที่อ่านบทความนี้ เพื่อจะได้มองภาพรวมอย่างคร่าวๆ และได้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไปบ้าง เอาหล่ะเริ่มเลยดีกว่าครับ

ร้านอาหารไทยที่เปิดในสิงคโปร์มี 3 แบบใหญ่ๆ คือ

1. ร้านเชนสโตร์ (รวมแฟรนไชส์) จากเมืองไทย เช่น ร้าน Thai Express ของกลุ่มไมเนอร์ / ร้าน Siam Kitchen และ Bangkok Jam ของ S&P / ร้าน Bali Thai ของกลุ่มทุนสิงคโปร์
2. ร้านที่เปิดเดี่ยวและคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ร้านท่านหญิง ร้านสบาย ทั้งสองร้านเจ้าของเป็นชาวสิงคโปร์ ส่วนกุ๊กของร้านเป็นคนไทยทั้งหมด
3. ร้านอาหารไทยสำหรับคนไทยที่ทำงานในสิงคโปร์ จะเป็นร้านเล็กๆ ราคาไม่แพง พบได้ในห้าง Golden Mile และศูนย์การค้าขนาดเล็กทั่วไป

ข้อแนะนำในการเปิดการร้านอาหารไทยในสิงคโปร์

1. คนสิงคโปร์ไม่นิยมทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ

รัฐบาลสิงคโปร์เข้มงวดในเรื่องคุณสมบัติของกุ๊ก และมีกฎระเบียบจ้างงานเข้มงวด ทั้งที่สิงคโปร์นั้นขาดแคลนแรงงานอย่างมากในธุรกิจด้านอาหาร คนสิงคโปร์ไม่ค่อยยอมเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ต้องยืนนาน บริการลูกค้า ทำงานตั้งแต่เช้ายันดึก หาคนสิงคโปร์ทำงานในร้านอาหารได้ยากมาก ส่วนมากจะจ้างแรงงานต่างชาติมาทำ

2. การร่วมหุ้นส่วนธุรกิจกับคนสิงคโปร์

พบว่าเจ้าของร้านอาหารไทยส่วนมากเป็นชาวสิงคโปร์ มีร้านสาขาจากมาเลเซียด้วยคือร้าน Absolute Thai (ร่วมทุนไทย-มาเลเซีย) และร้านแฟรนไชส์จากเมืองไทย แม้การจดทะเบียนเปิดร้านอาหารในสิงคโปร์ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ โดยถือได้ 100% แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีเงินทุนสูง เพราะค่าครองชีพสูง การมีหุ้นส่วนธุรกิจท้องถิ่นจึงจะช่วยให้ทำตลาดได้ง่ายขึ้น

3. ทำเลที่ตั้งร้านอาหารมีผลอย่างมาก

ทำเลที่ตั้งดี ค่าเช่าก็แพงตาม ทำเลดีๆ อย่างใจกลางเมือง เช่น บนถนนออร์ชาร์ด ในห้างสรรพสินค้าทาคาชิมาย่า หรือตึกพารากอน ค่าเช่าจะสูงมาก จึงต้องตั้งราคาอาหารสูงตาม แม้จะเป็นเมนูเดียวกับสาขาอื่น จะมีลูกค้าชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ร้านอาหารในศูนย์การค้าจะขายดีมาก เช่น ร้าน Bangkok Jam ในตึก Grand Singapura ขายได้วันละ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เดือนละอย่างน้อย 150,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ แม้ค่าเช่าจะแพงก็ตาม แต่ก็ได้กำไรดีมาก ร้าน MK ซึ่งเปิดร้านในสิงคโปร์ครั้งหนึ่งแล้วปิดไป ก็กลับไปเปิดใหม่อีกครั้งบนถนนออร์ชาร์ด หากตั้งอยู่ในบริเวณที่ห่างจากถนนออชาร์ดออกมา ก็จะขายได้น้อยลง ราววันละ 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม บางร้านตั้งอยู่ในศูนย์การค้าแต่เป็นทางเดินผ่าน อย่างร้าน Absolute Thai ในตึก 313 ตรงทางขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินสถานี Somerset ก็ไม่ค่อยมีลูกค้า ผู้จัดการร้านบอกอย่างน่าคิดว่า สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยวมากก็จริง แต่ร้านอาหารจะหวังพึ่งนักท่องเที่ยวเท่านั้นไม่ได้ ทุกร้านอยากได้ลูกค้าท้องถิ่นที่มาทานประจำมากกว่า

ด้วยค่าเช่าพื้นที่ที่แพงผู้ประกอบการบางรายอาจเลือกประหยัดด้วยการเช่าพื้นที่ในลำดับรองๆ ลงไป ซึ่งก็ต้องมาประเมินดูว่าการลดต้นทุนแบบนี้จะคุ้มค่าแค่ไหน ทำเลหลักจ่ายแพงแต่คนเยอะยอดขายมาก กับทำเลรองคนน้อยกว่าขายได้น้อยกว่า ซึ่งก็ต้องพิจารณากันไปตามความเหมาะสมของเงินทุน

4. ใบอนุญาติร้านอาหารต้องถูกต้อง

มีกรณีศึกษามากมายที่ร้านอาหารบางแห่งในสิงคโปร์มีการดำเนินธุรกิจขัดแย้งกับใบอนุญาต หากคิดจะเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ควรศึกษาข้อมูลนี้จาก EnterpriseOne (eresources.nlb.gov.sg) เว็บไซต์ของรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อดูว่าธุรกิจที่กำลังจะดำเนินนั้นเข้าข่ายต้องขอใบอนุญาตประเภทใด ที่สำคัญ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนกอาหารจะต้องเข้าอบรม และต้องสอบให้ผ่านคอร์สสุขอนามัยด้านอาหาร (Food Hygiene Course) ก่อนจะไปลงทะเบียนกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

5. เงินทุนต้องมีพอสมควร

หลายท่านอาจจะทราบดีว่าค่าเช่าพื้นที่ในสิงคโปร์มีราคาแพงมาก ซึ่งร้านอาหารไทยในสิงคโปร์มักต้องจ่ายล่วงหน้าในการเช่าพื้นที่อย่างน้อย 3-6 เดือนไม่รวมค่าตกแต่งร้าน ที่ต้องสร้างบรรยากาศให้ลูกค้าสนใจด้วย ตัวเลขของร้านค้าแบบคีออสเล็กๆ ยังประมาณ 80,000-600,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ยิ่งเป็นร้านอาหารที่ต้องใช้พื้นที่กว้าง ราคาลงทุนก็ยิ่งสูงเราต้องคำนวณเรื่องนี้ให้ดีด้วย

6. การนำกุ๊กไทยมาทำงานสิงคโปร์

ซึ่งการหากุ๊กไทยไปทำงานสิงโปร์ ต้องปฏิบัติตามกฎ Employment Act ของสิงคโปร์ซึ่งได้ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งได้แบ่งกลุ่มลูกจ้างเป็น 3 กลุ่มตามระดับรายได้และอาชีพ คือ

กลุ่มอาชีพ Skilled professionals ได้แก่ วิศวกร แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน R&D ผู้บริหาร เป็นผู้ที่จบปริญญาตรีขึ้นไป มีรายได้มากกว่า 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน จะได้รับใบอนุญาตทำงาน E Pass หรือ Employment Pass และไม่มีการกำหนดโควตา
กลุ่ม Semi-skilled professionals ได้แก่ ช่างเทคนิค เชฟ ผู้จัดการ เป็นผู้ที่จบอนุปริญญาขึ้นไปและมีประสบการณ์ทำงานตามที่กำหนด มีรายได้มากกว่า 2,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน จะได้ใบอนุญาตทำงาน S Pass โควตาไม่เกินร้อยละ 15 ของพนักงานทั้งหมดในธุรกิจบริการ และต้องเสียภาษีแรงงานต่างด้าว (Foreign worker levy) ราว 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนต่อคน สำหรับร้านอาหาร
กลุ่ม Unskilled professionals ได้แก่ แรงงานก่อสร้าง แม่บ้าน ไม่กำหนดระดับการศึกษา มีรายได้น้อยกว่า 2,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน โควตาขึ้นอยู่กับอาชีพและต้องเสียภาษีแรงงานต่างด้าว

ทั้งสามอาชีพต่ออายุใบอนุญาตได้ แต่รัฐบาลสิงคโปร์จะเป็นคนกำหนดว่าจะให้ต่อหรือไม่ และต่อนานกี่ปี 1-2 ปี การต่ออายุใบอนุญาตมักจ้างเอเย่นต์เป็นคนทำให้

ซึ่งการหาช่องทางให้เข้ากุ๊กจากเมืองไทยเข้าทำงานสิงคโปร์จึงมี 2 ทางเลือก คือ S Pass หรือ E Pass ตามเกณฑ์ข้างต้น จะขออธิบายเพิ่มคือ นายจ้างเริ่มจ้างกุ๊กรุ่นใหม่ที่จบปริญญาตรีเพิ่มขึ้น (E Pass) และไม่อยากต่ออายุให้กับกุ๊กรุ่นเก่า เนื่องจากส่วนมากไม่ได้จบปริญญาตรี (S Pass) การต่อใบอนุญาตทำงานยุ่งยากกว่า แม้จะได้เงินเดือนน้อย และมีประสบการณ์ทำอาหารมานานกว่าก็ตาม จึงพูดได้ว่าระดับเงินเดือนของกุ๊กในปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่อยู่ที่วุฒิการศึกษา มีการจ้างผู้ที่จบปริญญาตรีด้านคหกรรมศาสตร์เข้ามาทำงานแทนมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียภาษีแรงงานต่างด้าว และไม่มีการกำหนดโควตา

อีกข้อสังเกตก็คือ การเปิดร้านอาหารหลายชื่อหลายสาขา เพื่อต้องการโควตานำเข้ากุ๊ก มีการสับเปลี่ยนคนแทนไปมา เช่น ได้รับใบอนุญาตให้มาทำงานกับร้านอาหารหนึ่ง แต่ไปทำงานให้กับร้านอาหารสาขาอื่น ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่สิงคโปร์มาตรวจจับก็จะเป็นปัญหาได้

7. มีกุ๊กสำรอง

กุ๊กคือหัวใจหลักของร้านอาหาร ที่สิงคโปร์กุ๊กหนึ่งคนสามารถทำงานให้กับร้านอาหารเพียงหนึ่งที่เท่านั้น ไม่อนุญาตให้สับเปลี่ยนกุ๊กไปช่วยร้านสาขาอื่น ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายของสิงคโปร์ ทางที่ดีควรมีแผนเรื่องการจัดหากุ๊กสำรองไว้ด้วยในกรณีที่กุ๊กเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย ติดธุระ หรือลาออก

8. อาหาร และบริการต้องดีควบคู่กัน

เมนูอาหารไทยยอดฮิตที่คนสิงคโปร์นิยมทาน คือ ข้าวผัดประเภทต่างๆ ต้มยำ ผัดกระเพรา เป็นต้น แม้อาหารจะดีแต่ร้านอาหารจะแข่งกันที่รสชาติอย่างเดียวไม่ได้ การบริการก็ต้องดี ให้คนสิงคโปร์รู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายออกไป การบริการที่ประทับใจจะทำให้ลูกค้ากลับมาทานร้านอาหารของเราอีก

9. ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหารมากกว่าราคา

ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างสูง จึงทำให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารการกิน ผู้ประกอบการจะลดต้นทุนโดยการใช้วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพไม่ได้โดยเด็ดขาด ชาวสิงคโปร์อาจจะร้องเรียนหน่วยงาน NEA มาตรวจสอบร้านท่าน ผู้ประกอบการจึงต้องใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และสดใหม่ ร้านของท่านจะได้ผ่านตามมาตรฐานหน่วยงานอาหารของสิงคโปร์ ในเมื่อร้านอาหารไทย มีคุณภาพอาหารเท่ากัน อร่อยคล้ายๆ กัน และราคาใกล้เคียงกัน สิ่งที่จะมาสู้กันว่าร้านไหนไปรอดหรือไม่รอดก็คือ การตลาด การโปรโมทร้าน

10. สรรหาวัตถุดิบทดแทนเพื่อลดต้นทุน

คนสิงคโปร์นิยมอาหารไทยรสเผ็ดจัดจ้าน แต่การนำเข้าเครื่องปรุงโดยตรงจากประเทศไทยอาจทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น แม้การหาวัตถุดิบจะนำเข้าผ่านชายแดนไทย-มาเลเซียได้ มีนายหน้าขนส่งสินค้าให้ แต่หนึ่งในวิธีบริหารต้นทุนคือเลือกใช้วัตถุดิบในพื้นที่ที่สามารถทดแทนกันได้ แน่นอนว่ากุ๊กผู้ประกอบอาหารจะต้องมีความรู้ในส่วนนี้อย่างดีว่าใช้อะไรทดแทน แล้วจะไม่ทำให้คุณภาพอาหารลดลง

11. การตั้งชื่อร้านอาหารไทย

การตั้งชื่อร้านอาหารไทยก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น ร้าน Siam Kitchen ใช้ชื่อนี้ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พอเปลี่ยนชื่อเป็น Bangkok Jam ก็ขายดีขึ้น คนจำชื่อได้ และได้ไปเปิดที่มาเลเซียด้วย แต่ที่มาเลเซียต้องเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นอีก เพราะมีร้านที่ชื่อเหมือนกันอยู่ก่อนแล้ว

12. คนสิงคโปร์นิยมทานอาหารนอกบ้าน

คนสิงคโปร์นิยมทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากชีวิตประจำวันที่ค่อนข้างเร่งรีบ เวลาเป็นเงินเป็นทองทำให้มีข้อจำกัดเรื่องเวลา การทำอาหารทานเองที่บ้านจะต้องใช้เวลาในการเตรียมหาวัตถุดิบทำอาหาร และใช้เวลาทำอาหาร การไปทานข้างนอกจะลดเวลาได้มากกว่า อย่างเช่น วันธรรมดาในช่วงกลางวันลูกค้าจะน้อย แต่ตอนเย็นจะค่อนข้างมาก คนสิงคโปร์ชอบนัดกันทานอาหารเย็น บางร้านจึงมีเวลาปิดพักช่วงบ่าย ทำให้เวลาเงินเวลาทองมาเน้นกันในช่วงเย็นแทน

และในช่วงวันหยุดชาวสิงคโปร์นิยมพาครอบครัวออกไปทานอาหารนอกบ้าน เช่น ร้านอาหารที่ห้างสรรพสินค้า หรือตามภัตตาคารต่างๆ และชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะรู้จักอาหารไทย หรือผ่านการทานอาหารไทยมาบ้างแล้ว ทำให้การไปเปิดร้านอาหารไทยร้านใหม่ๆ ยังมีโอกาสเป็นไปได้

13. มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลสิงคโปร์

ตัวช่วยสำคัญของผู้ประกอบการคือการเรียนรู้มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีอยู่หลายโครงการเช่น PIC (Productivity and Innovation Credit) ที่อยู่ในรูปการให้เงินสนับสนุน หรือ SPRING Singapore ที่ให้เงินอุดหนุนแก่ธุรกิจมากถึง 70 % แต่ทั้งนี้ธุรกิจนั้นก็ต้องตรงตามกฏเกณฑ์ที่ทางหน่วยงานเขากำหนดไว้ด้วย

วิธีการเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์

1. สำหรับการเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ ผู้ประกอบจำเป็นต้องศึกษาประเภทกิจการ หรือธุรกิจที่สนใจ ทั้งจากเอกสาร การเดินทางไปสำรวจลู่ทางการลงทุนด้วยตนเอง รวมถึงรับคำแนะนำจากบริษัทที่ปรึกษา แล้วนำมาประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) และตัดสินใจว่าจะลงทุนเองทั้งหมด หรือลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น
2. ผู้ประกอบการที่จะเปิดร้านอาหารไทย จะต้องยื่นเอกสารเป็นรายงานข้อเสนอโครงการ (Proposal) เพื่อขออนุมัติดำเนินธุรกิจ และจดทะเบียนชื่อกิจการต่อ ACRA (Accounting and Corporate Regulatory Authority) ซึ่ง ACRA จะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติประมาณ 14-60 วัน โดยผู้ประกอบการจะจัดตั้งบริษัทสามารถมอบอำนาจให้สำนักงานทนายความในสิงคโปร์ เป็นตัวแทนในการจดทะเบียนบริษัท
3. เมื่อได้รับอนุมัติจดทะเบียนชื่อกิจการแล้ว ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทต่อ ACRA ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน
4. เมื่อ ACRA พิจารณาแบบคำขอจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว ACRA จะส่งแบบฟอร์มการยื่นขอจดทะเบียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– หน่วยงานแรกคือ กระทรวงการสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment) เพื่อขออนุญาตประกอบธุรกิจ
– หน่วยงานที่สองคือ กระทรวงแรงงาน (Ministry of Manpower) เพื่อขออนุญาตนำแรงงานไทยเข้ามาทำงานในสิงคโปร์
5. หากมีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าส่งออกจาก International Enterprise Singapore ด้วย
6. หลังจากได้รับอนุญาตจากหน่วยงานนั้นๆ เรียบร้อยแล้ว บริษัทจึงสามารถเปิดดำเนินกิจการได้

NEA หน่วยงานตรวจสอบร้านอาหารในสิงคโปร์

การดำเนินธุรกิจจำหน่ายอาหารในสิงคโปร์ ต้องเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดให้หน่วยงาน National Environment Agency (NEA) เป็นผู้ควบคุม สรุปได้ดังนี้

– ภัตตาคารและร้านอาหาร จะต้องส่งพนักงานทุกคนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปรุงอาหาร เข้ารับการฝึกอบรมด้านสุขอนามัย เมื่อเปิดร้านครั้งแรก โดยใช้เวลาฝึกอบรมครึ่งวัน นอกจากนี้ในทุกปีต้องส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของร้านจำนวน 2 คน เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลา 3 วัน
– NEA จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจร้านปีละ 2-3 ครั้ง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เพื่อตรวจสอบเรื่องความสะอาดเป็นสำคัญ
– หากมีการร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องอาหารไม่ถูกสุขอนามัย NEA จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจทันที หากผลการตรวจไม่ผ่านตามมาตรฐานสุขอนามัย NEA มีอำนาจสั่งปิดร้านชั่วคราว หรือเพิกถอนใบอนุญาตร้านอาหารได้

สรุป

จากที่คุณผู้อ่านได้อ่านมา ก็อาจจะคิดว่าการลงทุนทำร้านอาหารในสิงคโปร์ น่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ปัจจัยรอบด้านแตกต่างกับไทย หรือหากไม่มีประสบการณ์ทางร้านอาหารในไทยมาด้วย ก็ควรระมัดระวังเป็นอย่างมากในการประกอบธุรกิจ ทางที่ดีควรจ้างที่ปรึกษาธุรกิจทางด้านอาหารมาให้คำแนะนำในขั้นตอนต่างๆ ในการเปิดร้านอาหาร ซึ่งจะมีระเบียบขั้นตอนต่างๆ มากมาย สิ่งสำคัญคือการวางแผนทุกอย่างให้รัดกุม คิดทุกอย่างให้รอบด้าน มีที่ปรึกษามืออาชีพ

ตลาดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ยังเปิดกว้าง มีเม็ดเงินสะพัดในตลาดร้านอาหารไทยอย่างมากมาย นี่เป็นการบ้านของผู้ประกอบการว่าจะทำอย่างไร ถึงจะไปเจาะตลาดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ได้ ซึ่งเราจะต้องไปแข่งกับคนไทยด้วยกันเองอีก อย่างเช่น ร้าน Coca สุกี้ และร้าน Black Canyon และร้าน Thai Express

สุดท้ายนี้ก็ขอสรุปว่า หากคุณมีเงินทุนสูงพอ มีกุ๊กฝีมือดี บริหารจัดการเป็นระบบ สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่น่าลงทุน ถ้าเจาะตลาดได้ เม็ดเงินมากมายรอคุณอยู่ข้างหน้าครับ

error: Content is protected !!