น้อยหน่า (Sugar Apple, Custard Apple, Sreet Sop) เป็นพืชผลไม้จำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น น้อยแน่, มะนอแน่, หมักเขียบ น้อยหน่ามีถิ่นกำเนิดจากแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบได้ทั่วไปในเขตร้อนรวมถึงประเทศไทย โดยจะนิยมปลูกกันมากในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลของน้อยหน่าจะมีลักษณะดังนี้ เนื้อผลจะมีสีขาว ให้รสหวาน มีเมล็ดสีดำ ซึ่งส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาอาการต่าง ๆได้แก่ ผล ผลดิบ ผลแห้ง เมล็ด และใบ
น้อยหน่าในประเทศจะแบ่งออกเป็น 2 พันธุ์ใหญ่ ๆ ได้แก่ น้อยหน่าเนื้อและน้อยหน่าหนัง ซึ่งทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน ดังนี้
1.น้อยหน่าเนื้อ (น้อยหน่าฝ้าย) เปลือกภายนอกที่มีตารอบทั่วทั้งผลจะมีร่องลึกชัดเจน เป็นเนื้อทราย ไม่จับกันเป็นก้อน เละง่าย รสชาติหวานจัด กลิ่นหอมเด่น มีเมล็ดใหญ่
2.น้อยหน่าหนัง (น้อยหน่าญวน) พันธุ์นี้นำเข้ามาจากเวียดนาม เปลือกภายนอกมีตาแต่ไม่เป็นร่องชัด รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่หอมเท่าน้อยหน่าเนื้อ แต่หลายคนว่าน้อยหน่าหนังกินอร่อยเพราะเนื้อเหนียว เมื่อผลสุกสามารถลอกเปลือกออกได้ง่าย
วิธีการปลูกน้อยหน่า
น้อยหน่าเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนแห้งไม่หนาวจัด ชอบดินร่วนทราย หรือดินร่วนเหนียว มีการระบายน้ำดีไม่มีน้ำท่วมขังและมีแสงแดดจัดส่องได้ทั่วถึง แต่ไม่ชอบที่ชื้นและน้ำขังแฉะ สามารถปลูกได้ตั้งแต่บนที่ราบจนไปถึงที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000 เมตร นอกจากนี้ยังต้องมีระยะแล้งในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม เพื่อให้น้อยหน่ามีการผลัดใบและเริ่มแตกใบใหม่ ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน
การขยายพันธุ์ น้อยหน่าสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น ตอนกิ่ง เพาะเมล็ด เป็นต้น แต่ในปัจจุบันจะนิยมวิธีเพาะเมล็ดเนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลผลิตไวและมีรากแก้วซึ่งจะทำให้พืชแข็งแรง (ในที่นี้จะขอแนะนำการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ด)
วิธีเพาะเมล็ด เมื่อได้เมล็ดมาให้ทำการล้างให้สะอาด หลังจากนั้นนำไปแช่น้ำ 1 คืน แล้วจึงแช่น้ำอุ่นต่ออีกประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นการงอก จากนั้นจึงทำเมล็ดไปเพาะในกระบะที่เตรียมดินไว้แล้ว ดินที่ใช้เพาะควรใช้ทรายกับขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 กลบดินให้พอมิด แล้วจึงดูแลรดน้ำให้ดินชื้นอยู่ตลอดเวลาแต่อย่าให้แฉะ เมื่ออายุได้ประมาณ 10 – 15 วันเมล็ดจะเริ่มงอกและแข็งแรงพอที่จะย้ายไปอยู่ในถุงเพาะชำได้แล้ว
การย้ายลงถุงเพาะชำ เตรียมดินโดยใช้ดินดำ แกลบดำและปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ในอัตรา 1 ต่อ 1 ต่อ 1 จากนั้นจึงย้ายต้นอ่อนลงไปปลูกรดน้ำให้พอชื้นทุกวัน เมื่อน้อยหน่าเริ่มแตกใบแท้หรืออายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ก็จะสามารถนำไปปลูกลงแปลงดินได้
การปลูกน้อยหน่า ควรยกร่องดินเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้อยหน่าไม่ชอบน้ำท่วมขัง ขุดหลุมปลูกโดยใช้ระยะห่างระว่างต้นและแถว โดยประมาณตั้งแต่ 2 x 2 เมตร จนถึง 4 x 4 เมตร ระดับความลึกของหลุมปลูกประมาณกว้าง 1 ศอก ลึก 1 ศอก ในแต่ละหลุมให้เติมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุมก่อน แล้วจึงนำต้นกล้าน้อยหน่าลงปลูก หลังจากนั้นจึงกลบดินให้แน่นและควรนำฟางข้าวหรือหญ้าแห้งมะคลุมดินบริเวณโคนต้นด้วย เพื่อเป็นการรักษาความชื้นในดิน นอกจากนี้ในระยะแรกควรปักไม้หลักยึดกับต้นน้อยหน่าเพื่อป้องกันลมพัดและควรมีการทำที่พลางแสงให้กับต้นน้อยหน่าด้วย
การให้น้ำ
ควรรักษาความชื้นในดินให้อยู่ระหว่าง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้อัตราการผสมเกสรติดผลสูงขึ้น ทำให้ผลเจริญเติบโตดีและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าปกติ ในช่วงฤดูฝนควรงดการให้น้ำ
การให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ยควรใช้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ร่วมกัน ระยะการใส่ปุ๋ยเป็น 3 ช่วง ทุกๆ 2-3 เดือน ระยะแรกให้เติมปุ๋ยสูตร 15-15-15 ก่อน ระยะที่ 2 ควรเติมปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 พอถึงระยะที่ 3 ก็ให้เติมปุ๋ยสูตร 8-24-24 และเพื่อความสมบูรณ์ของต้นน้อยหน่า ควรเติมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยขี้ไก่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การดูแลรักษา
เนื่องจากน้อยหน่าจะออกดอกมากเมื่อมีการตัดแต่งกิ่งและแตกยอดใหม่เท่านั้น (ออกดอกเฉพาะกิ่งที่แตกใบใหม่เท่านั้น) ดังนั้นเพื่อให้มีผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ควรเริ่มดูแลตัดแต่งสวนเมื่อต้นน้อยหน่ามีอายุ 18 – 24 เดือน โดยเลือกกิ่งสมบูรณ์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร เอาไว้ จากนั้นให้ตัดแต่งกิ่งจากกิ่งง่ามออกประมาณ 20เซนติเมตร ส่วนกิ่งฝอยและกิ่งกระโดงตัดออกให้หมดรวมทั้งใบด้วย ให้เหลือแต่ต้นตอ ปกติเมื่อต้นน้อยหน่ามีอายุประมาณ 8 – 10 ปี ผลผลิตมักจะได้น้อยให้ทำการโค่นทิ้งแล้วปลูกใหม่
ในช่วงที่น้อยหน่าเป็นดอกนั้นควรมีการช่วยผสมเกสรด้วย เพราะขนาดของผล จำนวนผล และคุณภาพของผลจะดีกว่าปล่อยให้ผสมตามธรรมชาติ และควรมีการปลิดผลอ่อนให้เหลือผลที่สมบูรณ์ สำหรับน้อยหน่า 2 ผลต่อกิ่ง และน้อยหน่าลูกผสม 1 ผลต่อกิ่ง แล้วห่อผลก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 1 เดือนเพื่อป้องกันแมลงวันทอง
ศัตรู โรคและการป้องกันกำจัด
1.แมลงวันทอง ป้องกันด้วยการห่อผลในระยะที่ต้นน้อยหน่าเริ่มติดผลแล้ว 3 เดือน ซึ่งมีผลขนาดเท่ากำปั้น นอกจากนี้ ผลดีของการห่อผลก็คือ จะช่วยทำให้ผลของน้อยหน่ามีขนาดใหญ่ขึ้น 20-30% และทำให้ผลน้อยหน่ามีสีสวย ซึ่งจะเป็นสีออกเหลืองอมชมพู นอกจากนี้ต้องหมั่นทำความสะอาดสวนอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้มีกิ่งไม้หรือใบไม้ร่วงทับถมอยู่ในสวน
2.เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะกิ่ง ด้วงกินใบหรือแมลงค่อมทอง ด้วงทำลายดอก หนอนผีเสื้อเจาะ แก้ไขด้วยการใช้เชื้อราบิวเวอเรียฉีดพ่นทุก ๆ 15 วัน หรืออาจใช้สลับกับน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง ทุกๆ 3 – 7 วัน
3. โรคแอนแทรคโนส รักษาด้วยการฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดราหรือเชื้อราไตรโคเดอร์มา ร่วมกับการตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ลมและแสงแดดส่องได้ทั่วถึง
ต้นน้อยหน่ามีข้อดีคือต้องการน้ำน้อย จึงเหมาะสำหรับผู้ผลูกหรือเกษตรกรที่ระบบชลประทานน้ำยังเข้าไม่ถึง หรือเป็นพื้นที่แห้งแล้งและมีปริมาณน้ำฝนน้อย