วิธีทำธุรกิจสบู่สมุนไพรให้ประสบความสำเร็จ

สวัสดีครับ สำหรับบทความนี้ ผมมีธุรกิจแนวสร้างสรรค์ สำหรับคนชอบคิด ชอบทำ มาแนะนำกันอีกแล้วนะครับ โดยวันนี้ขอเสนอการทำสบู่สมุนไพรแฮนด์เมดผลิตจากสมุนไพรธรรมชาติครับ เมืองไทยเราได้ขึ้นชื่อว่ามีพืชพรรณธรรมชาติ ที่มีสรรพคุณในการบำรุงรักษาผิวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ขมิ้น มะพร้าว มะขาม มะละกอ แครอท หรืออาจจะลองผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง อย่างเช่น มะนาว หรือมะเขือเทศดูบ้าง ก็น่าสนใจนะครับ

สำหรับรูปแบบของการขาย ถ้าอยากจะเน้นตัวสินค้ากันไปเลย ก็ไม่ต้องเสียเวลาทำแพคเก็จจิ้งกันให้ยุ่งยาก และสิ้นเปลื้อง แถมยังทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นอีกด้วย เน้นขายสบู่กันแบบเพียวๆ ไปเลยดีกว่า โดยอาจตัดเอาไว้เป็นก้อนวางเรียงราย ให้ลูกค้าเลือกหยิบได้อย่างหลากหลายตามใจชอบ แล้วขายแบบชั่งน้ำหนักเป็นขีด หรือเป็นกิโลเอาแทนครับ เป็นไอเดียแปลกอีกแนว ที่น่าลองเลยทีเดียวนะครับ

โดยจุดขายที่ขอนำเสนอ จะเป็นการใช้สบู่ที่ทำจากสมุนไพร ไม่มีสารเคมีเจือปน ซึ่งสบู่แต่ละก้อนจะทำจากส่วนผสมที่ไม่เหมือนกัน ก็จะเหมาะสมกับสภาพผิวที่แตกต่างกันไปเลยครับ เช่น ผิวแห้ง ผิวมัน หรือผิวแพ้ง่าย เป็นคุณสมบัติอีกอย่างที่แตกต่างจากสบู่ทั่วไป ทั้งยังให้ความสดชื่นแบบเป็นธรรมชาติมากกว่าอีกด้วย

สำหรับการขายสบู่สมุนไพร ก็เป็นชนิดสบู่ที่กำลังมาแรงในปัจจุบันนะครับ แต่ด้วยความที่อาจจะมีคู่แข่งเยอะ เจ้าใหญ่ครองตลาดอยู่ แล้วเรามาใหม่อยากแจ้งเกิด หรืออยากมีพื้นที่ในตลาดนี้ เราจะทำอย่างไร ผมก็ได้รวบรวมแนวคิด วิธีการในการที่จะไปยืนในตลาดนี้จนถึงความประสบความสำเร็จนะครับ

แนวคิดและวิธีการสร้างแบรนด์สบู่สมุนไพร

– กำหนดชื่อแบรนด์ให้ชัดเจน ชื่อที่สื่อถึงผิวพรรณ หรือชื่อไทยๆ เอาชื่อจำง่ายๆ เรียกง่ายๆ ให้ติดหู
– จ้างออกแบบ Logo ออกแบบฉลาก ทำออกมาเป็นแบบสติ๊กเกอร์ แล้วนำไปติดบนสินค้า
– บรรยายสรรพคุณของสบู่แต่ละแบบอย่างชัดเจน แต่ไม่อวดสรรพคุณมากจนเกินพอดี ที่สำคัญต้องผ่าน อ.ย. ด้วย
– เรื่อง Packaging กำลังผลิตยังน้อย หาพลาสติกใส มาห่อให้ดูดี หรือจะซื้อกล่องพลาสติกใสมาใส่ก็ได้ (มีขายที่ 7-11 ที่สาขาใหญ่หน่อยจะมีหลายยี่ห้อเลยครับ) และยังช่วยรักษากลิ่นให้คงทนด้วย
– การออกแบบฉลากสติ๊กเกอร์สินค้า ต้องเน้นสีสรร ลูกเล่นด้วยนะครับ เช่น ตัวหนังสือสีทอง ตัวหนังสือนูนมันหรือด้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
– ปรับรูปลักษณ์สินค้า ใส่รูปให้ชัดเจน หรือออกแบบกล่องหรือห่อบรรจุ ให้เหมาะกับตลาดที่จะขาย เช่น อาจจะใส่ความเป็นไทยเพื่อส่งออก
– ลองทำสินค้าตัวอย่างหลาย ๆ แบบ
– ทำเว็บไซต์ หรือทำ fanpage ให้ลูกค้าสามารถติดตามได้ ทำอันดับเว็บไซต์ให้ติดหน้าแรกของคำว่า สบู่สมุนไพร
– รายละเอียดการติดต่อชัดเจน
– ออกงานบ่อย ๆ สร้างแบรนด์ให้ติดปากติดหู
– คนซื้อส่วนใหญ่จะดูที่ความหอมของสบู่ ดังนั้นความหอมต้องไม่เป็นรองใคร ยิ่งหากลิ่นใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากตามท้องตลาดได้ยิ่งดี
– มาตรฐานในเรื่องความสะอาดของสบู่ของต้องมี อาจจะนำไปทดสอบกับคนที่มีกลิ่นตัวแรงว่าเค้าใช้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง ได้ผลมั้ย
– สำหรับคนที่กลิ่นตัวปกติ ถ้ายิ่งหอมติดตัวนาน คนจะซื้อบ่อย
– สบู่สมุนไพรบางชนิดที่ใช้แล้วผิวจะดีขึ้น ต้องมีรูป before และ after ของผู้ใช้มาประกอบจะทำให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลประกอบการซื้อ
– เรื่องราคา ต่อให้หอมและดีแค่ไหน ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้เกินก้อนละ 30 บาท
– ถ้าหากอยากให้สบู่สมุนไพรขายดีมากยิ่งขึ้น ราคาขายควรจะอยู่ที่ก้อนละ 15 บาท และถ้ามีปริมาณมากกว่าเจ้าอื่นจะช่วยในการตัดสินซื้อของผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง
– จ้างดาราช่วยโปรโมทสบู่ของเรา ซึ่งอาจจะใช้เงินทุนมาก แต่ถ้าเงินทุนมีเหลือน่าจะลองดูสักครั้ง
– เมื่อตีตลาดได้แล้ว ให้ขยายสาขาออก หรือส่งสินค้าออกไปขายที่ต่างประเทศ เพื่อผลประกอบการที่มากขึ้น

ส่วนผสมและวิธีทำสบู่สมุนไพร

ส่วนผสมสบู่สมุนไพร

– ส่วนผสมสบู่สมุนไพรอย่างแรกเลย คือ การหาไขมันมาทำสบู่ ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา น้ำมันดอกทานทานตะวัน หรือถ้าจะทำแบบพรีเมี่ยมไปเลย ก็ใช้น้ำมันมะกอกครับ ทั้งนี้อาจจะใส่น้ำนมวัว หรือน้ำนมแพะ เพื่อเพิ่มคุณภาพของสบู่ขึ้นอีกด้วยก็ได้
– โดยน้ำมันแต่ละชนิดจะมีค่าการชะล้าง และการให้ฟอง ไม่เหมือนกัน จึงเหมาะสมกับสภาพผิวที่แตกต่างกันไปครับ เช่นน้ำมันมะพร้าวค่าการชะล้างสูงจึงไม่เหมาะกับผิวแห้ง ส่วนน้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันถั่วเหลืองจะมีค่าการชะล้างปานกลาง และมีวิตามินอีสูงครับ แต่อายุการใช้งานจะสั้นกว่า
– ด่าง หรือโซดาไฟเพื่อใช้ทำปฏิกิริยากับไขมันให้เกิดเป็นก้อนสบู่
– น้ำเปล่า
– สมุนไพรซึ่งมีทั้งแบบผง แบบคั้นนำ หรือแบบสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ก็สามารถใช้ได้หมด

วิธีทำสบู่สมุนไพร

– ค่อยๆ เทโซดาไฟผสมกับน้ำให้เข้ากัน แล้วตั้งทิ้งไว้
– ตุ๋นน้ำมัน หรือไขมัน โดยใช้วิธีนำหม้อใส่น้ำมัน แช่ในหม้อน้ำที่ตั้งไฟเอาไว้ทีอีกหนึ่ง แทนการเอาหม้อน้ำมันตั้งโดนไฟตรงๆ เพราะจะเกิดความร้อนมากเกินไปครับ
– รอให้ของเหลวที่ได้จากสองข้อแรกอุณหภูมิลดลงจนเหลือ 40 องศา จึงค่อยผสมเข้าด้วยกัน คนกันจนได้ที่ แล้วใส่สมุนไพรที่เตรียมไว้ หากจะใส่น้ำหอมก็สามารถใส่ได้ตอนนี้เลย เสร็จแล้วก็เทใส่แม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ครับ
– รอประมาณสามอาทิตย์ ก็ถือว่าเสร็จสิ้นการทำสบู่สมุนไพร สามารถนำออกจากพิมพ์ แล้ววัดค่าความเป็นกรดเบสให้เหมาะสมที่ประมาณ 8-9 จึงจัดว่าใช้ได้ครับ

การขายสบู่สมุนไพรถือได้ว่าเป็นไอเดียน่าสนุก น่าลองทำทีเดียวนะครับ การขายก็อาจจะเปิดร้านตกแต่งแนวธรรมชาติ แบบดูอบอุ่น น่ารักๆ หรือเลือกขายออนไลน์ทาง Fanpage หรือเว็บไซต์เอาก็ได้เช่นกันครับ

สุดท้ายผมขอมอบสโลแกนสบู่สมุนไพรไว้นะครับ

“หอมนาน ปริมาณเยอะ ราคาถูก สะอาดจริง”

ขอให้ขายสบู่สมุนไพรขายดีเป็นเทน้ำเทท่ากันทุกท่านครับ

error: Content is protected !!