ข้อดี และข้อเสียของการเปลี่ยนงานบ่อย

ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิธีการเป็นคนรวยมาหลายบทความแล้ว วันนี้ก็ขอเขียนเรื่องราวสำหรับคนทำงานบ้าง ในเรื่องการเปลี่ยนงานบ่อยช่วยเพิ่มเงินเดือนหรือไม่

ซึ่งหลายคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนก็คงจะคิดวิธีต่างๆ ที่จะให้ตัวเองได้รับเงินเดือนมากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่แน่นอนไม่มีสูตรใดที่ตายตัวว่าถ้าทำอย่างนี้ หรืออย่างนั้นจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ การเปลี่ยนงานบ่อยๆ เป็นอีกทางหนึ่งที่ใครๆ หลายคนบอกว่าน่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนเช่นกัน การเปลี่ยนงานบ่อย ถ้าในทัศนะการมองของฝ่ายบุคคลนั้นมีทั้งมองในแง่ที่ดีและไม่ดีซึ่งอยู่ที่การสัมภาษณ์ของพนักงานเอง เพราะส่วนใหญ่การถามของฝ่ายบุคคลจะเน้นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานมากกว่าก็จริง แต่ถ้ามีประวัติการย้ายงานบ่อยๆ และอยู่กับบริษัทหนึ่งไม่นานมากนักและลาออกไปอาจจะอยู่แค่ 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็อาจจะมองว่าเป็นคนที่ไม่แน่นอนในการทำงาน ไม่เคารพบริษัทเก่า หรืออาจมีปัญหาอื่นๆ ในทางที่ไม่ดี และเมื่อเข้ามาทำงานที่นี้ ก็อาจจะอยู่ได้ไม่นาน หรือสร้างปัญหาให้กับองค์กรได้เช่นกัน

ซึ่งอาจทำให้ถูกปฏิเสธจากการรับเข้าทำงาน นี่คือแง่ไม่ดีที่ฝ่ายบุคคลจะมองคนที่เปลี่ยนงานบ่อยๆ ส่วนในแง่ที่ดีนั้น ฝ่ายบุคคลก็อาจจะมองในส่วนของความสามารถเป็นหลัก และประสบการณ์การทำงานที่ทำมาหลายบริษัทก็จะเป็นสึ่งที่มองว่ามีความกระตือรือต้นในการทำงาน เพื่อความก้าวหน้าของตนเอง ซึ่งจะได้ส่วนของความตั้งใจเช่นกัน แต่การเปลี่ยนที่ทำงานนั้นส่วนใหญ่ก็ต้องการที่จะออกไปเพื่อได้รับเงินเดือนที่มากกว่า หรือต้องการที่ทำงานใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ แต่ก็มีบางคนที่ยอมที่เงินเดือนน้อยกว่าที่เก่า อาจจะเป็นเหตุผลอื่นๆ ในการทำงานเช่นกัน เช่นทำงานแล้วไม่มีความสุข ไม่มีสวัสดิการที่ดีพอ งานหนักเกินไปไม่มีเวลาให้ครอบครัว เป็นต้น ซึ่งผมก็จะขอแนะนำถึงข้อดีและข้อเสียในการเปลี่ยนงานให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาดูนะครับ

ข้อดีของการเปลี่ยนงานบ่อย

– เงินเดือนได้เพิ่มเยอะขึ้น ในเเต่ละครั้งที่ย้านงาน ลองเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ที่เริ่มทำงานพร้อมกัน เเต่ไม่ได้ย้ายงานเลย เงินเดือนเเทบบไม่ค่อยขยับเลย ทั้งๆ ที่เขาก็เก่งกว่าด้วยซ้ำ
– ตำเเหน่งงานที่ก้าวหน้าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ
– ได้เรียนรู้ระบบงานที่หลากหลายตามระบบบริษัทต่างๆที่เคยทำงานมา
เงินเดือนเพิ่มไว ในกรณีที่บริษัทใหญ่กว่า แต่ใช้วิธีการทำงานแบบเดิม บางคนสามารถเพิ่มเงินเดือนได้ถึงสองเท่าตัว
– ทำให้เราได้เจอคนมากขึ้น เจอคนทุกรูปแบบ ทั้งดี และไม่ดี ทำให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น (เหมาะสำหรับนักศึกษาฝึกงาน หรือคนที่เพิ่งจบใหม่ๆ)
– ได้เรียนรู้การทำงานจากหลายๆ องค์กร ถึงข้อดี และข้อผิดพลาดต่างๆ ซึ่งข้อดีต่างๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับที่ใหม่ๆ ได้

ข้อเสียของการเปลี่ยนงานบ่อย

– ทำให้คุณไม่มีประสบการณ์ที่ต่อเนื่อง เหมือนกับว่ารู้หลายอย่างจากที่ทำงานหลายที่ แต่ก็ยังไม่ลึกซึ้งกับอะไรสักอย่าง
– ทุกๆ ครั้งที่ย้ายที่ทำงาน คุณก็ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ และพอคุณจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง คุณก็พบว่างานที่คุณทำอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่คุณยังไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน
– การเปลี่ยนงานบ่อยก็ไม่ค่อยดี ตำแหน่งหน้าที่จะไม่มั่นคงก้าวหน้าเสียที แต่ถ้ามีทางเลือกงานใหม่ที่พิจารณาดีแล้วว่า เป็นงานที่ดีกว่า อนาคตดีกว่า ก็ต้องลองเปลี่ยนครับ
– แต่ต้องดูดีๆ นะครับว่าการเปลี่ยนงาน การเริ่มต้นใหม่ มันดีกว่างานเก่าของเราหรือเปล่า บางที่ไปแล้วก็ไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่โอกาส ความก้าวหน้า เงิน เพื่อนร่วมงาน และความสบายใจในการทำงาน
– การเปลี่ยนงาน ต้องไปเริ่มต้นใหม่ กว่าจะเข้าตาเจ้านาย ก็ใช้เวลา ทำให้เจริญก้าวหน้าช้ากว่าเพื่อนๆ
– การเปลี่ยนงานบ่อยๆ ส่งผลเสียมากกว่าผลดี เมื่อนายจ้างเห็นประวัติการทำงานของคุณในแต่ละที่เป็นแค่ช่วงเวลาสั้น มันเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างที่ไม่ค่อยดีนักให้แก่นายจ้าง ทำให้เขาไม่มั่นใจว่าคุณจะอยู่กับเขาได้นาน หรือทุ่มเททำงานให้เขาอย่างเต็มที่หรือไม่

สรุป

โดยทั่วไปแล้วการทำงานในแต่ละที่ควรใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งปีแรกสำหรับการเรียนรู้งานในส่วนต่างๆ ปีที่สองสำหรับการทำประโยชน์และสร้างผลงานให้กับองค์กร ดังนั้นกว่าที่คุณจะมีผลงานต่างๆ อาจจะต้องใช้เวลาสะสมชั่วโมงบินถึง 2 ปีด้วยกัน หากคุณเปลี่ยนงานก่อนหน้านั้น ก็เท่ากับว่าคุณยังไม่ทันได้สร้างผลงานให้เกิดขึ้นสักเท่าไหร่ แล้วคุณจะเอาประสบการณ์ตรงไหนมาใช้เพื่อเพิ่มเงินเดือนอย่างที่คุณอยากได้หล่ะครับ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เปลี่ยนงานบ่อย ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่ง คุณอาจจะยังหาตัวเองไม่เจอ หรือไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยู่กับงานไหนแล้วมีความสุขมากที่สุด หรืออยู่กับงานไหนสามารถทำได้นานที่สุด อาจจะเริ่มจากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็ได้ ดูว่าเราสนใจในเรื่องใด มีเรื่องให้เราศึกษาเพิ่มเติมได้มากแค่ไหน มีงานที่รองรับในเรื่องราวที่เราสนใจหรือเปล่า หลังจากนั้นก็สอบถามจากเพื่อนที่รู้จักกับคนที่ทำงานในสายงานที่คุณสนใจ เพื่อที่จะพูดคุย ซักถามข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของคุณ เช่น ความคาดหวังขององค์กร สไตล์การทำงาน และบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งที่คุณสนใจ ซึ่งคุณอาจจะไม่ได้ข้อมูลทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็จะทำให้คุณได้ไอเดียบางอย่าง เมื่อคุณมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น โอกาสที่จะเปลี่ยนงานบ่อยๆ จะน้อยลง

ดังนั้นการเพิ่มเงินเดือนตนเองที่น่าจะได้ผลที่ดีที่สุดก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น สร้างผลงานให้เป็นที่ประทับใจ หรือสร้างความสามารถพิเศษของตนเองขึ้นมา เช่น การเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม การศึกษาต่อปริญญาโท หรือการสอบเพื่อให้ได้ประกาศต่างๆ ที่เป็นเครื่องการันตียืนยันถึงความสามารถในสายงานของตนเองที่ทำงานอยู่น่าจะส่งผลที่แน่นอนกว่าการเปลี่ยนงานบ่อยเพื่อเพิ่มเงินเดือน

error: Content is protected !!