ตัวอย่างการคำนวณหาจุดคุ้มทุนวิเคราะห์ไม่ยาก

ซึ่งเมื่อเพื่อนๆ ได้เริ่มทำธุรกิจกัน จะมีอยู่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในธุรกิจซึ่งก็คือ ผลกำไร ถ้าทำธุรกิจแล้วไม่มีผลกำไร แล้วเป็นการทำที่เปล่าประโยชน์ใช่มั้ยครับ แต่ปัญหาก็คือ เมื่อเวลาเราทำธุรกิจใหม่ๆ หรือเป็นนักธุรกิจหน้าใหม่นั้น ประสบการณ์ยังมีไม่มากเท่าไหร่ มักจะคาดคะเนได้ยากว่าธุรกิจที่เรากำลังทำจะคุ้มหรือไม่ และจะมีโอกาสคืนทุนเมื่อไหร่ ในช่วงแรกอาจจะกังวลเช่นในทำนองนี้นะครับ ถึงแม้เราจะคำนวณไม่เก่ง แต่การได้ลองคำนวณตัวเลขทางธุรกิจออกมา จะทำให้เรารู้สึกใจชื้นขึ้นเยอะว่าถ้าเราทำตามแผนที่ได้วางมา แล้วธุรกิจไม่สะดุด เราจะได้คืนทุนเท่าไหร่

ส่วนใหญ่คนทั่วๆ ไปจะเรียกว่าการคืนทุน แต่ในภาษาทางธุรกิจแล้วจะเรียกว่า จุดคุ้มทุน (Break even point) หลายๆ ท่านก็อาจจะเคยสงสัยกับเรื่องการคำนวณหาจุดคุ้มทุน ว่ามันคืออะไร เป็นหลักการทฤษฎีหรือเปล่า เข้าใจได้ได้ยากหรือเปล่า ซึ่งถ้าคุณคือนักธุรกิจหน้าใหม่ คุณจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องจุดคุ้มทุนเอาไว้ ซึ่งถ้าเอากันตามแบบวิชาธุรกิจจริงๆ จะมีกราฟ หรือมีตารางต่างๆ ถ้าใครเรียนเลขแล้วตกเลขทุกเทอม หรือใครที่คำนวณไม่เก่ง ก็อาจะถอดใจกันไปก่อน อาจจะทำให้ข้ามการศึกษาเรื่องจุดคุ้มทุนไป ซึ่งความจริงแล้วเรื่องจุดคุ้มทุนมันไม่ยากเลยครับ ผมจะอธิบายให้ง่ายที่สุดนะครับ เอาหล่ะครับมาเริ่มกันเลย

จุดคุ้มทุน

จุดคุ้มทุน คือ การคำนวณรายได้จากการขายสินค้า และต้นทุนในระดับต่างๆ หรือมีความหมายถึง จุดหรือระดับของรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ ที่เท่ากับต้นทุนที่ธุรกิจได้จ่ายออกไป หรือจุดหรือระดับของรายได้ที่ธุรกิจเท่าทุน โดยส่วนที่เลยจุดหรือระดับของรายได้ดังกล่าวคือผลกำไรของธุรกิจ

ซึ่งผมเขียนแบบนี้อาจจะยังงงๆ อยู่ (ซึ่งจริงๆ ตามทฤษฎีที่เรียนกันในห้องเรียนจะมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก อาจจะยากกว่านี้นะครับ) ผมจะขอยกตัวอย่างการคำนวณหาจุดคุ้มทุนให้เห็นภาพดังนี้ครับ

ตัวอย่างการคำนวณหาจุดคุ้มทุน

นายเอ (อะไรก็นายเอ) ทำธุรกิจเปิดร้านขายหนังสือ โดยไปหาทำเลดี ๆ ได้ที่บริเวณตลาดที่มีคนพลุกพล่าน เขาได้ลงทุนค่าตกแต่งร้านไปเป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท ซึ่งแต่ละเดือนนายเอก็จะต้องชำระค่าน้ำค่าไฟเป็นจำนวนเงินอีก 10,000 บาท และค่าซ่อมแซมบวกับค่าบำรุงรักษาร้านให้สวยงามเจริญตาอีกเดือนละ 5,000 บาท สรุปต้องจ่ายทุกเดือนเดือนละ 15,000 บาท

ผมสมมตินะครับว่า เดือนแรกร้านนายเอยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก เพิ่งเปิดใหม่ ขายได้ 30,000 บาท เดือนที่สองเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นขายได้ 40,000 บาท และเดือนที่สามคนรู้จักมากขึ้น คนซื้อมาซื้อกันจากปากต่อปาก ขายได้ 50,000 บาท และเดือนต่อๆ ไป หลังจากนี้ก็ขายได้ในอัตรารายได้ที่คงที่

เอาหล่ะเรามาเริ่มคำนวณแบบเป็นวิชาการกัน คนไม่เก่งเลขก็คำนวณได้นะครับ จุดคุ้มทุนในทางทฤษฎีเป็นสิ่งที่ไม่ยากนะครับ จะยากตอนควบคุมเรื่องทุนต่างๆ ในชีวิตจริงครับ

ในเดือนแรกนายเอใช้ต้นทุนในการเปิดร้านไปทั้งหมด 215,000 บาท พอถึงเดือนที่สองต้นทุนก็เป็น 230,000 บาท พอถึงเดือนที่สามต้นทุนก็เป็น 245,000 บาท เรื่อยไปจนถึงเดือนที่เจ็ดต้นทุนก็เป็น 305,000 บาท

มาดูในส่วนของรายรับกันบ้างเดือนแรกขายได้ 30,000 บาท ต่อมายอดรวมเดือนที่สองรวมกับเดือนแรกเป็น 70,000 บาท เดือนที่สามรวมกันเป็น 120,000 บาท พอทบรวมไปถึงเดือนที่เจ็ดรายรับก็จะอยู่ที่ 320,000 บาท

เมื่อเราเห็นตรงกันดังนี้แล้ว จุดคุ้มทุนก็จะอยู่ที่เดือนที่เจ็ด เดือนที่เจ็ดจะเป็นเดือนที่เราสามารถจับต้องผลกำไรได้บ้างแล้ว ผ่านจากตรงนี้ไปก็เริ่มขยับตัวได้สบายแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนี่เป็นการคำนวณหาจุดคุ้มทุนแบบคร่าว ๆ พอกระชับได้ใจความให้เห็นภาพ ซึ่งในการทำธุรกิจจริงๆ เราอาจจะมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพิ่มเข้ามาด้วย เช่น การซื้อสินค้าอื่นๆ เพิ่ม ซึ่งเราจะต้องนำค่าใช้จ่ายตรงนี้มารวมในการคำนวณจุดคุ้มทุนด้วย

สรุปเรื่องจุดคุ้มทุน

ซึ่งในหลักการธุรกิจ ธุรกิจจะรอดหรือไม่รอดก็มีจุดคุ้มทุนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนี่แหล่ะครับ ถ้าผ่านจุดคุ้มทุนไปไม่ได้ คือทำเท่าไหร่ก็ไม่คุ้มทุนสักที นั่นเป็นสัญญาณส่อแววที่ไม่ดีแล้วนะครับ ทางที่ดีพยายามหาไอเดีย หรือวิธีการขายเข้ามาช่วยให้ผ่านจุดคุ้มทุนไปให้ได้ตามเวลาที่เรากำหนดไว้นะครับ

ซึ่งเราจะต้องมีวินัยทางการเงินอย่างมากทีเดียว ถ้าธุรกิจยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน คุณต้องถือเงินที่ได้มานั้นไว้ก่อน ไม่นำไปใช้จ่ายในทางอื่น ให้แยกเงินกันไว้เลยว่าเงินธุรกิจส่วนเงินธุรกิจ เงินให้ครอบครัวก็เป็นส่วนเงินให้ครอบครัว จะไม่นำมาใช้ปะปนกัน เมื่อใดที่ธุรกิจของคุณผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว นั่นแหล่ะให้นำกำไรที่ได้ไปใช้จ่ายในทางอื่นได้ ส่วนเงินต้นทุนธุรกิจ ผมแนะนำให้คุณเก็บเอาไว้ก่อนอย่าเพิ่งนำไปใช้ใดๆ ที่เป็นการใช้แล้วหมดไป เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่าวันข้างหน้าธุรกิจของคุณจะไม่ล้ม ความจริงคือความจริง ถ้าธุรกิจคุณรุ่งนั่นคือสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ถ้าธุรกิจของคุณร่วง แล้วคุณไม่มีเงินทุนก้อนแรกนั้นไว้ติดตัวเลย ทีนี้คุณจะทำอย่างไร แน่นอนอาจจะต้องไปยืมเงินเพื่อนฝูง หรือญาติพี่น้องมา ซึ่งมันจะทำให้คุณติดลบไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นถ้าธุรกิจยังไม่จุดคุ้มทุน อย่าเพิ่งนำเงินไปใช้โดยไม่จำเป็นโดยเด็ดขาด

เมื่อเราทราบรายละเอียดวิธีการคำนวณจุดคุ้มทุนแล้ว เราจะประเมินธุรกิจของเรา หรือประเมินความน่าลงทุนในธุรกิจต่างๆ ได้ ว่าธุรกิจนั้นเราจะต้องขายสินค้ามากแค่ไหนจึงจะถึงจุดคุ้มทุน

ผมก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านมอง mind map เกี่ยวกับการคำนวณจุดคุ้มทุนได้มากขึ้นนะครับ

error: Content is protected !!