วิธีการขายภาพถ่ายให้ประสบความสำเร็จ

การขายภาพถ่าย

 

ในสมัยก่อนการถ่ายภาพออกจะเป็นเรื่องยุ่งยาก ค่ากล้องไม่แพงมาก มีตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักพัน ถ้าพูดถึงหลักพันนี่ก็ถือเป็นกล้องโปรแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะหมดไปกับค่าฟิล์ม ค่าอัด ซึ่งสิ้นเปลืองพอสมควร และพอเห็นรูปก็อาจเซ็งได้ เพราะอาจไม่ดีอย่างที่หวังเอาไว้ จะแก้ไขอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่ได้

มาสมัยนี้ยุคดิจิตอล กล้องราคาแพงขึ้น ราคากล้องดิจิตอลมีราคาตั้งแต่พันกว่าบาทไปจนถึงหลักหมื่นหลักแสน แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดลงไปมาก อย่างค่าฟิล์มก็ไม่ต้องเสีย ค่าอัดรูปเดี๋ยวนี้บางร้านไม่ถึง 2 บาทด้วยซ้ำ ดังนั้นการลงทุนส่วนใหญ่จึงหมดไปกับกล้องและเลนส์เป็นหลัก จะสังเกตเห็นว่าเวลาไปเที่ยวกันเป็นกลุ่ม สมัยก่อนอาจมีคนถือกล้องไปถ่ายสัก 1 – 2 คน ดีไม่ดีกล้องอาจยืมเพื่อนไปด้วยซ้ำ แต่สมัยนี้คนที่ไปเที่ยวมักมีกล้องติดมือไปด้วยทุกคน

จึงพอสรุปได้ว่ามีคนสนใจในการถ่ายภาพมากขึ้น และเมื่อเราลงทุนซื้อกล้องกันแล้ว ทำไมเราไม่คิดหารายได้จากภาพที่ถ่ายบ้างล่ะ นั่นอาจเพราะหลายคนยังไม่ทราบวิธีการ หรือคิดว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินความสามารถของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นความคิดที่ผิด ลองมาติดตามวิธีการขายภาพดูก่อนสิครับ

อุปกรณ์จำเป็นที่ต้องใช้

อุปกรณ์จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพเพื่อนำไปขายนั้นมีดังนี้ครับ

กล้อง ถ้าจะให้ดีก็ควรใช้กล้อง DSLR (กล้องที่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้) หรือถ้าเป็นกล้องคอมแพ็คก็ควรเป็นกล้องระดับโปรหน่อย เพื่อที่จะได้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพมากๆ นั่นเอง ส่วนเลนส์ใช้แค่เลนส์คิตที่ติดกล้องมาก็พอไหว แต่ถ้ามีงบเยอะก็ซื้อเลนส์ดีๆ เพิ่มจะยิ่งช่วยให้การทำงานง่ายมากขึ้น เลนส์คิตคือคำเรียกเลนส์ที่บริษัทขายกล้องแถมมาให้กับกล้องเลย ส่วนมากจะเป็นเลนส์ที่มีช่วงมาตรฐานซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้กัน ประมาณ 18 – 50 มม. ระยะนี้ถ่ายวิวก็ได้ ถ่ายคนก็โอเค

ขาตั้งกล้อง เจ้าตัวนี้จะช่วยให้ภาพมีความคมชัด ขาตั้งกล้องราคาไม่แพงนักเมื่อเทียบกับความคุ้มค่า และอายุการใช้งานก็ยาวนานกว่ากล้องเสียอีก

แฟลช การซื้อแฟลชแยกมาใช้จะดีกว่าใช้แฟลชที่ติดมากับตัวกล้องมาก แต่ราคาแฟลชค่อนข้างแพง ถ้ายังไม่อยากลงทุนก็เอาแค่กล้องกับขาตั้งกล้องก่อนก็พอครับ

อุปกรณ์จำเป็นก็มีแค่นี้แหละครับ หลาย ๆ คนคงจะมีอยู่แล้ว ก็เอามาใช้ให้คุ้มค่า ดีกว่าปล่อยไว้เฉย ๆ

ขายภาพที่ไหนดี

เมื่อเรามีอุปกรณ์แล้ว ถ่ายภาพสวย ๆ มาแล้ว เราจะเอาภาพไปขายกับใครยังไงล่ะ? การขายภาพถ่ายมีหลายช่องทางครับ อย่างแรกที่คนส่วนใหญ่นึกออกก็คือ ขายให้กับหนังสือ ซึ่งส่วนมากมักจะพ่วงไปกับบทความที่เหมาะสมกับหนังสือนั้น ๆ ด้วย อีกทางก็คือการนำภาพถ่ายไปทำโปสการ์ดขายตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือที่นิยมกันก็ตลาดประเภทถนนคนเดิน ซึ่งสองวิธีนี้อาจดูยุ่งยากและต้องลงทุนลงแรงเพิ่ม ที่จะขอแนะนำก็คือขายภาพถ่ายแบบออนไลน์ในเว็บไซต์ครับ

เว็บไซต์ที่ขายภาพถ่ายออนไลน์เรียกกันว่าไมโครสต็อก ที่จริงแล้วไม่ใช่ซื้อขายภาพกันแบบขายขาดนะครับ แต่จะเป็นการให้ผู้ซื้อจ่ายเงินแล้วดาวน์โหลดภาพของเราไปใช้งาน ซึ่งภาพของเราภาพเดียวอาจจะทำเงินให้เรามหาศาลได้ ถ้ามีคนมาดาวน์โหลดไปใช้เยอะ ๆ ส่วนค่าดาวน์โหลดนั้นจะคิดตามขนาดของภาพ ภาพใหญ่ก็แพงกว่า เมื่อมีคนดาวน์โหลดภาพของเรา ทางเว็บก็จะแบ่งส่วนแบ่งให้กับเราตามที่ระบุไว้ในแต่ละเว็บ

เว็บไมโครสต็อกที่ดัง ๆ ก็เช่น www.istockphoto.com , www.shutterstock.com , www.fotolia.com ลองไปดูรายละเอียด และทำความเข้าใจกับเว็บผู้ให้บริการเสียก่อน เพราะว่ากฎการส่งรูปภาพของแต่ละเว็บนั้นไม่เหมือนกัน และมีรูปภาพหลายประเภทให้เลือกส่ง

– เมื่อเรามีรูปภาพที่ต้องการขายแล้ว เราเพียง Upload ขึ้นเว็บไซต์ของแต่ละที่ เราก็จะสามารถขายภาพได้โดยทันที โดยที่ทางเว็บไซต์จะทำการโปรโมตให้เอง
– จากนั้นเราก็รอรับรายได้ผ่านทาง PayPal หรือ check ส่งมาถึงบ้านคุณทันที ง่ายมั้ยหล่ะครับ

เตรียมภาพให้พร้อมก่อนนำไปขาย

ภาพที่เราจะนำไปขายในเว็บแต่ละแห่งนั้น ส่วนมากจะต้องผ่านการพิจารณาอย่างเข้มงวดจากทางเว็บก่อน ยิ่งเว็บไหนดังก็ยิ่งตรวจเข้มมาก แต่ถ้าผ่านก็คุ้มครับ ส่วนหลักเกณฑ์ที่เขาจะนำมาตัดสินภาพเราก็จะคล้าย ๆ กันตัวอย่างเช่น

องค์ประกอบ เขาจะดูว่าภาพของเราจัดองค์ประกอบดีมั้ย มีอะไรขาดอะไรเกินหรือเปล่า

ความคมชัด ข้อนี้มีความสำคัญมาก ภาพหลายภาพตอนดูแบบย่อเห็นว่าสวย แต่ถ้าขยายดูแบบ 100% กลับกลายเป็นว่าเบลอๆ หรือมีนอยส์มากเกินไป นอยส์จะมีลักษณะเป็นจุดๆ มักเกิดตอนที่เราถ่ายภาพในที่แสงไม่พอ โปรแกรมตกแต่งภาพหลายโปรแกรมสามารถแก้ไขหรือลบนอยส์ได้บ้าง แต่ถ้ามีมากเกินไปก็ช่วยไม่ไหว จึงควรถ่ายภาพให้ชัดเอาไว้ก่อนดีที่สุด

ความมืดและสว่างของภาพ ภาพถ่ายที่มืดเกินไปจะมีปัญหาเรื่องนอยส์ ภาพถ่ายที่สว่างเกินไปจะมีปัญหาเรื่องรายละเอียดของภาพ สำหรับการดูความมืดความสว่างของภาพโดยรวมนั้นอย่าเชื่อสายตาตัวเองนัก ให้ดูกราฟใน histogram เอาดีกว่า

ยังมีอีกหลายข้อ ซี่งคงต้องไปดูว่าแต่ละเว็บกำหนดอะไรไว้บ้าง สำหรับการส่งภาพไปให้เขาตรวจนั้น ถ้าไม่ผ่านมักมีคำแนะนำกลับมาด้วยว่าไม่ผ่านเพราะอะไร ซึ่งเป็นการดีที่เราจะได้นำไปแก้ไขในคราวหลัง

ภาพประเภทไหนที่ขายได้บ้าง

นอกจากภาพถ่ายแล้ว ภาพงานกราฟฟิกประเภทเว็คเตอร์ที่สร้างด้วยโปรแกรมอย่าง illustration ก็สามารถนำไปขายได้เช่นกัน คนที่มีไอเดีย มีฝีมือแต่ไม่มีกล้องก็ลองสร้างภาพด้วยวิธีนี้ไปเสนอขายดู

ส่วนภาพถ่ายไม่ว่าจะเป็นภาพวิว ภาพข้าวของเครื่องใช้ ภาพสัตว์ ภาพอาคาร ภาพบุคคล ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ขายได้ทั้งสิ้น แต่สำหรับภาพที่มีคนอยู่ในภาพจะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัวก่อนนะครับ

สำหรับคนที่สนใจอยากขายภาพในเว็บไซต์ไมโครสต็อก ขอแนะนำให้ไปหาซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม มีหนังสือหลายเล่มที่สอนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียด ตั้งแต่วิธีสมัครไปจนถึงวิธีรับเงินกันเลยทีเดียว

หลายคนอาจคิดว่าทำไมค่าดาวน์โหลดถูกจัง นั่นก็เพราะภาพที่เราส่งไปขายในเว็บไซต์นั้นเป็นการให้สิทธิ์ในการดาวน์โหลดไปใช้แค่นั้นเอง ส่วนภาพยังเป็นของเรา เรายังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เต็ม ๆ ส่วนถ้าใครสนใจอยากขายภาพแบบขายขาด หรือขายลิขสิทธิ์ด้วยนั้นคงต้องประกาศขายเอง ซึ่งก็มีคนทำอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นระดับมืออาชีพ ในส่วนของมือสมัครเล่นอย่างเรา ๆ นั้นมาขายภาพในเว็บไมโครสต็อกจะง่ายกว่าครับ

error: Content is protected !!