วิธีบริหารเงินเดือนอย่างไรให้เหลือเก็บ

คำถามสุดคลาสสิคสำหรับคนทำงานคือ จะบริหารเงินเดือนอย่างไรให้เหลือเก็บ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อาจจะมีปัญหาด้านการเงินไม่มีเงินเหลือเก็บเลย อาจจะใช้เงินเป็นเดือนชนเดือน หรือใช้เงินเดือนหมดก่อนสิ้นเดือนนั้น เราอาจจะต้องหาสาเหตุก่อนว่าทำไม่ถึงไม่มีเงินเก็บ โดยทั่วไปแต่ละคนก็จะมีการบริหารจัดการด้านการเงินแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทำงานในกรุงเทพก็อาจจะใช้เงินในการดำเนินชีวิตมากกว่าในต่างจังหวัด เพราะค่าครองชีพจะสูงกว่า และค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ต้องมากขึ้นตามไปด้วย

รูปแบบแผนของการออมหรือการเก็บเงินในแต่ละเดือนนั้นถ้าสามารถทำได้ก็ควรที่จะเก็บอย่างน้อย 10 % ของเงินเดือนที่เราได้รับ และในส่วนที่เหลือก็อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าหอพัก ค่าเดินทางไปทำงาน ค่าอาหาร และค่าซื้อของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ ในบ้าน เป็นต้น แต่ที่เป็นปัญหาสำหรับคนที่ไม่มีเงินเหลือเก็บหรือเดือนชนเดือนนั้น จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมา เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน ค่าหนี้บัตรเครดิต และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในด้านการสังสรรค์ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เราสามารถที่จะควบคุมได้

ในที่นี้หมายถึงเราต้องตรวจสอบตัวเองว่า ถ้ามีหนี้ตรงนี้ขึ้นมาเราจะบริหารจัดการอย่างไรให้ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเก็บ หรือเงินออมของเราที่ต้องมีไว้ใช้ในโอกาสที่จำเป็นหรือฉุกเฉินในอนาคต ซึ่งนั้นคือโจทย์ที่สำคัญที่เราต้องบริหารให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ทางเลือกอีกทางหนึ่งที่สามารถควบคุมการใช้จ่ายก็คือ การฝากเงินเข้าธนาคารในรูปแบบของการฝากประจำ ซึ่งนอกจากจะสร้างวินัยด้านการเงินให้กับตัวเองแล้ว ยังจะดอกเบี้ยอีกด้วยซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนอีกทางหนึ่งด้ว ยแม้ว่าดอกเบี้ยจะไม่มากเท่าไหร่ก็ตามถ้าฝากในจำนวนที่ไม่เยอะ แต่ถ้ามีโอกาสฝากเงินจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นตามเงินที่ฝาก แต่ก็คงต้องระมัดระวังด้วย เพราะอาจจะเกิดปัญหาได้เหมือนกันถ้าเราเพิ่มจำนวนเงินฝากมากไป ก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้เช่นกัน ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาเกี่ยวกับเรื่องการบริหารเงินเดือนให้เหลือเก็บ ก็คงพอจะทราบว่าขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลจริง ๆ ไม่มีข้อใดที่ตายตัว แต่สึ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรตระหนักถึงก็คือ คุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ เราควรที่จะใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด

เรามาดูกันดีกว่าครับ ถ้าเราจะบริหารเงินเดือนกันแบบจริงๆ จัง ในแต่ละวันเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

1. ค่ากิน ทุกวันนี้ค่ากินขั้นต่ำ 100 บาทต่อวัน ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ผ่านแบบเฉียดฉิว เพราะค่าข้าวสมัยนี้มื้อเดียวก็จะห้าสิบบาทแล้วครับ สามสิบบาทคือมาตรฐาน และข้าวมื้อหนึ่งไม่ได้มีสารอาหารครบโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผัก และผลไม้ ซึ่งคุณจะต้องซื้อผลไม้มากินเพิ่มเอง ยิ่งถ้าเป็นพวกอาหารเพื่อสุขภาพ ค่ากับข้าวก็จะแพงขึ้นไปอีก ก็ต้องเลือกนะครับ เราต้องกินอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพที่ดี เพี่ะถ้าเรากินกับข้าวที่ไม่มีสารอาหาร แล้วเราป่วย เราก็ต้องเอาเงินไปหาหมอ ซึ่งนั่นก็ไม่คุ้มค่าเลยครับ

2. รายจ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือนเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต อย่างน้อยประมาณ 3,000 บาทขึ้นไปแน่นอน

3. ค่าสิ่งอุปโภคบริโภคในบ้าน เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม โรลออน น้ำหอม น้ำยาล้างห้องน้ำ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และอื่น ๆ อีกมากมาย พวกนี้อาจจะซื้อแค่เดือนละครั้ง แต่โดยรวม ๆ ก็ต้องมี 1,000 บาทขึ้นไป (ค่าใช้จ่ายตรงนี้คุณก็ไม่ได้คิดเช่นกัน)

4. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์หรือการเดินทาง โอเคของคุณมีค่าผ่อนบ้าน+รถ แต่ไหนค่าน้ำมันล่ะครับ ค่าน้ำมันเดือนนึงผมว่าอย่างน้อยต้องมีประมาณ 3,000 บาทขึ้นไป เพราะเติมน้ำมันครั้งหนึ่งก็ 500-1,000 บาทไปแล้วครับ ซึ่งถ้าไม่มีรถ ก็ต้องเสียค่ารถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไม่ก็ค่าแท๊กซี่หรือค่ารถไฟฟ้าอยู่ดี

5. ค่าใช้จ่ายในการเอนเตอร์เทน อย่างน้อยเราก็คงต้องไปกินข้าวหรือดูหนังกับเพื่อนเดือนละครั้ง ก็ต้องมี 500 บาทเป็นขั้นต่ำ (ถึงจะไปคนเดียวก็ควรจะมีซัก 500 บาทอยู่ดี ไม่งั้นเที่ยวไม่สบายใจ) แต่ถ้ามีแฟนก็ครั้งละ 1,000 ขึ้นไปแน่นอน (แล้วมีแฟนเนี่ยมันจะไม่ใช่เดือนละครั้ง อย่างน้อยต้องอาทิตย์ละครั้งโดยเฉพาะช่วงที่เพิ่งคบกันใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นถ้ามีแฟน เตรียมไว้เถอะอย่างน้อยเดือนละเกือบ 10,000 บาท) และในสังคมทำงานหรือเรียนโทก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเข้าสังคมเพิ่มเข้ามาอีก จะไม่จ่ายก็ได้ครับ แต่ก็อยู่ในสังคมลำบากหน่อย (และเป็นค่าใช้จ่ายที่ทุเรศมาก เพราะบางครั้งเราไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ก็ต้องจ่ายเพราะสังคมมันบีบบังคับเรา)

วิธีการบริหารเงินเพื่อความมั่นคงในชีวิต

วิธีการบริหารจัดการเงินเพื่อความมั่นคงในชีวิต “เงิน” เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิตของคนเรา คนส่วนใหญ่ทำงานหาเงินก็เพื่อให้ได้เงินมามากๆ เพราะคิดว่าเมื่อมีเงินก็จะสร้างความสุขสบายในชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงคนที่หาเงินมาได้ส่วนใหญ่กลับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย หรือเมื่อมีรายได้มากๆก็มักจะไม่เก็บออมแต่จะนำเงินไปซื้อความสะดวกสบายให้กับตนเองเช่น นำเงินที่ได้ไปซื้อบ้าน ซื้อรถ

บางคนเพียงที่มีรายได้ประจำมากขึ้นก็จะนำเงินที่เก็บไปซื้อสิ่งของหรือสินค้าเงินผ่อน ซึ่งนอกจากจะไม่มีเงินเหลือเก็บแล้วยังเป็นการสร้างหนี้หรือนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อนอีกด้วย นั้นอาจเป็นเพราะคนเราคุ้นเคยกับการใช้เงินก่อนที่จะหาเงินมาได้นั้นเอง

การบริหารเงินจึงมีความสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก เพราะหากเราไม่สามารถบริหารเงินได้เราก็จะไม่สามารถใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนที่เราจะวางแผนในการบริหารเงินสิ่งสำคัญที่จะต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือสำรวจตัวเองก่อนว่า “เรามีเงินไม่พอใช้ หรือเราใช้เงินไม่พอ” ความหมายก็คือการมีเงินไม่พอใช้หมายถึงการหาเงินหรือมีเงินไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตแต่การใช้เงินไม่พอหมายถึงเราหาเงินมาได้เท่าไหร่หรือมีเงินมากแค่ไหนก็ไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการของตนเองในการนำไปใช้จ่าย

เมื่อเราทราบปัญหาแล้วก็นำปัญหานั้นมาวางแผนเพื่อบริหารเงินอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เรามีเป้าหมายในการใช้เงินที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์มากขึ้น การบริหารเงินไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากเพราะทุกคนผ่านการบริหารเงินมาแล้วแต่อาจไม่รู้ตัว เช่น การที่เราวางแผนว่าวันนี้เราจะใช้เงินซื้ออะไร ใช้เงินอย่างไรให้เพียงพอจนถึงสิ้นเดือน หรือเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน

วิธีบริหารเงินมีหลายรูปแบบไม่มีวิธีการหรือกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว แนวทางการบริหารเงินของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับรายได้และภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบทางการเงิน คนที่มีรายได้มากอาจมีวิธีบริหารเงินเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บหลายรูปแบบ สำหรับคนที่มีรายได้น้อยและอาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายมักจะไม่ให้ความสำคับกับการบริหารเงินหรือเก็บออมเงิน การที่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับการบริหารเงิน เพราะมีแนวคิดว่าการบริหารเงิน คือการใช้เงินที่มีอยู่อย่างประหยัด ให้ความสำคัญกับการบริหารค่าใช้จ่าย มากกว่าการหารายได้

เมื่อมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มักจะโทษปัญหาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา หากทุกคนมีแนวคิดในการหารายได้ ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ การบริหารเงินก็จะตามมาได้เอง แนวคิดในการบริหารเงินเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บที่ทุกคนควรยึดเป็นแนวทางปฏิบัติก็คือ

1. บริหารเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เป็นการบริหารที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เช่นเก็บออมไว้ใช้ยามเจ็บป่วย ตกงาน หรือมีความจำเป็นสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน การบริหารเงินแบบง่ายๆและเป็นวิธีที่ดีก็คือ การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หรือคิดว่ารายได้ไม่เหลือพอที่จะนำไปใช้ส่งเบี้ยประกัน ซึ่งความจริงแล้วถ้ามีการบริหารเงินที่เป็นระบบการทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพเป็นวิธีออมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินได้ดีที่สุด การออมเงินหรือเก็บเงินจากรายได้ไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ทุกครั้ง เพื่อนำมาจ่ายประกันหรือเก็บไว้ยามฉุกเฉิน บางคนอาจมีข้อโต้แย้งว่ามีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายซึ่งหากหักอีกร้อยละ 10 ก็เท่ากับเพิ่มค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นหากมองในมุมบวกวิธีนี้เป็นการกระตุ้นการทำงานเพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้น

2. บริหารเงินเพื่อให้เหลือเก็บออม การบริหารเงินให้เหลือเก็บมีหลักการบริหารง่ายๆ ที่หลายคนทราบดีอยู่แล้ว คือไม่ใช้เงินเกินรายได้ที่มีอยู่หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรเลือกซื้อหรือเลือกใช้ในสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน และต้องไม่สร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หากเรายังไม่มีความพร้อม เช่นการซื้อรถยนต์เงินผ่อนเพราะนอกจากจะต้องผ่อนชำระงวดรถแล้ว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเพิ่มขึ้น หลายคนลืมคิดถึงภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้เพราะขาดการบริหารเงินที่ดี

3. บริหารเงินเพื่อความมั่นคงในชีวิต หากเรามีการบริหารการเงินอย่างเป็นระบบ เช่น เมื่อบริหารเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินและมีเงินเก็บออมไว้ใช้ได้แล้ว ทุกคนก็คงต้องการความมั่นคงในชีวิต อาจมีการลงทุนเพิ่มหรือเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งอาจประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวได้ตลอดเวลา ดังนั้น คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่คือคนที่มีความมานะอดทน มีความเพียรพยามยาม เปิดใจเรียนรู้ทุกรูปแบบ และต้องมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนแรกอาจมีการเรียนผิดเรียนถูกบ้าง จึงต้องค่อยๆเริ่มจากเล็กไปใหญ่เพื่อลดอัตราความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อกจากนั้นก็ยังทำให้เราได้เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด

ความไม่แน่นอนในชีวิตเป็นเหตุผลสำคัญที่คนเราต้องบริหารการเงิน เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหลักการบริหารเงินเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนสามารถนำไปปฏิบัติได้ทุกคน แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความมีระเบียบวินัยและความมุ่งมั่น ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ครับ

error: Content is protected !!