วิธีเก็บเงินแต่งงาน และการออมเงินหลังจากแต่งงาน

เก็บเงินแต่งงาน

 

ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามก่อให้เกิดสิ่งดีๆ ให้กับชีวิต ความรักเป็นก้าวแรกซึ่งนำไปสู่การแต่งงานจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ คู่รักหลายคู่ฝันที่จะแต่งงานเพื่อเลื่อนสถานะจากการเป็นแฟนไปสู่การเป็นสามีภรรยา ซึ่งการแต่งงานนั้นแน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าจัดงาน ค่าชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว ค่าถ่ายรูปแต่งงาน ค่าสถานที่ ทุกอย่างในงานแต่งงานนั้น ล้วนใช้เงินทั้งสิ้น ดังนั้นคู่รักหลายคู่จึงเลือกที่จะช่วยกันเก็บเงินเพื่อแต่งงาน ในบทความนี้ผมก็จะขอแนะนำ 9 วิธีเก็บเงินแต่งงานครับ

1. เปิดบัญชีเงินฝาก

ควรเริ่มที่การเปิดบัญชีเงินฝากประจำร่วมกัน โดยชื่อบัญชีเป็นชื่อทั้งสองคน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเบิกถอน เพราะบัญชีร่วมจะต้องมีเจ้าของบัญชีมายืนยันในการถอนเงินทุกครั้ง ที่ต้องเลือกบัญชีแบบฝากประจำ เพื่อเป็นการบังคับตัวของคุณเองว่า ต้องฝากประจำทุกเดือน และไม่เบิกถอนก่อนเวลาที่กำหนด โดยเลือกแบบฝากประจำ 1 ปีขึ้นไป โดยฝากขั้นต่ำ 1,000 บาท ซึ่งการฝากเงินแบบประจำจะมีดอกเบี้ยที่สูงด้วยทำให้เงินฝากของคู่รักงอกเงยอีกด้วย ในปัจจุบันนี้มีหลายที่เปิดให้ฝากประจำ เพื่อเพิ่มช่องทางให้กับลูกค้าในการฝากเงิน ซึ่งบัญชีฝากประจำเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคู่รักที่ต้องการเก็บเงินแต่งงาน

2. ออมเงิน

การออมเงินควรทำทุกวิธีทาง โดยนอกจากจะฝากประจำในบัญชีธนาคารแล้ว ยังควรเก็บในกระปุก หากมีเงินเศษก็ควรเก็บใส่กระปุกออมสินไว้ ซึ่งมองข้ามไม่ได้เลยสำหรับเงินเหรียญ เพราะถ้าคู่รักทำเป็นกิจวัตรประจำวันด้วยการออมเงินแบบหยอดกระปุก ก็จะช่วยทำให้คุณมีเงินเก็บมากขึ้น อีกทั้งในยามฉุกเฉินยังสามารถนำเงินจากในกระปุกมาใช้ได้อีกด้วย การออมเงินโดยการหยอดกระปุกควรทำทุกวัน โดยหยอดได้ทั้งเหรียญบาท เหรียญห้า เหรียญสิบ ซึ่งการหยอดกระปุกทุกวันจะช่วยเพิ่มเงินเก็บให้กับคู่รักอย่างเหลือเชื่อ

3. ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย

การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้คู่รักเห็นการเคลื่อนไหวของรายรับ รายจ่าย และเงินเก็บ ในแต่ละเดือน เพื่อที่จะได้ช่วยในการคำนวณเงินให้มีเงินหมุนเวียน และเพื่อจัดสรรแบ่งเงินในส่วนของ เงินเก็บในบัญชีฝากประจำ เงินออม ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่ากิน ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ การทำบัญชีสามารถทำได้ง่ายแบบที่คู่รักเข้าใจ โดยระบุวันที่ เดือน ปี ในการได้รายรับ มีรายจ่ายต่างๆ อะไรบ้างควรเขียนอย่างละเอียดและนำมาตรวจดู เพื่อตัดข้อที่เกินความจำเป็นออกไปด้วย

4. ตั้งเป้าหมาย

คู่รักควรตั้งเป้าหมายเก็บเงินที่จะใช้ในการแต่งงาน เช่น เวลาภายในกี่ปีจะแต่งงาน หรือจะใช้เงินประมาณเท่าไหร่ คู่รักควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อจะได้ทราบกำหนดเวลาที่แน่นอนในการเก็บเงิน อย่างเช่น ต้องการจัดงานแต่งงานโดยใช้เงินจำนวน 3 แสนบาท ก็จะสามารถคำนวณได้ว่าต้องเก็บเงิน 3 ปี ปีละ 1 แสนบาท เป็นต้น

5. งดซื้อของฟุ่มเฟือย

คู่รักควรงดซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย หรือของที่เกินความจำเป็น อย่างเช่น เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้า หรือของตามกระแสต่างๆ ที่สร้างความฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น โดยคู่รักจะต้องไม่ใช้เงินในการซื้อของฟุ่มเฟือยอย่างเด็ดขาด เพราะของฟุ่มเฟือยอาจจะส่งผลกระทบถึงเงินเก็บในระยะยาวได้

6. งดทานข้าวนอกบ้าน

การไปทานอาหารนอกบ้านยังสามารถทำได้ โดยเลือกรับประทานเฉพาะในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งไม่ควรทานอาหารนอกบ้านบ่อยครั้งนัก เพราะอาหารในร้านอาหารจะมีราคาสูงกว่าการซื้ออาหารสำเร็จรูป หรือการทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับรับประทานอาหารนอกบ้าน เมื่อลดให้น้อยลงจะทำให้มีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้น

7. งดสังสรรค์ยามค่ำคืน

การสังสรรค์ยามค่ำคืน เป็นเรื่องธรรมดาที่คู่รักหนุ่มสาวทำกัน เพื่อเป็นการพบปะเพื่อนฝูงในวันสุดสัปดาห์ หรือในโอกาสพิเศษ แน่นอนว่าการสังสรรค์ยามค่ำคืนมีค่าใช้จ่ายมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร เครื่องดื่ม หรือค่าบริการต่างๆ ดังนั้นสำหรับคู่รักที่ต้องการจะเก็บเงินแต่งงานควรงดสังสรรค์ยามค่ำคืนให้น้อยลง

8. ไม่ก่อหนี้

คู่รักไม่ควรก่อหนี้สินในระหว่างการเก็บเงินแต่งงาน เพราะหนี้สินนั้นสามารถทำให้คนหมดตัวได้ ดังนั้นคู่รักระหว่างที่เก็บเงินแต่งงาน ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะก่อหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือการผ่อนสิ่งของเกินความจำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ เพราะการใช้บัตรเครดิตในการผ่อนสินค้าส่วนใหญ่จะมีดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ซื้อของราคาที่สูงเกินกว่าปกติ ควรจะซื้อของด้วยเงินสดมากกว่า คู่รักที่จะเก็บเงินแต่งงานไม่ควรก่อหนี้สินอย่างเด็ดขาด

9. หารายได้เสริม

การหารายได้เสริม คือ การเพิ่มรายได้ที่ช่วยให้เงินสำหรับใช้เพื่อแต่งงานเพิ่มมากขึ้น โดยการหารายได้เสริมนั้น คู่รักสามารถเลือกทำได้ตามความสามารถ ซึ่งในปัจจุบันนี้อาชีพหารายได้เสริมมีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขายของมือหนึ่ง มือสอง การเปิดร้านอาหาร ขายสินค้าอื่นๆ ตามความถนัด ที่จะทำให้เกิดรายได้เพิ่ม ซึ่งการหารายได้เสริมควรเริ่มด้วยเงินทุนที่ไม่มาก และที่สำคัญคือ ไม่กู้เงินมาเพื่อเป็นทุนหารายได้เสริมโดยไม่จำเป็นอย่างเด็ดขาด

สรุป

การเก็บเงินแต่งงานสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การลดรายจ่าย และการเพิ่มรายได้ และท่องไว้คำเดียวว่า เก็บเงินอย่างเดียว โดยตั้งเป้าหมายงานแต่งงานไว้ว่าจะต้องใช้งบประมาณในการจัดงานเท่าไหร่ และเงินอีกส่วนคือเงินที่จะใช้ร่วมกันเพื่อตั้งต้นชีวิตคู่ที่ราบรื่นต่อไปด้วย

การออมเงินหลังจากแต่งงาน

จากการเฝัาสังเกตชีวิตแต่งงานของหลายๆ คู่ ทำให้ทราบว่า ปัญหาครอบครัวโดยส่วนใหญ่เกิดจากการที่พวกเขาไม่ได้ตกลงกันเรื่องการเงินให้ดีว่า จะหามาอย่างไร และจะใช้กันแบบไหน

เพราะค่านิยมของคนไทยคือจะไม่พูดกันถึงเรื่องเงินถ้ารักกันจริง คือถ้าพูดถึงเรื่องเงินเมื่อไร จะทำให้อีกฝ่ายคิดทันทีว่าไม่รักกันหรือเปล่า และอีกประการหนึ่งก็คือ นิสัยของคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบการวางแผนล่วงหน้าในระยะยาวๆ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขาดความเข้าใจกัน

แม้การพูดจาตกลงกันเรื่องเงินจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งสามารถทำให้เกิดความน้อยอกน้อยใจ แต่ก็ต้องพูดกัน ตกลงกันให้ดี แล้วจะไม่มีปัญหาตามมาจนทำให้หมดรักกันในที่สุด

เรื่องที่ต้องเปิดอกพูดคุยกันเป็นอันดับแรกก็คือ รายรับรายจ่ายของแต่ละคน เปิดเผยตัวเลขกันให้ละเอียดชัดเจนว่า แต่ละฝ่ายมีรายได้จากอะไรบ้าง มีทรัพย์สินมากน้อยขนาดไหน มีเรื่องให้ใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินเท่าไร เพื่อจะได้ทราบว่า คุณทั้งสองมีสถานะทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ใด ยากจน ปานกลาง หรือรํ่ารวยเหลือกิน เหลือใช้ ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนการหาเงิน และใช้เงินในระยะยาวต่อไปได้

ต่อมาก็คือตกลงกันให้ดีว่า จะเพิ่มค่าใช้จ่ายตรงส่วนไหน หรือจะตัดค่าใช้จ่ายส่วนใดออกไป หรือจะแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าใช้จ่ายส่วนรวม ถ้าต่างฝ่ายต่างมีรายได้เป็นของตนเอง และต้องการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนตัว ก็ควรจะทำเพื่อเป็นการลดภาระของอีกฝ่ายที่ต้องหาเงินมาให้อีกฝ่ายใช้ส่วนตัวโดยไม่จำเป็น

และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือเรื่องของเงินเก็บเงินออม ควรจะมีการวางเป้าหมายร่วมกันว่าคุณจะเก็บเงินไว้เพื่ออะไรบ้าง เช่น ไว้ใช้สำหรับการแต่งงาน แทนที่เงินส่วนนั้นจะตกเป็นภาระของพ่อแม่ หรือไปกู้หนี้ยืมสิน ต้องหาเงินมาใช้หนี้กันหน้าดำหน้าแดง แทนที่จะนำเงินส่วนนั้นไปใช้สร้างครอบครัว หรือจะเก็บเงินออมไว้เผื่อยามจำเป็น เช่น ยามตกงาน ประสบอุบัติเหตุต้องเข้าโรงพยาบาล เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

ซึ่งการเก็บออมเงินนั้นต้องใช้ทั้งความอดทน และความมีวินัยที่เคร่งครัดอย่างมากทีเดียว ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันให้ดี ควบคุมพฤติกรรมอันจะนำไปสู่ปัญหาการเงินให้ได้ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ใช้เงินเกินเงินเดือน เล่นการพนัน หรือนำเงินไปใช้นอกลู่นอกทางโดยไม่ปรึกษาหารือกัน

ถ้าปฏิบัติได้ดังนี้ “เงิน” จะไม่เป็นปัญหาสำหรับชีวิตคู่แน่นอน

error: Content is protected !!