วิธีการรับเขียนบทความให้ประสบความสำเร็จ

วิธีการรับเขียนบทความให้ประสบความสำเร็จ
 

ถ้าพูดถึงงานพิเศษในปัจจุบันนี้ คงไม่มีใครนึกถึงการเขียนบทความ เพราะถ้าพูดถึงการเขียนบทความ หลายๆ คนคงจะนึกถึงตอนเด็กๆ ที่คุณครูให้เขียนเรียงความ ที่ต้องมีบทนำ เนื้อหา และบทสรุป และต้องแก้ซ้ำไปซ้ำมาเพื่อให้ถูกต้องตามอักขระภาษาไทย และตามรูปแบบที่กำหนด แต่คงไม่มีใครนึกถึงว่า การเขียนบทความนั้นสามารถนำมาทำงานเพื่อสร้างเป็นรายได้ได้

ซึ่งในปัจจุบันงานเขียนบทความออนไลน์ กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาหรือคนที่กำลังตกงาน หรือคนทำงานที่มีเวลาว่าง และอยากทำงานอยู่ที่บ้าน หรือที่เค้าเรียกกันว่างานฟรีแลนซ์นั่นล่ะครับ ซึ่งงานฟรีแลนซ์นี้มักนิยมในหมู่ผรั่งที่รักอิสระ ไม่อยากทำงานบริษัท ไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร แต่อยากทำงานที่ตนเองชอบ โดยทำอยู่ที่บ้าน การสั่งงานก็โดยการติดต่อทางอีเมลล์ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่คนไทยที่รักอิสระ และได้มีเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานที่ตนเองต้องการ หวังว่าบทความนี้พอมีประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้างนะครับ

หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า แล้วจะทำงานยังไง จะเขียนออกมายังไง เขียนแล้วไปขายให้ใคร แล้วถ้าไม่ถนัดในสิ่งที่จะเขียนต้องทำยังไง การเขียนบทความภาษาไทยถึงแม้เป็นภาษาพ่อภาษาแม่ก็เถอะ แต่ก็ไม่ถนัด ถ้าต้องการสำนวนที่เป็นเอกลักษณ์ สละสลวย จะทำอย่างไรดี เพียงนึกว่าจะต้องเริ่มต้นยังไง ก็รู้สึกว่าไม่ง่ายเลย วันนี้มีวิธีเขียนบทความจากประสบการณ์ตรงมาฝากครับ อาจจะนำเอาไปประยุกต์เพื่อใช้ในการเขียนบทความในแบบต่างๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมหลังเลิกงาน หรือในเวลาว่างก็ดีนะครับ

วิธีการเขียนบทความ

สำหรับการเขียนบทความให้ได้ดี สละสลวยนั้น การวางโครงเรื่องของบทความก็จะช่วยการเขียนได้มาก เพราะโครงเรื่องจะเป็นการไม่ให้เราหุดไปจากกรอบความคิดที่เราจะเขียน เราจะเป็นแบบไม่สะเปะสะปะ หรือเขียนวกไปวนมา ทำให้ดูไม่น่าอ่าน โครงเรื่องของบทความแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป

คำนำ

จะเป็นเป็นการบอกกล่าวให้ผู้อ่านทราบว่าเราจะเขียนเรื่องอะไร ซึ่งการขึ้นคำนำก็จะต้องมีการกล่าวอารัมภบทก่อนก่อนที่จะวกเข้าเรื่องที่จะเขียน เช่น สำหรับช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี การทำมาค้าขายฝืดเคือง ผมก็จะขอแนะนำธุรกิจตัวใหม่ ที่ใช้เงินลงทุนน้อย แต่ได้กำไรเยอะ และที่สำคัญมีราคาถูก เหมาะกับการค้าขายในยุคเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ อย่างนี้เป็นต้น การเขียนคำนำ ต้องเขียนให้น่าอ่านชวนติดตาม เพราะผู้อ่านส่วนใหญ่แล้วอ่านย่อหน้าแรกก่อน ถ้าเขียนคำนำดี ก็จะทำให้ผู้อ่าน อยากอ่านบทความของเราต่อได้

วิธีเขียนคำนำ

สำหรับการเขียนคำนำอาจจะเป็นขั้นเป็นตอนที่ยากที่สุด แต่ถ้าเริ่มได้แล้ว เครื่องติดแล้ว ก็จะช่วยให้การเขียนบทความดำเนินต่อไป การเขียนคำนำจึงต้องการความประณีตมาก เพื่อเป็นการจูงใจผู้อ่านให้ติดตามบทความของเราไปจนจบ ซึ่งการเขียนคำนำมีหลายแบบดังต่อไปนี้

– คำนำด้วยข่าว
– คำนำด้วยการอธิบาย
– คำนำด้วยการเสนอความคิดเห็น
– คำนำด้วยการใช้คำที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ
– คำนำด้วยการบอกความสำคัญ
– คำนำด้วยการประชดประชันหรือเสียดสี
– คำนำด้วยคำถาม
– คำนำด้วยการสรุปใจความสำคัญของเรื่อง
– คำนำด้วยสุภาษิต คำคม บทกวี

เนื้อเรื่อง

จะแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ส่วนแรกเป็นการขยายความ เมื่อมีการอารัมภบทในคำนำแล้ว ผู้อ่านยังอ่านได้ไม่เข้าใจดีพอ เราก็ต้องขยายความออกไป เพื่อช่วยให้ผู้อ่านอ่านได้เข้าใจได้มากขึ้น ส่วนที่สองเป็นรายละเอียดข้อมูลลงลึกต่างๆ หรือมีการเปรียบเทียบ หรือยกตัวอย่างประกอบ

วิธีการเขียนเนื้อเรื่อง

สำหรับเนื้อเรื่องนั้น เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในบทความ เป็นการบอกข้อมูลต่างๆ ซึ่งย่อหน้าแต่ละย่อหน้าในเนื้อเรื่องจะต้องคล้อยตามเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่หลุดการเขียนออกไปการถึงเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับหัวข้อมากจนเกินไป หรือไม่เขียนวกวนไปมาจนทำให้ผู้อ่านอ่านไม่รู้เรื่อง ดังนั้นก่อนที่เราจะเขียนบทความ เราจะต้องหาข้อมูล หาความรู้ที่จะนำมาเขียนเสียก่อน

การหาข้อมูลนั้นอาจได้จากการสัมภาษณ์ การสอบถามผู้รู้ การเดินทางท่องเที่ยว การอ่านหนังสื่อพิมพ์ หรือหนังสื่อต่างๆ หรือการค้นหาข้อมูลในกูเกิ้ล ในการเขียนเนื้อเรื่องควรคำนึงสิ่งต่างๆ ดังต่อนี้

– ใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องตามความหมาย ใช้ตัวสะกดถูกต้องตามพจนานุกรม สิ่งนี้สำคัญมาก บางท่านเขียนบทความได้ดี แต่เขียนผิดหลายจุด เมื่อส่งงานไปยังผู้จ้างแล้ว ทำให้ผู้จ้างต้องมาแก้ไขคำเอง ซึ่งอาจจะมีผลกับการจ้างงานในครั้งต่อไปได้ ฉะนั้นเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ต้องตรวจทานก่อนอีกรอบนะครับ
– ใช้สำนวนให้เหมาะกับเรื่อง เช่น ใช้ถ้อยคำที่เป็นทางการ ใช้ศัพท์เฉพาะในการเขียนบทความทางวิชาการ
– หลีกเลี่ยงภาษาปาก หรือคำแสลงในการเขียนบทความ
– ถ้าเป็นบทความวิชาการต้องมีข้อมูลการอ้างอิงประกอบเรื่อง เพื่อให้เข้าใจง่าย และน่าเชื่อถือ

สรุป

เป็นส่วนสุดท้าย เป็นส่วนที่แสดงทัศนะข้อคิดเห็นของผู้เขียน ว่าผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไร มีข้อแนะนำอย่างไร

วิธีการเขียนสรุป

ในการเขียนบทความในส่วนของการสรุป เราจะต้องสื่อให้ผู้อ่านทราบว่า บทความที่เขียนมานี้นั้นได้จบลงแล้ว การเขียนสรุปมีหลายแบบดังนี้

– สรุปด้วยคำถามที่ชวนให้ผู้อื่นคิดหาคำตอบ
– สรุปด้วยการแสดงความประสงค์ของผู้เขียน
– สรุปด้วยใจความสำคัญ
– สรุปด้วยการใช้คำกล่าว คำคม บทกวี
– สรุปด้วยการเล่นคำ

เรทราคาการเขียนบทความ

สำหรับเรทราคาการเขียนบทความภาษาไทยในตอนนี้ ถ้านับจาก MS Word ก็จะอยู่ที่ 500 คำ 50 บาท / 600 คำ 60 บาท ไปจนกระทั่ง 1000 คำ 100 บาท

แต่ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศก็จะแพงหน่อย อย่างเช่น ภาษาอังกฤษ ถ้านับจาก MS Word ก็จะอยู่ที่ 500 คำ 150 บาท ไปจนกระทั่ง 1000 คำ 300 บาท

ซึ่งราคานี้เป็นราคากลางเท่านั้น ผู้จ้างบางท่านอาจจะให้ราคาสูงกว่านี้ หรือถ้าเราไปเขียนบทความเฉพาะทาง ที่คนเขียนต้องพอมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีกครับ

บทความที่ขายได้เรื่อยๆ

บทความที่ขายได้เรื่อยๆ ก็จะเป็นบทความ

– สุขภาพ
– ความสวยความงาม
– ธุรกิจ การเงิน การทำมาค้าขาย

3 หมวดนี้ คุณเขียนตุนไว้เรื่อยๆ ยังไงก็ขายได้ จะมีคนมารับซื้อไปเรื่อยๆ

การต่อยอดการรับจ้างเขียนบทความ

หลังจากฝึกปรือฝีมือพอสมควรแล้วอยากจะลองเขียนบทความให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็สามารถทำได้ต่อไปครับ ลองค้นหาสำนักพิมพ์ที่รับบทความจากฟรีแลนซ์ดูนะครับ มีหลายบริษัท เลยหล่ะครับ

โพสต์เสนอขายตัวเอง อาจจะลองเขียนบทความสักบทความนำไปเสนอคนที่ว่าจ้าง ถ้าเขาชอบ เราก็ได้งาน ก่อนที่เราจะเสนอเพื่อรับงาน แนะนำให้เลือกบทความที่เราถนัดก่อนในครั้งแรกนะครับ เพราะถ้าเราเริ่มจากที่เราถนัด เราจะได้ไม่รู้สึกว่ายากจนเกินไป และเราจะเขียนได้ดี บางคนมีงานระยะยาวให้ อย่างนี้แล้วเราก็จะได้งานเรื่อยๆ ครับ หรือถ้าเรามีบล็อกเป็นของตัวเองก็สามารถส่งให้คนที่จะจ้างเราดูผลงานที่ผ่านมาได้ครับ

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

สิ่งแรกเลย ถ้าเราไม่ค่อยเก่งภาษาไทย เราก็ต้องอ่านเยอะๆ อ่านจากไหน ก็ในกูเกิ้ลนี่ล่ะครับ อ่านในสิ่งที่เราไม่รู้ ค้นหา แล้วก็อ่าน อย่างน้อยให้ผ่านตาก็ยังดี แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นสำนวนของเราเอง หรืออาจจะขอใช้สำนวนบางสำนวนที่เราชอบ ที่เราอ่านเจอ แต่ไม่ใช่ลอกมาทั้งหมด อันนี้ไม่สนับสนุนนะครับ

เราต้องขยัน ซื่อสัตย์ และตรงต่อเวลานะครับ โดยเฉพาะการตรงต่อเวลา เพราะงานบางอย่างจากนายจ้าง บางงานเค้าก็รีบ บางงานเค้าก็ให้เวลาเรามากหน่อย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนายจ้างของเรานั่นล่ะครับ เพราะถ้าเราทำไม่ดี เราอาจจะไม่ได้งานจากที่นี่อีกเลยครับ ถ้าเราทำงานดี เราก็จะมีงานป้อนเข้ามาเรื่อยๆ เลยล่ะครับ โดยบางครั้งหากคนที่เราเคยทำงานด้วย และเค้าชอบผลงานเรา เค้าก็อาจจะสนับสนุนเรา โดยการให้งานให้เราเพิ่มขึ้น หรืออาจจะมีเงินโบนัสเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเข้ามาในค่าจ้างก็เป็นได้นะครับ

ตลาดซื้อขายบทความในไทย

ของไทยมีอยู่หลายที่เลยครับ

1. www.thaiseoboard.com เราสามารถเข้าไปดูงานที่ www.thaiseoboard.com ในหัวข้อ “อยากซื้อ-ประกาศหาลูกจ้าง” จะมีหัวข้อมากมาย เราสามารถเลือกได้ว่าเราถนัดอันไหน
2. www.fastwork.co เป็นเว็บหางาน freelance ชื่อดัง ที่นี่เราสามารถเข้าไปสมัครเป็น freelance รับเขียนบทความได้ โดยทุกงานที่เราได้รับ ทาง fastwork.co จะหักรายได้ของเรา 17% ที่นี่มีผู้เข้ามาใช้บริการค่อนข้างเยอะครับ
3. www.facebook.com/groups/thaicontentmarket กลุ่มซื้อขายบทความ มีบทความเจ๋งๆ ไปขายเท่าไหร่ก็หมด
4. www.facebook.com/groups/618282324867615 นี่เป็นอีกกลุ่มที่ขายบทความได้เรื่อยๆ ครับ

ตลาดซื้อขายบทความในเมืองนอก

สำหรับคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี อาจจะไม่ได้ดีมาก แต่สามารถเขียนได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ฝรั่งอ่านเข้าใจได้ ต้องการจะเขียนบทความภาษาอังกฤษ สามารถดูได้ที่

1. www.freelancer.com ที่เว็บไซต์นี้สำหรับฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ เราต้องสมัครเป็นสมาชิก และเข้าไปประมูลงาน (bid) ที่เราสนใจ โดยราคาที่ประมูลมีตั้งแต่ถูกจนถึงแพง บางครั้งรับเป็นงานๆ และคิดในอัตราเป็นชั่วโมงเลยก็มี เค้าจ่ายเป็นเงินดอลลาร์นะครับ
2. www.iwriter.com ราคาที่จ้างในเว็บนี้ค่อนข้างถูก เริ่มต้นตั้งแต่ 1 ดอลลาร์ เป็นต้นไป และมีเพิ่มราคาให้ในกรณีที่เรามีประสบการณ์ และมีความชำนาญหรือมีทักษะเพิ่มขึ้นให้ด้วยนะครับ
3. www.realwritingjobs.com ราคาที่เว็บนี้ถือว่าได้ราคาดีทีเดียว มีตั้งแต่บทความละ 5 ดอลลาร์ เป็นต้นไป แต่การจะสมัครเป็นสมาชิก ต้องเสียค่าสมัคร 34 ดอลลาร์ (50%) หรือประมาณ 1066.87 บาท ซึ่งผู้เขียนแนะนำสำหรับมืออาชีพเท่านั้นครับ
4. www.fiverr.com ที่นี่ทุก order ราคา 5 ดอลลาร์ ส่วนใหญ่จะรับจ้างเขียนกันอยู่ที่ 500 คำ เราสามารถกดปุ่มเพิ่ม option เสริมเข้าไปได้ เช่น รับเขียน 1000 คำ แต่ต้องเพิ่มเงินใน order นี้อีก 5 ดอลลาร์ รวมราคาที่ต้องจ่ายใน order นี้ 10 ดอลลาร์ เป็นต้น ซึ่งที่นี่จะหักเรา 20% ในแต่ละ order และให้เรา 80% ซึ่งก็ดูน่าสนใจอยู่นะครับ
5. www.seoclerks.com สำหรับที่นี่เราสามารถกำหนดราคาการเขียนได้เอง จะตั้งราคาสูงเท่าไหร่ หรือราคาต่ำเท่าไหร่ก็ได้ ต่ำสุดจะอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ อยู่ที่ว่าเราจะตั้งราคาการเขียนบทความของเราไว้ในระดับไหน

error: Content is protected !!