วิธีการทำธุรกิจที่สิงคโปร์ พร้อมสินค้ายอดฮิตที่นำเข้าและส่งออกไปสิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์
 

ในบทความนี้ก็จะบอกเล่าถึงแนวทางการทำธุรกิจที่ประเทศสิงคโปร์ว่าดีอย่างไร อะไรน่าลงทุน บทความนี้ยาว เน้นเนื้อไม่น้ำ เชิญอ่านได้เลยครับ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีนักลงทุนสนใจมาลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 นักลงทุนโดยส่วนใหญ่มากมาจากเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร โดยธุรกิจที่ชาวต่างชาตินิยมเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์มากที่สุด คือ ธุรกิจสาขาการเงินและการประกันภัย ธุรกิจสาขาการผลิต และธุรกิจสาขาการก่อสร้าง

สิงคโปร์ตั้งอยู่บนภูมิศาสตร์ที่เหมาะแก่การค้า เป็นที่ทำการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ สิงคโปร์เป็นเกาะตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ทางใต้สุดของคาบสมุทรมาเลย์ ติดกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ขนาดพื้นที่รวม 697 ตารางกิโลเมตร (ในขณะที่เกาะภูเก็ตของไทย 543 ตารางกิโลเมตร) และเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก ทรัพยากรในประเทศมีอยู่อย่างจำกัด มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจสูง ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบค่อนข้างสูงและขาดแคลนแรงงานระดับล่าง สิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ล้วนเป็นจุดอ่อนของประเทศสิงคโปร์ แล้วปัจจัยใดบ้างที่ส่งเสริมให้ประเทศสิงคโปร์ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศที่เหมาะแก่การลงทุนมากที่สุดในโลกและเป็นประเทศที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

ข้อดีในการทำธุรกิจที่ประเทศสิงคโปร์

– ในส่วนของการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาตินั้น รัฐบาลของสิงคโปร์ได้สนับสนุนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นเจ้าของธุรกิจประเภทต่างๆ ได้ 100% ยกเว้นเพียงกิจการประเภทการกระจายเสียง การจัดสรรคลื่นความถี่ และประเภทกิจการด้านหนังสือพิมพ์
– นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในสิงคโปร์ได้
– นโยบายด้านการลงทุนจากต่างประเทศของสิงคโปร์ มีความชัดเจน แน่นอน การเมืองมีความมั่นคง และประชากรเป็นแรงงานที่มีฝีมือ
– จากการพิจารณาหลายๆ ปัจจัย ทั้งในด้านแรงงาน การเมือง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทำให้สิงคโปร์ได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับโลกเกี่ยวกับศักยภาพการลงทุนในด้านต่างๆ
– สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ของโลกด้านกลยุทธ์ส่งเสริมการขายเพื่อการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (fDi Asia-Pacific Cities of the Future 2011/12)
– สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการลงทุนทั้งทางกายภาพ และระบบดิจิตอล ในขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นที่ติดอันดับ คือ มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 7 ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับ ที่ 8  (fDi Asia-Pacific Cities of the Future 2011/2012) นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็น อันดับ 1 ในด้านประเทศที่ง่ายต่อการลงทุน (Doing Business 2012 Report, World Bank) อีกด้วย
– สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ในด้านการวัดมูลค่าประสิทธิภาพของแรงงาน (BERI Report 2011-l)
– สิงคโปร์มีโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และนับได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก
– สิงคโปร์เป็นอันดับ 2 ของโลกในด้านประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุด และ เป็นอันดับ 7 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชียที่มีการคอรัปชั่นน้อยที่สุด (IMD World Competitiveness Yearbook 2011) รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ มีการจ้างงานมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ เสริมสร้างความหลากหลายให้กับภาคการผลิตต่างๆ และภาคบริการ
– สิงคโปร์มีนโยบาย Regionalization คือ จะทำการค้าและการลงทุนกับประเทศในเอเชียมากขึ้น
– สิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญในการจัดการทรัพยากรบุคคล บริหารจัดการธุรกิจ เป็นตลาดเทคโนโลยีของเอเซียแห่งหนึ่ง มีจุดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้ง ทำให้เป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก
– นโยบายการค้าตลาดเสรี ไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า มีแต่การเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) ร้อยละ 5 (ยกเว้นสินค้า 4 รายการที่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า คือ เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ บุหรี่และยาสูบ น้ำมันปิโตรเลียม รถยนต์และรถจักรยานยนต์)
– สิงคโปร์เป็นแหล่งกระจายสินค้าไทยไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก
– รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนให้นักธุรกิจใช้ระบบ e-Government ทำให้การจัดตั้งธุรกิจสามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และยังมีบริการด้านเอกสารต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์
– มีระบบ Logistics ที่มีประสิทธิภาพ และมีความพร้อม ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
– มีระบบ Supply Chain ครบวงจรระดับมาตรฐานสากล
– ผู้ประกอบการ ของสิงคโปร์ส่วนใหญ่เป็น Trading Firm ที่นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก สามารถเป็นฐานกระจายสินค้าไทยไปในภูมิภาคและทั่วโลก
– มีทำเลที่ตั้งเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก มีเครือข่ายธุรกิจกับคนสัญชาติจีนในประเทศต่างๆ ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ
– สามารถจัดตั้งธุรกิจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจคล่องตัว เนื่องจากสิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย อัตราภาษีที่แข่งขันได้ และบุคคลากรมีความรู้/ความชำนาญระบบการทำงานที่เป็น ระเบียบและมีประสิทธิภาพ
– ใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการส่งออกต่อ (re-export) สินค้าไทยไปสู่ประเทศที่สาม โดยอาศัยจุดแข็งของสิงคโปร์ในด้านการจัดการ การตลาดการเงิน/ธนาคาร การสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการด้าน Supply Chain ในระดับมาตรฐานโลก
– เป็นตลาดการค้าเสรีที่นักธุรกิจต่างชาติสนใจมาลงทุนจำนวนมากและ มีความหลากหลายในภาคธุรกิจส่งผล ให้บริษัทไทยมีโอกาสประกอบ ธุรกิจทั้งในสิงคโปร์และสามารถต่อยอดเพิ่มได้อีกในประเทศของนักธุรกิจต่างชาติอื่นๆที่เข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ อีกทั้งได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายกับบริษัทต่างชาติอื่นๆ ด้วย
– นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางด้านการเงินแห่งหนึ่งของโลก การค้าเงินในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของสิงคโปร์มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว
– ปัจจุบันบริษัทธุรกิจข้ามชาติต่างๆ ไม่น้อยกว่า 7,000 แห่ง มีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์
– นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการรองรับบริษัทข้ามชาติสำหรับการลงทุน ทั้งเงินทุนจากรัฐบาล ศูนย์วิจัย การยกเว้นและลดหย่อนภาษี จึงทำให้สิงคโปร์มีความน่าสนใจและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการดำเนินธุรกิจย่านอาเซียน
– ผลผลิตทางเกษตรนั้นไม่พอเพียงกับความต้องการของประชากรในประเทศ จึงต้องสั่งซื้ออาหารจำพวก ข้าว ผัก ผลไม้ เครื่องเทศ จากต่างประเทศเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากประเทศไทย

ข้อเสียในการทำธุรกิจที่ประเทศสิงคโปร์

– แม้สิงคโปร์เป็นตลาดเล็ก แต่ประชากรมีรายได้สูง จึงนิยมสินค้าที่มีคุณภาพสูง มากกว่าคำนึงถึงราคาของสินค้า
– พื้นที่บนเกาะสิงคโปร์มีจำกัด ราคาค่าเช่าที่จึงแพงกว่าไทยหลายเท่า นักลงทุนต้องคำนวณค่าใช้จ่ายให้ดี
– สิงคโปร์มีข้อกำหนด เรื่องการจ้างงานแรงงานต่างชาติ โดยอนุญาต ให้จ้างแรงงานต่างชาติได้เพียง 5% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด (ยกเว้นแรงงานจากประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่สามารถจ้างได้ถึง 40%) จึงเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจที่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างชาติ ในสัดส่วนที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในธุรกิจบริการ
– สิงคโปร์เป็นประเทศที่เปิดให้มีการค้าอย่างเสรี ทำให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ที่สำคัญสิงคโปร์ยังเป็นประเทศเล็ก มีประชากร 5 ล้านคน การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสินค้าไทยในสิงคโปร์ จึงต้องแข่งขันกับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย

นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์ เป็นประเทศที่ให้ความเท่าเทียมกัน ระหว่างนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถลงทุนได้ 100 % เกือบทุกสาขา ยกเว้นเพียงด้านการกระจายเสียง และการจัดสรรคลื่นความถี่ (สูงสุดไม่เกิน 49 %) กิจการด้านหนังสือพิมพ์ (ไม่เกิน 5 %) ส่วนกิจการที่ห้ามนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ได้แก่ ธุรกิจด้านกฎหมาย และการประกอบอาชีพทนายความ รวมถึงบางสาขาที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิสาหกิจของรัฐ นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในสิงคโปร์ รวมถึงไม่มีการควบคุมการโอนเงินตราต่างประเทศ และผลกำไรในการประกอบธุรกิจออกนอกประเทศ

 

การทำธุรกิจที่ประเทศสิงคโปร์
 

การหาลู่ทางทำธุรกิจที่ประเทศสิงคโปร์

– แม้ว่าสิงคโปร์จะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนกันได้อย่างเสรี และมีธุรกิจร้านค้าเปิดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่สิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพที่สูง และค่าเช่าสถานที่แพง ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องตั้งราคาสินค้าที่สูงตามไปด้วย ดังนั้นผู้ที่จะลงทุนทำธุรกิจจึงต้องมีเงินทุนมากพอ หรือหากไม่เป็นเช่นนั้นก็ควรมีการทำธุรกิจร่วมทุนกับคนท้องถิ่น ซึ่งก็จะช่วยให้สามารถประคับประคองธุรกิจได้ง่ายขึ้น
– ตัวช่วยสำคัญของผู้ประกอบการคือการเรียนรู้มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีอยู่หลายโครงการเช่น PIC (Productivity and Innovation Credit) ที่อยู่ในรูปการให้เงินสนับสนุน หรือ SPRING Singapore ที่ให้เงินอุดหนุนแก่ธุรกิจมากถึง 70 % แต่ทั้งนี้ธุรกิจนั้นก็ต้องตรงตามกฏเกณฑ์ที่ทางหน่วยงานเขากำหนดไว้ด้วย
– ธนาคารโลกเปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ.2559 ธุรกิจในสิงคโปร์มีสัดส่วนภาษีต่อกำไรอยู่ที่ร้อยละ 18.4 ซึ่งเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ค่าเฉลี่ยที่ราวร้อยละ 33.5 และที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนให้นักธุรกิจใช้ระบบ e-Government ทำให้การจัดตั้งธุรกิจสามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และยังดำเนินการต่างๆ และเอกสารผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นที่สำคัญอย่างเมืองท่าของโลกที่มีระบบโลจิสติกส์และ Supply Chain ครบวงจรระดับมาตรฐานสากล
– การหาพันธมิตรคู่ค้าที่ดี โดยเฉพาะที่ปรึกษาที่ให้ข้อมูล และตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทในสิงคโปร์ เพื่อการอำนวยความสะดวกทางเอกสาร และพิธีการทางศุลกากร
– กิจการที่คนไทยไปทำที่สิงคโปร์มักจะเป็นการ take over กิจการที่มีอยู่แล้ว โดยมหาเศรษฐีชาวไทย ซื้อเพื่อเอาไปต่อยอด
– ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลทางธุรกิจก่อนส่งออกสินค้า อาจจะเริ่มจากข้อมูลพื้นฐานทั่วไป และตามด้วยการศึกษาข้อมูลด้านการตลาด โลจิสติกส์ ข้อมูลรายชื่อคู่แข่ง และข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบการท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและสินค้าเพื่อนำเสนอต่อคู่ค้าชาวสิงคโปร์
– ธุรกิจในสิงคโปร์นั้นมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ผู้ประกอบการต้องติดตามข่าวสารทางธุรกิจต่างๆ ไม่แต่จำเพาะในสาขาธุรกิจของตน เพื่อดูทิศทางธุรกิจของสิงคโปร์ในขณะนั้นๆ และการปรับตัวในธุรกิจของตนเองที่จะก้าวไปข้างหน้าให้ได้มากขึ้น

การทำการตลาดที่ประเทศสิงคโปร์

– หลายคนอาจคิดว่าการขยายธุรกิจ หรือส่งออกสินค้าไปสิงคโปร์เป็นเรื่องยากที่จะไปแข่งขันกับเจ้าถิ่น ซึ่งสิงคโปร์นับว่าเป็นตลาดหลักของอาเซียน และเป็นประเทศที่มีความท้าทายในการทำธุรกิจสูง เนื่องจากสิงคโปร์เป็นตลาดที่น่านำสินค้าไปทดลองตลาดก่อนสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยทำธุรกิจกับชาติตะวันตกอย่างในยุโรป ซึ่งการที่สินค้าจะวางขายในสิงคโปร์ได้นั้นยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของตราสินค้า มากกว่าสินค้าที่วางขายอยู่ในประเทศอื่นๆ ของอาเซียน
– การที่จะวางขายสินค้าในประเทศสิงคโปร์ได้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ผู้ประกอบการก็ต้องมีความแข็งแกร่งด้วย เพราะว่าผู้บริโภคสิงคโปร์สนใจและนิยมสินค้าที่มีแบรนด์อย่างมาก แต่หากสามารถเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ และมีศักยภาพมากพอที่จะแข่งขันกับรายอื่นได้ ก็สามารถขยายการค้าให้เติบโตในระดับโลก จนเป็นที่ยอมรับในประเทศอื่นๆ ได้ เพราะสิงคโปร์เป็นประตูการค้าที่สำคัญต่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
– ผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับตลาด ชาวสิงคโปร์มีรสนิยมหรูหรา ใช้สินค้ามีคุณภาพ และแบรนด์เนม ไลฟ์สไตล์ทันสมัย ตามเทรนด์ตลอดเวลา
– ตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดให้ทัน เนื่องจากตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดที่เน้นกระแส ทำให้ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางรวดเร็ว อาจจะใช้การวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ
– เน้นการบริการที่ดี ควบคุมการผลิต ส่งออก จัดส่งสินค้าให้ตรงตามระยะเวลา รักษาระดับคุณภาพ และกำหนดราคาให้สามารถแข่งขันได้
– ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยช่วยในการผลิตสินค้าของบริษัทเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า
– สำหรับผู้ที่เริ่มกิจการใหม่โดยเริ่มจาก 0 ที่สิงคโปร์นับว่ายากพอสมควรที่จะฝ่ากระแสการแข่งขันที่สูงมากในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามทุกการแข่งขันย่อมมีโอกาส โดยใช้ไอเดียดีๆ เข้าสู้ เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นได้ผลิตสินค้าแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาไม่เหมือนใคร การตั้งต้นทำธุรกิจที่สิงคโปร์ก็ต้องใช้สินค้าแปลกๆ ใหม่ๆ เข้าไปตีตลาด ผู้ประกอบการต้องไปคิดวางแผนมามากๆ
– ลำพังมีเพียงเงินทุนคงอยู่ไม่รอด สิ่งสำคัญคือการทดสอบตลาดว่าสิ่งไหนเป็นสินค้าที่คนสิงคโปร์มีความต้องการ หากเป็นไปได้อาจมีการจ้างนักการตลาดมืออาชีพในการเป็นที่ปรึกษา จะทำให้ธุรกิจของเราเป็นไปแนวทางที่ได้รับผลกำไรมากขึ้น
– พื้นที่ค่าเช่าในการเปิดร้านค้าต่างๆ แพงมาก ถ้าเราสู้ราคาไม่ไหว เราอาจจะไปเปิดร้านในทำเลรอง เพื่อจะได้ค่าเช่าที่ถูกกว่าทำเลหลัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในทำเลรอง คนอาจจะน้อยกว่า ผลกำไรก็อาจจะน้อยตามไปด้วย หรือเราอาจจะเลี่ยงไปเปิดเป็นร้านค้าออนไลน์แทน เมื่อมีคนซื้อ ค่อยส่งสินค้า แล้วก็หาโกดังเก็บสินค้าไว้สักที่ เช่าแต่โกดังเก็บของ ไม่ต้องมีหน้าร้าน ซึ่งในปัจจุบันนี้ชาวสิงคโปร์นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมาก

แนะนำการทำธุรกิจไทยในสิงคโปร์

จากภาพรวมข้างต้น จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ประกอบกับข้อจำกัดด้านพื้นที่ ทำให้การลงทุนของไทยในสิงคโปร์เป็นไปได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร หรืออุตสาหกรรม ส่วนที่อาจเป็นไปได้บ้างคือ ด้านบริการที่ไทยมีความชำนาญ เช่น ร้านอาหารไทย ร้านสปาและนวดแผนไทย เป็นแนวทางหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ ส่วนรายละเอียดดังนี้คือ

เปิดร้านอาหารไทย

ชาวสิงคโปร์นิยมทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องเวลา อีกทั้งวันหยุดก็มักพาครอบครัว ออกไปทานอาหารตามภัตตาคาร หรือร้านอาหารต่างๆ รวมไปถึงการที่ชาวสิงคโปร์ได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย ซึ่งในแต่ละมีนักท่องเที่ยวสิงคโปร์เดินทางเข้ามามากถึง 7-8 ล้านคน บุคคลเหล่านี้ล้วนคุ้นเคย และประทับใจกับรสชาติอาหารไทยมาก่อนแล้วทั้งสิ้น การทำธุรกิจร้านอาหารไทย จึงเป็นกิจการหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย อีกทั้งสิงคโปร์ยังไม่มีกฎหมาย หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสัดส่วนผู้ลงทุนต่างชาติในการประกอบธุรกิจร้านอาหารแต่อย่างใดอีกด้วย

เปิดร้านสปาและนวดแผนไทย

ร้านสปากำลังได้รับความนิยมทั่วโลก ไม่ยกเว้นแม้แต่ในสิงคโปร์ จึงเป็นโอกาสของธุรกิจสปาไทยที่จะขยายตัวสู่สิงคโปร์ ด้วยความเมื่อยล้าในการทำงาน ชาวสิงคโปร์นิยมนวดสปาเพื่อผ่อนคลาย สปามีบทบาทในตลาดสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เริ่มจากเพื่อรองรับลูกค้าในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ ต่อมาจึงขยายบริการไปสู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจุบันสปากลายเป็นธุรกิจยอดนิยมประเภทหนึ่งในสิงคโปร์ โดยมีผู้ประกอบการกว่า 300 ราย อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 หน่วยงาน Workforce Development Agency ได้ออกระเบียบกำหนดมาตรฐานใหม่ ภายใต้ National Skills Recognition System (NSRS) โดยกำหนดเงื่อนไขการเป็น Spa Therapist ว่าจะต้องผ่าน 3 หลักสูตรต่อไปนี้ด้วย คือ

– Provide Full Body Massage without Oil
– Perform Manicure Pedicure
– Perform Face Treatment

วิธีการเปิดธุรกิจใหม่ในสิงคโปร์

1. สำหรับการเปิดธุรกิจใหม่ในสิงคโปร์ ผู้ประกอบจำเป็นต้องศึกษาประเภทกิจการ หรือธุรกิจที่สนใจ ทั้งจากเอกสาร การเดินทางไปสำรวจลู่ทางการลงทุนด้วยตนเอง รวมถึงรับคำแนะนำจากบริษัทที่ปรึกษา แล้วนำมาประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) และตัดสินใจว่าจะลงทุนเองทั้งหมด หรือลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น
2. ผู้ประกอบการที่จะเปิดธุรกิจใหม่ จะต้องยื่นเอกสารเป็นรายงานข้อเสนอโครงการ (Proposal) เพื่อขออนุมัติดำเนินธุรกิจ และจดทะเบียนชื่อกิจการต่อ ACRA (Accounting and Corporate Regulatory Authority) ซึ่ง ACRA จะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติประมาณ 14-60 วัน โดยผู้ประกอบการจะจัดตั้งบริษัทสามารถมอบอำนาจให้สำนักงานทนายความในสิงคโปร์ เป็นตัวแทนในการจดทะเบียนบริษัท
3. เมื่อได้รับอนุมัติจดทะเบียนชื่อกิจการแล้ว ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทต่อ ACRA ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน
4. เมื่อ ACRA พิจารณาแบบคำขอจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว ACRA จะส่งแบบฟอร์มการยื่นขอจดทะเบียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– หน่วยงานแรกคือ กระทรวงการสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment) เพื่อขออนุญาตประกอบธุรกิจ
– หน่วยงานที่สองคือ กระทรวงแรงงาน (Ministry of Manpower) เพื่อขออนุญาตนำแรงงานไทยเข้ามาทำงานในสิงคโปร์
5. หากมีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าส่งออกจาก International Enterprise Singapore ด้วย
6. หลังจากได้รับอนุญาตจากหน่วยงานนั้นๆ เรียบร้อยแล้ว บริษัทจึงสามารถเปิดดำเนินกิจการได้

ส่งออกสินค้าอะไรไปประเทศสิงคโปร์ดี

สินค้าส่งออกหลักของไทยไปสิงคโปร์ ได้แก่

– น้ำมันสำเร็จรูป
– อัญมณีและเครื่องประดับ
– แผงวงจรไฟฟ้า
– เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และส่วนประกอบ
– เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ
– ข้าว ผัก และผลไม้
– อาหารกระป๋อง อาหารทะเล
– ซ๊อส และเครื่องปรุงรสอาหาร

นำเข้าสินค้าอะไรจากสิงคโปร์มาขายดี

สินค้าที่ไทยนำเข้าเป็นหลักจากสิงคโปร์ ได้แก่

– เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ
– น้ำมันสำเร็จรูป
– เคมีภัณฑ์
– แผงวงจรไฟฟ้า
– พืช และผลิตภัณฑ์จากพืช

ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์

ตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์ ได้แก่ ฮ่องกง มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย จีน
ตลาดนำเข้าที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์ ได้แก่ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น
สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์ ได้แก่ แร่เชื้อเพลิงและพลังงาน น้ำมันดิบ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องบิน และอุปกรณ์ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์เครื่องวิทยุและโทรทัศน์และเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้าโดยนำเข้าจากประเทศที่สำคัญๆ ได้แก่ สหภาพยุโรป มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย ไทย และอินเดีย
สินค้านำเข้าที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์ไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทำให้สินค้าส่งออกหลักของสิงคโปร์ คือ การส่งออกต่อ (Re-export) ของสินค้าต่างๆ เช่น สินค้าปิโตรเลียม อาหารและเครื่องดื่ม เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์สินค้าที่เกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคมเครื่องจักรยนต์ ซึ่งมีประเทศที่เป็นตลาดสำคัญได้แก่ มาเลเซีย สหภาพยุโรป ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน และไทย

สรุป

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะมีจุดอ่อนในแง่ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ต่างจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่สิงคโปร์ ก็มีความโดดเด่นที่สุดในอาเซียน ในด้านการบริหารจัดการภายใน การเพิ่มประสิทธิภาพสิ่งต่างๆ และความมั่นคงด้านการเมือง จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก สิ่งที่หลายๆ ประเทศในอาเซียน ควรนำมาพิจารณาเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี คือ การใช้ภาษากลางของโลกในการสื่อสาร การเรียนรู้เพื่อเพิ่มทุนมนุษย์ สร้างประสิทธิภาพการทำงาน แรงงาน สร้างความมั่นคงทางการเมือง เพิ่มความโปร่งใสในทุกระดับธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านต่างๆ ให้มีมาตรฐาน ซึ่งผลที่จะตามมา คือ ชื่อเสียงและการได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

สำหรับการไปลงทุนทำธุรกิจที่ประเทศสิงคโปร์ โดยในบทความนี้ ถือได้ว่าเป็นเนื้อหาคร่าวๆ โดยรวมเท่านั้น ผู้ประกอบการที่สนใจจะไปลงทุนที่ประเทศสิงคโปร์ควรจะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ในหลายๆ แง่ หลายๆ มุม เพราะที่สิงคโปร์ถ้าที่ผมไปบอก การแข่งขันทางธุรกิจสูงมาก เงินในกระเป๋าของท่านมีความหมาย ผมไม่อยากให้ท่านพลาด อยากให้ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ สู้กับเจ้าถิ่นที่ครองตลาดอยู่ก่อนแล้วได้ ผมเชื่อว่าหนทางนี้ยังมีช่องว่างอยู่เสมอ และท่านก็จะไปปักธงชัยแห่งความสำเร็จที่นั่น ความสำเร็จแลกมาด้วยความเหนื่อยยาก แต่ไม่ไกลเกินเอื้อมครับ

error: Content is protected !!