ในบทความนี้ก็จะมาพูดถึงการขายขนมน้ำดอกไม้ พร้อมสูตรวิธีทำขนมน้ำดอกไม้ ซึ่งถ้าเราพูดถึงขนมน้ำดอกไม้แล้วหล่ะก็ ขนมน้ำดอกไม้เป็นขนมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ด้วยรสชาติของขนมที่หอมหวาน อร่อย บวกกับสีสันสวยงามที่อยู่บนตัวขนม ซึ่งที่จริงแล้วขนมน้ำดอกไม้สามารถทำได้ง่ายมาก ไม่ยากอย่างที่คิด ส่วนผสมก็มีไม่มาก แต่ก็มีเทคนิค และเคล็ดลับนิดหน่อยในขั้นตอนการทำขนม ซึ่งผู้อ่านสามารถลองทำตามดูได้เลยครับ
สูตรวิธีการทำขนมน้ำดอกไม้ สูตรที่ 1
ส่วนผสมขนมน้ำดอกไม้
– แป้งข้าวเจ้า ครึ่งถ้วย
– แป้งมันสำปะหลัง 2 ช้อนโต๊ะ
– น้ำลอยดอกมะลิ 3/4 ถ้วย
– น้ำตาลทราย 1/4 ถ้วย
– สีผสมอาหาร หรือสีจากธรรมชาติ (สีขึ้นกับเราว่าจะทำขนมน้ำดอกไม้ออกมาสีไหน)
วิธีการทำขนมน้ำดอกไม้
– เรามาเริ่มต้นกันเลย ขั้นแรกเราก็ต้องเทแป้งข้าวเจ้ากับแป้งมัน รวมกันไว้ในกะละมังใบเล็กๆ สักใบ ใช้ทัพพี หรือพายยางคนให้พอเข้ากันอย่างคร่าวๆ ครับ
– เสร็จแล้วนำไปร่อนที่ร่อนแป้ง 2 รอบครับ ร่อนเสร็จ ให้นำมาพักไว้ก่อน
– อันดับต่อมาให้เทน้ำตาลใส่ลงในกะละมังใบเล็กๆ สักใบ แล้วค่อยๆ เทน้ำลอยดอกมะลิตามลงไป ส่วนดอกมะลิให้เอาออกนะครับ และคนด้วยตะกร้อมือ คนไปจนน้ำตาลละลายหมดครับ
– เมื่อน้ำตาลละลายหมดแล้ว ก็ให้เทน้ำที่เราคนผสมน้ำตาลเมื่อสักครู่นี้ครับ ใส่ลงไปในกะละมังแป้ง ซึ่งการเทครั้งแรกให้ใส่น้ำลงไปแค่ครึ่งเดียวก่อนนะครับ และใช้ตะกร้อมือไปคนแป้งกับน้ำให้เข้ากัน จนไม่มีแป้งเป็นเม็ดๆ อยู่
– และเทน้ำส่วนที่เหลือใส่ลงไป และคนด้วยตะกร้อมืออีกครั้งให้เข้ากัน เท่านี้ก็เป็นอันใช้ได้ครับ
– ต่อจากนั้นให้แบ่งเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งเราจะทำการแบ่งเป็นสี 3 สี อันนี้แล้วแต่ท่านใดว่าจะทำขนมดอกน้ำดอกไม้กี่สีนะครับ
– สำหรับท่านใดที่ต้องการใช้สีจากธรรมชาติ แทนสีผสมอาหาร ก็สามารถทำได้เหมือนเดิมครับ หลักการเหมือนเหมือนขนมไทยชนิดอื่นๆ เช่น ต้องการให้ขนมน้ำดอกไม้ออกมาเป็นสีเขียว ก็ให้เราใช้น้ำใบเตยคั้นแทนน้ำเปล่า หรือต้องการให้ขนมน้ำดอกไม้ออกมามีสีฟ้าอ่อนก็ให้ใช้น้ำดอกอัญชันแทนน้ำเปล่าครับ
– หยดสีผสมอาหาร หรือสีจากธรรมชาติลงไป ซึ่งตอนหยดสี ต้องหยดอย่างระมัดระวัง อย่าหยดสีลงไปครั้งเดียวเยอะๆ เพราะสีมันจะเข้มมากจนอาจจะทำขนมน้ำดอกไม้ดูไม่น่ากิน และถ้าหยดสีเข้มเกิน จะไม่สามารถแก้ไขกลับมาให้เป็นสีอ่อนได้
– ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เราจึงจำเป็นต้องมีตัวช่วยก็คือ หลอดดูดน้ำ 1 หลอดเอามาตัดแบบให้ปลายหลอดเฉียง จำนวน 3 อัน 3 สี แล้วใช้หลอดแตะสีจากในขวดมาใส่ในส่วนผสมทีละนิด เมื่อเราหยดสีครั้งนึง ก็ให้คนสีเข้ากับส่วนผสมครั้งนึง ซึ่งถ้าเห็นว่าสีอ่อนเกินไป ก็ให้เอามาหยดเติมลงอีกทีละนิดๆ นะครับ
– เมื่อเราผสมสีเรียบร้อยแล้ว เราก็จะได้ส่วนผสมของขนมน้ำดอกไม้ออกมา
– ในระหว่างนี้ให้เราพักส่วนผสมเอาไว้ก่อน และเริ่มตั้งหม้อซึ้งบนเตาไฟ ใส่น้ำลงไปในก้นซึ้งประมาณ 3/4 ของหม้อ และให้ใช้ไฟแรง
– เมื่อน้ำเดือดแล้ว ก็ให้เราจัดเรียงถ้วยตะไลแบบปากแคบลงไปบนซึ้ง ซึ่ง 1 สูตร จะได้ประมาณ 20 ถ้วย ต่อด้วยการนำไปนึ่งอีกประมาณ 10 นาที หรือจนกระทั่งถ้วยร้อนเต็มที่ครับ
– ในระหว่างนี้ ให้เทส่วนผสมแต่ละสีใส่ถ้วยเล็กๆ เอาไว้ก่อน
– เมื่อถ้วยร้อนเต็มที่แล้ว ก็เปิดฝาซึ้งออก และหรี่ไฟลง ให้เหลือไฟอ่อนที่สุด เพื่อไม่ให้มีไอน้ำลอยขึ้นมาโดนมือเรา ขณะหยอดตัวขนม และก็หยอดตัวขนมลงไป จนเกือบจะเต็มถ้วย
– ต่อจากนั้นให้ปิดฝาซึ้ง เร่งไฟให้แรง และนึ่งเป็นเวลาประมาณ 12-15 นาทีครับ เมื่อ 12-15 นาทีผ่านไป ให้เราดับไฟเตา และเปิดฝาซึ้งทันที เราก็จะได้ขนมน้ำดอกไม้ออกให้เห็นโฉมแล้วหล่ะครับ
– แต่ถึงแม้ว่าขนมน้ำดอกไม้จะสุกแล้ว แต่เราก็ยังไม่สามารถนำไปรับประทานในตอนนี้ได้นะครับ จะต้องตั้งทิ้งไว้ รอให้ขนมหายร้อยก่อน เมื่อเราทิ้งขนมไว้ให้เย็นแล้ว ตรงกลางขนมจะบุ๋มตัวลงไป กว่าตอนที่ขนมสุกใหม่ๆ อีกด้วยครับ
– เมื่อขนมเย็นลงแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะต้องแคะขนมออกจากถ้วยครับ ค่อยๆ แคะออกมาวางไว้บนจานทีละอันๆ นะครับ
สูตรวิธีการทำขนมน้ำดอกไม้ สูตรที่ 2
ส่วนผสมขนมน้ำดอกไม้
– แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย
– แป้งมันสำปะหลัง 1/4 ถ้วย
– แป้งท้าวยายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ (ถ้าไม่มีก็ใช้แป้งมันสำปะหลังแทน)
– น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วยตวง
– น้ำลอยดอกมะลิ 1 3/4 ถ้วย
– กลิ่นมะลิครึ่งช้อนชา (สำหรับผู้ใช้น้ำสะอาดธรรมดา)
– สีผสมอาหาร (ตามที่เราชอบ)
วิธีการทำขนมน้ำดอกไม้
– ขั้นแรกให้เราเตรียมซึ้งเอาไว้ก่อน เอาซึ้งตั้งไฟให้แรง และใส่น้ำให้มากหน่อยนะครับ เพราะว่าเราจะใช้ไฟแรง
– วางเรียงถ้วยตะไลใส่ในซึ้ง และให้นึ่งถ้วยเปล่าประมาณ 15 นาที ให้ถ้วยร้อนจัดๆ ในระหว่างนั้นก็มาทำตัวขนมน้ำดอกไม้กัน
– ต่อมาให้เราทำน้ำเชื่อม ซึ่งวิธีการทำน้ำเชื่อมนั้นก็ไม่ยากเลยครับ ให้เราตวงน้ำตาลใส่หม้อ และใส่น้ำลอยดอกมะลิลงไปประมาณ 3/4 ของถ้วย รอให้ต้มจนน้ำตาลละลาย เราจะได้น้ำเชื่อมขนาด 3/4 ถ้วย และทิ้งเอาไว้ให้เย็น
– มาทำขนมน้ำดอกไม้กันต่อ ให้เราผสมแป้งทั้ง 3 ชนิดเข้าด้วยกัน คือ แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง และแป้งท้าวยายม่อม แล้วค่อยๆ รินน้ำ 1 ถ้วย ที่เหลือใส่ลงไป และก็ใช้อีกมือหนึ่งนวดแป้งไปด้วย ให้เราใส่น้ำไปนวดไป จนเนื้อแป้งเข้ากันดี ให้ทำจนกว่าน้ำจะหมด ซึ่งถ้าเราใช้น้ำเปล่าธรรมดา ก็สามารถใส่กลิ่นที่ขั้นตอนนี้ได้เลยครับ
– ต่อไปก็ใส่น้ำเชื่อมลงไป และให้คนน้ำเชื่อมให้เข้ากันกับแป้งที่เราได้นวดไว้
– เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำมาแบ่งออกใส่ถ้วย ตามประมาณสีที่ต้องการ แล้วหยดสีที่เราชอบใส่ลงไปนิดหน่อย
– เมื่อถ้วยร้อนจัดแล้ว ให้เราตักแป้งหยอดลงไป 3/4 ของถ้วย ก่อนที่จะตักแป้ง เราก็ต้องคนแป้งก่อนตักด้วยนะครับ มีข้อควรระวังคือ อย่าให้แป้งนอนก้นครับ
– นึ่งไฟแรงต่ออีกประมาณ 15 นาที ขนมที่ได้จะสุก แต่หน้าจะดูบุ๋มลงไปไม่มาก
– ขั้นตอนมา ขนมที่ได้ให้เราไปเอาไปหล่อเย็น อาจจะใส่น้ำแข็งลงไปเพื่อความเย็น หน้าขนมน้ำดอกไม้พอเย็นตัวก็จะค่อยๆ บุ๋มลงไปเอง
– เมื่อขนมน้ำดอกไม้ได้เย็นลงสนิทแล้ว ให้เราค่อยๆ แคะออกมาจากตะไล ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ข้อแนะนำเกี่ยวกับขนมน้ำดอกไม้
– ลักษณะของขนมน้ำดอกไม้ที่ดูสวยงาม จะต้องบุ๋มโค้งลึกเป็นวงกลมตรงกลาง และสีอ่อนสวยเป็นมันเงา มีความหอม นุ่มหวาน และก้นไม่เป็นไต
– การใช้แป้งเก่าจะทำให้หน้าขนมน้ำดอกไม้บุ๋มมาก เราอาจจะกรองแป้งก่อนนึ่งเพื่อให้เนื้อแป้งละเอียดขึ้น และกรองเอาเศษผงออก
– เมื่อนึ่งขนมเสร็จแล้วยกลง และทิ้งไว้ให้เย็นสนิท จึงค่อยแคะออกมาจากถ้วย ถ้าเราไปแคะออกตอนยังอุ่นอยู่ จะทำให้แป้งขรุขระ และทำให้ติดถ้วยไม่ร่อน
– เวลาผสมสี ให้เราดูลักษณะแป้งให้สีอ่อนไว้ก่อน เพราะเมื่อถึงเวลานึ่งสีจะดูเข้มขึ้น
การบรรจุกล่องขนมน้ำดอกไม้
– ให้บรรจุขนมน้ำดอกไม้ในภาชนะบรรจุที่สะอาด ปิดได้สนิท และสามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกที่อยู่ภายนอกได้
– น้ําหนักสุทธิ หรือจํานวนชิ้นของขนมน้ำดอกไม้ในแต่ละภาชนะบรรจุต้องไม่น้อยกว่าที่ระบุไว้ที่ฉลาก
เครื่องหมาย และฉลากขนมน้ำดอกไม้
ที่ภาชนะบรรจุขนมน้ำดอกไม้ทุกหน่วย อย่างน้อยต้องมีเลข อักษร หรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ ให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน
– ชื่อผลิตภัณฑ์ เช่น ขนมน้ำดอกไม้หอมหวาน ขนมน้ำดอกไม้แสนอร่อย
– ส่วนประกอบที่สำคัญ
– น้ำหนักสุทธิ หรือจำนวนชิ้น
– วัน เดือน ปีที่ผลิต และวัน เดือน ปีที่หมดอายุุ หรือข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน (วัน เดือน ปี) ”
– ข้อแนะนำในการเก็บรักษา เช่น ควรเก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
– ชื่อร้าน หรือบริษัท หรือสถานที่ทำ พร้อมสถานที่ตั้ง หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
– ในกรณีทีใช้ภาษาต่างประเทศ ต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น
การขายขนมน้ำดอกไม้
ปกติแล้ว เราจะเห็นขนมน้ำดอกไม้ อยู่ตามร้านของหวานต่างๆ ตัวขนมจะถูกวางอยู่บนถาดโฟมเล็กๆ สี่เหลี่ยมจตุรัส และถูกหุ้มด้วยพลาสติกอีกทีนึง หรือบางยี่ห้อก็ใส่กล่องพลาสติกแทน จะมีการวางไว้ในจุดที่เห็นได้สะดวก โดยเฉพาะแถวที่ชำระเงิน ซึ่งเป็นเพราะขนมชนิดนี้ เป็นขนมยอดนิยม ติดอันดับขนมไทยที่ขายได้เรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเป็นร้านขายขนมน้ำดอกไม้โดยตรง จะใช้วิธีการผลิตขนมภายใต้แบรนด์ต่างๆ และส่งไปจัดจำหน่ายยังร้านขนมไทย หรือร้านขนมหวานต่างๆ
ซึ่งถ้าท่านต้องการเข้ามาร่วมในตลาดขนมน้ำดอกไม้นี้ พื้นที่ก็ยังมีว่างให้ท่านได้เข้ามาจับจอง เป็นขนมไทยที่ขายได้อยู่เรื่อยๆ ขอเพียงท่านต้องนำขนมน้ำดอกไม้ที่ท่านผลิตขึ้นเข้าร้านค้าดังๆ ที่มีคนมาซื้อบ่อยๆ ให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่ารสชาติของขนมน้ำดอกไม้ที่ท่านทำต้องมีรสชาติอร่อย และสะอาด เพียงพอที่จะนำเข้าไปวางขายตามร้านขนมไทยต่างๆ ได้