บทความวิธีรับมือเจ้านายสารพัดรูปแบบ ก็เป็นเคล็ดลับสำหรับสร้างความสำเร็จในหน้าที่การงาน แน่นอนว่านอกจากความสามารถเฉพาะตัว บวกกับความขยันขันแข็งแล้ว การเข้ากับเจ้านายได้ดีก็เป็นอีกทางหนึ่ง ที่จะทำให้คุณพบกับความสำเร็จ ถึงขั้นได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งชนิดก้าวกระโดดได้ไม่ยาก
หากคุณเป็นคนที่รักความก้าวหน้า อยากก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นพร้อมกับได้รับเงินเดือนที่น่าพอใจ ไม่จำเป็นหรอกว่าต้องขยันตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อจะได้เข้างานก่อนใครในบริษัท หรือกลับบ้านเอาตอนสองทุ่มสามทุ่มเพื่อเอาหน้า การสร้างคะแนนไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น ไม่ว่าคุณจะทุ่มเทแค่ไหนถ้าเจ้านายไม่ชอบคุณ หรือไม่กินเส้นกับคุณเสียแล้ว บอกได้คำเดียวว่า ยากที่จะก้าวหน้า
เจ้านายแต่ละคนมีอุปนิสัยใจคอที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจได้ชื่อว่าเป็น นายจอมวีน นายจอมงก หรือนายฉลาดแต่ขี้โกง และอื่นๆ อีกมากมาย กลวิธีเข้าหานายจึงแตกต่างกันไป แต่อยากให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า การปรับตัวให้ไปกันได้ดีกับนายนั้น เป็นแค่การปรับตัวบางอย่าง ไม่ใช่ทั้งหมด อย่าลืมว่า คุณยังเป็นตัวคุณ ไม่ใช่คนอื่น ฉะนั้นอย่าสูญเสียความเป็นตัวเองจนใครต่อใครลากไปไหนก็ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคุณจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่พร้อมจะถูกเด้งออกจากออฟฟิศได้ง่ายๆ เช่นกัน
เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น มีความสุข และอนาคตก้าวไกล มาทำความรู้จักนายของตัวเองดีกว่า ดูซิว่า นายของเราเป็นคนประเภทไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จากนั้นเข้าให้ถูกทาง พยายามญาติดีเข้าไว้เป็นใช้ได้
เจ้านายผู้ไม่กล้าตัดสินใจ
“อะไรกัน!! จะให้ฉันตัดสินใจเหรอ…”
เจ้านายประเภทไม่กล้าตัดสินใจมักหาทางหลีกเลี่ยงการตัดสินใจอยู่ร่ำไป อาจมีการแสร้งทำเป็นป่วย (การเมือง) กุเรื่องปัญหาครอบครัวขึ้นมา ลาพักร้อนล่วงหน้า ยักย้ายกำหนดเดินทางไปติดต่อธุรกิจ เพื่อกันตัวเองให้ออกจากสถานการณ์ที่ต้องทำตัดสินใจ และเจ้านายจำพวกนี้ มักเที่ยวไปแย่งเอาความดีความชอบจากผลงานคนอื่นมาใส่ตัว โดยพนักงานที่มีฝีมือนี่แหละ เป็นเสมือนเครื่องมือของเจ้านายไร้ฝีมือ
“ช่วงเวลาหกปีที่ดิฉันทำงานเป็นลูกน้องเธอ ไม่เคยเลยที่เห็นเธอตัดสินใจครั้งสำคัญสักที นายคนนี้ทั้งขี้ตกใจและรู้สึกไม่มั่นคงตลอดเวลา เธอจึงต้องพึ่งลูกน้องระดับอาวุโสถึง 3 คน เพื่อช่วยในการตัดสินใจเสมอ และเมื่อเข้าตาจนก็มักเรียกดิฉันอยู่เรื่อย และดิฉันพลาดที่ให้เบอร์มือถือเธอไป ทำให้โทรศัพท์มาหาไม่ว่าเป็นเวลาไหนอย่างไม่มีความเกรงใจ เช่น คืนหนึ่งตอนเกือบเที่ยงคืนโทรมาหาดิฉัน เนื่องจากพรุ่งนี้เธอถูกเรียกให้เข้าประชุมด่วนตอนเช้าว่าด้วยแผนกลยุทธ์ของบริษัท แต่เจ้านายดิฉันไม่มีไอเดียอะไรแม้แต่น้อย เธอโทรมาขอให้ฉันช่วยคิดแก้ไขสถานการณ์ถึงครึ่งชั่วโมงกว่าที่เธอจะสามารถรวบรวมไอเดียมากพอที่จะไปโชว์ในที่ประชุม”
มัลลิกา สีชมภู ฝ่ายการตลาดของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ที่รู้สึกเหมือนว่า ตัวเองเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของเจ้านายเลยทีเดียว
กลยุทธ์รับมือ
ถ้าคุณหวังเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีทางเลือกชัด 2 ทาง คือ ขอย้ายไปอยู่หน่วยอื่น หรือไม่ก็หางานใหม่ทำ
อย่าไปขัดคอกับเจ้านายประเภทนี้ จนกว่าคุณพร้อมที่จะเดินหมากในครั้งต่อไปของตัวเอง
ไม่ว่าคิดจะทำอะไรก็ตาม อย่าเผลอแพร่งพรายให้เจ้านายคนนี้รู้เรื่องเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นอาจถูกขโมยไอเดียได้
สร้างพันธมิตรในบริษัทเข้าไว้และให้แน่ใจว่าฝ่ายบริหารระดับสูงรู้เรื่องผลงานที่คุณอุตส่าห์ทำไว้
เจ้านายจอมสั่ง
“ทำไมฉันต้องตัดสินใจเองล่ะ ในเมื่อใช้คนอื่นไปทำแทนก็ได้”
เจ้านายประเภทนี้จัดว่าไร้ความสามารถในการจัดระบบงานเพื่อทำให้สำเร็จ เลยใช้วิธีโยนให้คนอื่นทำซะเลย เพื่อให้พ้นตัว มองด้านดีอาจเหมือนว่า เวลาได้งานมาทำเท่าใด โอกาสที่คุณได้โชว์ความสามารถย่อมมีมาก แต่ระวังว่า คนได้รับความดีความชอบจะไม่ได้เป็นคุณ แต่กลับเป็นนายจอมสั่งของเราเสียเอง
กลยุทธ์รับมือ
เจ้านายประเภทนี้จะไม่ยอมสื่อสารให้ทราบว่า เขาหรือเธอคาดหวังอะไร เรียกว่าได้แต่สั่ง ฉะนั้นทำให้ชีวิตคุณให้ง่ายขึ้น ด้วยการพยายามถามนาย เพื่อสามารถจับทางให้ได้ว่า จะสามารถตอบต่อวัตถุประสงค์ของงานรวมถึงของเจ้านายได้อย่างไร
ไม่ได้รับทรัพยากรเพียงพอในการทำงาน เพราะมักถูกสั่งให้ทำโดยไม่ได้จัดเตรียมสิ่งใดไว้ให้ เพื่อหลักเลี่ยงปัญหาต่างๆ ควรแจ้งให้นายทราบ (เป็นลายลักษณ์อักษรยิ่งดี) ว่าจำเป็นต้องใช้อะไรบ้าง ถ้าไม่ได้งานก็จะไม่เสร็จตามเป้าหมาย ฉะนั้นจะมาตำหนิกันไม่ได้
หากถูกมอบหมายให้ทำงานที่อาจทำลายภาพพจน์ของคุณให้เกิดความเสื่อมเสียในสายตาของเพื่อนร่วมงานและบรรดาผู้จัดการ จงปฏิเสธอย่างสุภาพที่จะรับงานประเภทนี้ ให้เหตุผลไปว่า คุณมีงานล้นมือที่ต้องทำอยู่แล้ว
จำไว้ว่า…ไม่มีทางที่คุณจะทำให้เจ้านายประเภทนี้พอใจหรอก ไม่ว่าพยายามทำดีแค่ไหน ฉะนั้นทำใจยอมรับคำตำหนิเสียเถิด
ทำอย่างไรดีเมิ่อหัวหน้างานอารมณ์ร้าย
มีเพื่อนผมคนหนึ่ง ได้มาพูดคุยถามผมว่า ที่บริษัทของดิฉัน มีผู้อำนวยการท่านนึง แต่ดิฉันไม่ได้ under ด้วย ท่านเป็นคนอารมณ์ร้าย มักจะด่าลูกน้องต่อหน้าสาธารณะ จนลูกน้องร้องไห้ และลาออกไป 3 คนแล้วภายในครึ่งปีนี้ เห็นเพื่อนแล้วสงสาร ไม่รู้จะแก้ไขนิสัยท่านได้อย่างไร และไม่ได้สนิทด้วย
คำตอบก็คือ มีผู้ทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้เห็นแล้ว อย่ามัวรีรอที่จะพิจารณาว่า เราจะไม่มีวันเป็นอย่างนี้เด็ดขาด แผ่เมตตาให้เขา ไม่มีวิธีใดดีกว่านี้แล้ว ส่วนความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก เพราะเราไม่ได้เกิดมาเพื่อแก้ไขนิสัยของเขา เราทำหน้าที่ของเราให้ดี และไม่ควรไปเอาไม้ซีกงัดไม้ซุง ไม่เอาลูกกระพรวนไปผูกคอแมว ขอให้รวมกลุ่มสามัคคีในระดับคนทำงาน สามัคคีคือพลัง ยามระส่ำระสาย ต้องรวมใจมดเล็กๆ ไว้กัดช้าง
ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ต้องใช้กุศโลบาย ต้องใช้วิธีแยบยล เคยได้ยินว่า เสนาอำมาตย์ในประเทศจีน จะแก้นิสัยปรับทิฏฐิของผู้ที่อยู่สูงกว่า ยังไม่อาจบอกตรงๆ แต่ใช้วิธีเล่านิทานเปรียบเทียบ เปรียบเปรยให้ฟัง ให้ไปคิดเอง
คนในระดับเดียวกันกับเขา ชั้นนักบริหาร คงจะมองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร หัวหน้างาน หรือนักบริหาร ต้องมี พรหมวิหาร 4 และ ทศพิธราชธรรม 10 จึงจะปกครองคนได้ ความไม่โกรธ ความอ่อนโยน ความอดทน เหล่านี้ เป็นธรรมะของนักบริหาร มีในทศพิธราชธรรม
สัจจะ (ความจริงใจ) และการสำรวจตนเอง จะช่วยให้แต่ละคน ทำตนให้สงบ ไม่ก่อความทุกข์ให้คนอื่น คนที่ยิ่งมีหน้าที่ใหญ่โต ยิ่งต้องมีคุณธรรมมาก
หรืออยู่เฉยไว้ มองหาด้านดีของเค้าดูบ้าง ถ้าความอารมณ์ร้ายของเค้าเป็นนิสัยระดับลึก และมีผลกระทบด้านเสียต่อองค์กร ก็คงจะมีผู้ใหญ่คนอื่นเห็นเองครับ