ในบทความนี้จะเป็นการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานที่คุณควรอ่านก่อนไปสัมภาษณ์งาน ว่าคุณต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพราะการเตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่งครับ เอาหล่ะครับ มาเริ่มเตรียมตัวเข้ารับการสัมภาษณ์กันเลย
สัมภาษณ์เพื่ออะไร
ถ้ามองในแง่ผู้จ้างงาน การสัมภาษณ์นั้น ก็เพื่อที่จะคัดเลือกบุคคลที่ เหมาะสมที่สุดเข้าทำงาน โดยพิจารณา บุคลิกภาพ ทัศนคติ ท่วงทำนอง การเจรจา ของผู้สมัครงานว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งหาข้อเท็จจริงและข้อมูลเพิ่มเติม (นอกเหนือจากใบสมัคร จดหมายสมัครงาน หรือใบประวัติย่อ)
ถ้ามองในแง่ของผู้สมัครงาน โอกาสที่จะได้รับเชิญ หรือเรียกตัวไปรับการสัมภาษณ์ ก็คือโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถในด้านต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจากใบสมัครที่ได้ส่งไป แน่นอนที่สุด การสัมภาษณ์ก็คือ ปราการด่านสำคัญ ที่จะชี้นำอนาคตว่า ตนเองจะได้งานหรือไม่ ซึ่งมักจะเป็นขั้นตอนการสมัครงานที่ผู้ที่จบการศึกษาใหม่ๆ กลัวกัน เพราะไม่ทราบว่าจะเตรียมตัวอย่างไร ต้องทำอย่างไร จะเตรียมคำตอบอะไรบ้าง คนที่สอบได้ที่หนึ่ง หรือเกียรตินิยม อาจจะตอบคำถามผิดๆ ถูกๆ เมื่อต้องรับการสัมภาษณ์ บางคนคะแนนข้อเขียนดีมาก คะแนนทดสอบดี แต่คะแนนสัมภาษณ์กลับต่ำมาก การสัมภาษณ์จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของกระบวนการจ้างงาน
อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครงานบางคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมาก มีประสบการณ์ในตำแหน่งที่สมัคร มักอยากจะให้เรียกตัวไปสัมภาษณ์ เพราะผู้สมัครงานเหล่านี้มั่นใจว่า หากได้พูดคุยหรือเล่าประสบการณ์ ของตนเองแล้วผู้ที่สัมภาษณ์จะสนใจ และจะเป็นช่วงโอกาสสำคัญ ในการที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้รับสมัคร
กำหนดเวลานัดสัมภาษณ์
ปกติถ้าในใบสมัครระบุวันสัมภาษณ์ไว้ การสัมภาษณ์ก็มักจะตรงตามนั้น แต่ถ้าไม่มีกำหนดไว้ การสัมภาษณ์จะต้องมีการนัดล่วงหน้า แต่จะกี่วันนั้นก็แล้วแต่ฝ่ายบุคคลของบริษัทนั้นๆ จะเป็นผู้กำหนดเอง
ผู้ที่จบการศึกษาใหม่ๆ จำนวนไม่น้อย มักจะตื่นเต้นที่ได้รับการนัดหมาย จากบริษัทที่ตนเองไปสมัครงานไว้ และอย่างจะไปรับการสัมภาษณ์ทั้งๆ ที่กลัวว่า จะไม่ได้งานทำ แต่ก็อยากจะไป เข้าทำนอง “กล้าๆ กลัวๆ ” จะได้รู้เรื่องไปเลยว่า จะได้หรือไม่ได้ บางครั้งก็คิดเลยไปกว่านั้นว่า บริษัทเขาคงสนใจเราแน่ไม่อย่างนั้น จะเรียกเราไปสัมภาษณ์ทำไม บางคนคิดเลยเถิดไปว่า จะเรียกเงินเดือนเท่าไหรดี จะเริ่มต้นทำงานวันไหน
พูดกันง่ายๆ ว่า หลายคนวาดวิมานในความฝันเสียเลิศเลอ และบางคนก็พาลตื่นเต้นจนนอนไม่หลับก็มี ข้อแนะนำในการเตรียมตัวไปรับการสัมภาษณ์ก็คือ “จงนอนให้เต็มอิ่ม” เพื่อที่จะได้ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าด้วยความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
สถานที่ในการสัมภาษณ์
ตามปกติจะมีสถานที่สัมภาษณ์ 2 แห่งคือ
– แบบที่ 1 เป็นห้องที่จัดไว้เพื่อสัมภาษณ์โดยตรง มักจะจัดเป็นรูปครึ่งวงกลม หรือหน้ากระดาน แล้วให้ผู้สัมภาษณ์อยู่ที่อีกโต๊ะหนึ่งที่ห่างออกไป หรืออยู่โต๊ะเดียวกันก็ได้
– แบบที่สอง จะใช้ห้องทำงานของผู้สัมภาษณ์เป็นที่สัมภาษณ์ ซึ่งผู้เข้าสัมภาษณ์จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก็คืออย่าไปหยิบ หรือจับต้องสิ่งของที่อยู่บนโต๊ะผู้สัมภาษณ์เด็ดขาด เพราะจะถูกมองว่าเป็นคนไม่รู้จักกาละเทศะ และไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น
ต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง
แน่นอนที่สุด ก่อนไปสัมภาษณ์ควรจะศึกษาให้รู้ก่อนว่า บริษัทที่เราจะไปรับการสัมภาษณ์นั้น ชื่ออะไร สะกดภาษาไทย ภาษาอังกฤษยังไง ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นผู้จัดการ หรือกรรมการผู้จัดการบ้าง เป็นต้น และอย่าลืมนำเอาหลักฐานประวัติต่างๆ ของเราไป
การแต่งกาย
ผู้ถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์มากมาย ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะแต่งกายอย่างไรไปสัมภาษณ์ คำตอบก็คือแต่งให้สุภาพ สะอาด เรียบร้อย ให้เกียรติเจ้าของสถานที่ ถ้าใส่เสื้อแขนยาวไม่ควรพับแขนเสื้อขึ้น สำหรับผู้ชายจะใส่เนคไทหรือไม่ใสก็ได้แล้วแต่สะดวก หรือแล้วแต่ลักษณะของงานที่คุณไปสมัคร
บางคนที่เพิ่งจบหรือกำลังจะจบการศึกษา มักจะถามว่า ควรจะใส่เครื่องแบบสถาบันไปสัมภาษณ์ไหม คำถามนี้ก็ต้องดูว่า คุณจบการศึกษาหรือยัง ถ้ายังไม่จบดี แต่งกายชุดสถาบันก็ใช้ได้ แต่ถ้าจบการศึกษามาแล้ว ควรแต่งชุดธรรมดาจะดีกว่า แต่ถ้ารู้ว่าผู้สัมภาษณ์ จบจากสถาบันเดียวกันกับเรา ก็ลองแต่เครื่องแบบไป เผื่อจะได้คะแนนพิเศษบ้าง (อันนี้แล้วแต่จะพิจารณา)
การแต่งกายเรียบร้อย อย่าเข้าใจสับสนกับการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาแพง เพราะถ้าคุณแต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาแพง ๆ ผู้สัมภาษณ์อาจจะไม่รับคุณเลยก็ได้ เพราะดูคุณจะเป็นผู้ดีตีนแดง หรือฟุ่มเฟือยเกินไป
ต้องทำตัวอย่างไรเมื่อเดินเข้าไปสัมภาษณ์
เมื่อได้รับการขานชื่อให้เข้าไปในห้องสัมภาษณ์แล้ว การปรากฎตัวเป็นสิ่งสำคัญ เข้าทำนอง “ฟอร์มดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ขอให้ปรากฎตัวอย่างมั่นใจ สง่า นอบน้อม อย่าทำเป็นตัวงอเป็นกุ้ง หรือหงอไปเลย สบตาผู้สัมภาษณ์ ทักทายผู้สัมภาษณ์ด้วยการไหว้ หากผู้สัมภาษณ์มีหลายคน ให้ยกมือไหว้ทีละคน
เมื่อไหว้เสร็จแล้ว ให้รอสักครู่ จนกว่าผู้สัมภาษณ์จะเชิญให้นั่ง จึงค่อยนั่ง อย่านั่งก่อนโดยเขาไม่ได้เชิญ ท่านั่งที่สุภาพ น่าจะเป็นการนั่งตัวตรง เอามือประสานกัน หรือวางมือบนหน้าขาก็ได้ อย่ากอดอก หรือนั่งไขว่ห้าง หรือเอามือวางบนโต๊ะ อย่าเอานิ้วกรีดโต๊ะ เคาะเก้าอี้ เขย่าขา โยกตัว หรือโยกเก้าอี้ ถ้ามีแฟ้ม เอกสาร หรือกระเป๋า ควรวางบนตัก
เริ่มต้นสัมภาษณ์กันอย่างไร
ผู้สัมภาษณ์มักจะต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน โดยอาจจะถามถึงการรอคอย การเดินทางมารับการสัมภาษณ์ ส่วนมากจะเป็นเรื่องสัพเพเหระ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความตื่นเต้น ของผู้รับการสัมภาษณ์ และเป็นการสร้างความคุ้นเคยกัน บางทีผู้สัมภาษณ์ อาจจะเชิญชวนให้สูบบุหรี่ หรือยกน้ำดื่มมาให้
มีข้อแนะนำว่า ไม่ควรสูบบุหรี่ในขณะรับการสัมภาษณ์ เพราะจะทำให้ดูไม่สุภาพ หากจะดื่มน้ำ หรือน้ำชา กาแฟ ที่ผู้สัมภาษณ์จัดให้ ควรจะต้องมั่นใจว่าจะไม่ทำหกเลอะเทอะ หรือสำลัก (เพราะความตื่นเต้น)
เขาประเมินผู้เข้ารับการสัมภาษณ์โดยใช้เกณฑ์ไหน
เมื่อผู้สัมภาษณ์ได้สัมภาษณ์ผู้สมัครงานเสร็จแล้ว จะทำการประเมินโดยอาจจะใช้แบบฟอร์มแยกเป็นหัวข้อต่างๆ เช่น การปรากฎตัว การตอบคำถาม ความกระตือรือร้น ความเป็นผู้นำ ประวัติครอบครัว ประวัติการศึกษา ทัศนคติต่อบริษัท พร้อมกับที่มีข้อสรุปสั้นๆ ต่อท้ายแบบฟอร์ม จากนั้นจึงจะรวมคะแนนออกมา บางบริษัทอาจจะไม่มีการให้คะแนนเป็นข้อๆ แต่ให้ผู้สัมภาษณ์ ระบุจุดที่ประทับใจ จุดเด่นหรือจุดด้อยของผู้สมัคร ในใบสมัครหรือเอกสารแนบใบสมัครแล้วให้ระบุว่า ควรจะรับหรือปฏิเสธ รอดูผลเปรียบเทียบกับผู้สมัครคนอื่น หรือเหมาะสมกับตำแหน่งงานอื่น
อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครบางคนที่มีคะแนนสัมภาษณ์สูง ๆ อาจจะไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าทำงาน เพราะบางตำแหน่งงานไม่ต้องการคนที่มีศักยภาพในการทำงานสูง เพราะเกรงไปว่าหากรับเข้าทำงานแล้ว อาจจะทำได้ไม่นาน จะลาออกไปทำงานอื่น ผู้สัมภาษณ์บางบริษัทอาจใช้ประสบการณ์ หรือความรู้สึกส่วนตัว ในกรรับผู้สมัครเข้าทำงาน บางคนอาจพิจารณาจากโหงวเฮ้ง ของผู้สมัครก็มี บางคนเห็นหน้าผู้สมัครก็ไม่ชอบใจตั้งแต่ต้นก็มี แต่ก็มีบางบริษัทที่ใช้ผู้สมัครคนอื่นๆ เป็นตัวละคร กล่าวคือสัมภาษณ์ผู้สมัครหลายๆ คนพอเป็นพิธี แต่ลงท้าย ก็รับพรรคพวกของตนเองเข้าทำงาน
เลื่อนนัดได้หรือไม่ หรือจะเลื่อนนัดอย่างไรดี
เลื่อนนัดได้หรือไม่ หรือจะเลื่อนนัดอย่างไรดี การที่จะเลื่อนนัดสัมภาษณ์ นั้นจะต้องมีเหตุผลที่เพียงพอ เพราะบริษัทที่นัดสัมภาษณ์ มักจะได้จัดลำดับการนัดคนสัมภาษณ์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นจริงๆ เช่น เพิ่งได้รับจดหมายเย็นนี้แล้วให้ไปสัมภาษณ์วันพรุ่งนี้ หรือเจ็บป่วยอยู่ ก็ควรที่จะขอเลื่อนนัด พร้อมบอกเหตุผลความจำเป็น หรือถ้ามีหลักฐานก็แจ้งผู้สัมภาษณ์ด้วย
การขอเลื่อนนัดวิธีที่ดีที่สุดคือการโทรศัพท์ไป เพราะจะได้มีโอกาสได้พูดคุย สอบถามจากผู้สัมภาษณ์ว่า เราจะขอเลื่อนนัดได้หรือไม่ หรือเลื่อนแล้วพร้อมจะไปสัมภาษณ์เมื่อไหร่ ถ้ามีหลักฐานประกอบการอ้างความจำเป็น เช่นใบรับรองแพทย์ หรือหลักฐานการรับจดหมาย ก็ควรส่งทางโทรสารไปให้ หรือแจ้งฝ่ายบุคคลว่าจะนำไปแสดงในวันที่ไปสัมภาษณ์ใหม่