วิธีปลูกเชอรี่ พร้อมคำแนะนำในการขายเชอรี่

เชอร์รี่ (Cherry) จัดอยู่ในวงศ์ ROSACEAE ในตระกูลพรุน เช่นเดียวกับ พลัม ลูกท้อ บ๊วย อัลมอนด์ และนางพญาเสือโคร่ง เป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ลักษณะของผลมีลักษณะกลม ขนาดเล็ก เปลือกมีทั้งสีแดงเข้ม สีแดง สีส้ม และสีเหลือง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งเชอร์รี่ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเชอร์รี่หวาน และกลุ่มเชอร์รี่หวานอมเปรี้ยว โดยแหล่งที่เพาะปลูกเชอร์รี่มากที่สุดก็คือทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป ออสเตรเลีย รวมไปถึงญี่ปุ่น เพราะเชอร์รี่เป็นผลไม้ที่ชอบอากาศหนาวเย็น

เชอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ เพราะในผลเชอร์รี่อุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีมากกว่าส้มถึง 30-80 เท่า นอกจากจะช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส ชะลอความแก่ และช่วยต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย เนื่องจากในผลเชอร์รี่มีสารที่ชื่อว่า แอนโธไซยานิน (Anthocyanin) ทำให้คนกินมีความสุข ด้วยเหตุนี้แพทย์ตะวันตกจึงเรียกเชอร์รี่ว่า เป็นแอสไพรินธรรมชาติ แต่ก็มีพิษซ่อนอยู่ในเมล็ดด้วย นั่นก็คือ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ โดยเฉพาะเวลาที่เคี้ยว หรือบดผลเล็ก ๆของเชอร์รี่ เชอร์รี่จะผลิตสารนี้โดยอัตโนมัติ แต่เป็นพิษที่ค่อนข้างอ่อน อย่างมากก็แค่ทำให้มีอาการปวดศีรษะ เวียนหัว อาเจียน แต่หากได้รับมากจนเกินไปก็อาจจะเป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต อาจทำให้ไตวายหรือเกิดอาการชักจนเสียชีวิตได้และสิ่งที่จะต้องระวังอีกเรื่องก็คือ เชอร์รี่ที่เราเห็นอยู่บนขนมเค้กตามท้องตลาด ที่มีสีแดงดูน่ารับประทานส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการย้อมสี การเลือกรับประทานก็ควรดูให้ดีๆ เพราะอาจจะเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเสื่อมในไตได้

เชอร์รี่ในประเทศไทยจะมี สองพันธุ์คือเชอร์รี่นอก และเชอร์รี่ไทย จะมีรสหวานอมเปรี้ยว เวลาเชื่อมจะมีรสชาติอร่อยกว่านั่นเอง เชอร์รี่ไทยมีนำเข้ามาเพาะปลูกจากอเมริกาใต้เมื่อนานมากแล้ว

วิธีการปลูกเชอร์รี่ เชอร์รี่นอกและเชอร์รี่ไทยจะมีรูปแบบการเพาะปลูกที่คล้าย ๆ กันครับ แต่เชอร์รี่นอกต้องดูแลเอาใจใส่เยอะกว่าเพราะภูมิต้านทานน้อยกว่าเชอร์รี่ไทย รูปแบบการปลูกที่นิยมกันในปัจจุบันมีสองรูปแบบครับ ได้แก่ การทำเป็นแปลงปลูกลงดินและการปลูกลงภาชนะ ซึ่งการปลูกในภาชนะนั้นจะนิยมมากที่สุด เพราะเป็นการประหยัดพื้นที่ ทำให้เชอร์รี่ออกผลและมีรสชาติที่ดีกว่า สะดวกในการเคลื่อนย้าย

นอกจากนี้ถ้าต้องการขายเชอร์รี่เป็นต้นก็สามารถทำได้ง่ายกว่าอีกด้วยครับ สายพันธุ์ของเชอร์รี่นอกส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ต้องปลูกในพื้นที่ที่มีความสูง 1000 – 1200 เมตร ขึ้นไป และต้องอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่หนาเย็นด้วย ต้นเชอร์รี่ถึงจะออกดอกและให้ผลผลิตครับ ส่วนเชอร์รี่ไทยปลูกได้แทบทุกภูมิภาคของประเทศไทย

วิธีการเพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ดจะมีสองส่วนด้วยกันส่วนแรกคือการทำให้เมล็ดงอก ส่วนที่สองคือการย้ายไปเพาะต่อในถาดเพาะครับ มาเริ่มกันที่ส่วนของการทำเมล็ดให้งอกน่ะครับ

ขั้นตอนที่ 1 นำเมล็ดที่จะเพาะมาล้างทำความสะอาดและผึ่งลมให้แห้ง (ระวังอย่าให้โดนแดด)
ขั้นตอนที่ 2 นำเมล็ดมาคลุกเชื้อราไตรโครเดอร์มาเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อรา
ขั้นตอนที่ 3 นำเมล็ดที่ได้ไปวางกระจายไว้บนแผ่นกระดาษชำระที่เตรียมไว้ (ให้ซ้อนทับกระดาษชำระเข้าด้วยกันประมาณ 4 – 5 ชั้น) จากนั้นเสปร์ยน้ำลงไปพอประมาณให้ชุ่มแต่อย่าให้แฉะ แล้วจึงนำไปใส่ภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับเพาะเช่น กล่องพลาสติกที่มีฝาปิด
ขั้นตอนที่ 4 นำเมล็ดไปวางไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิไม่ร้อนมาก (เชอร์รี่บางสายพันธุ์อาจต้องนำไปเพาะในตู้เย็นน่ะครับ เพราะฉะนั้นควรตรวจสอบสายพันธุ์ของเมล็ดเชอร์รี่ที่ได้มาก่อนทำการเพาะปลูกครับ) เมล็ดจะเริ่มแตกยอดอ่อนเมื่ออายุได้ประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่ออายุประมาณได้ 2 สัปดาห์ต้นเชอรี่ของเราก็พร้อมที่จะย้ายไปลงถาดเพาะแล้วน่ะครับ

ส่วนที่สองคือการเพาะต่อในถาดเพาะ

ขั้นตอนที่ 1 เตรียมดินที่จะใช้ อาจใช้เป็นทรายผสมปุ๋ยมูลไส้เดือนในอัตรา 1 ต่อ 1 หรือใช้ ดินดำ 1 ส่วนต่อแกลบดิบ 2 ส่วนต่อปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอีก 1 ส่วน
ขั้นตอนที่ 2 ย้ายเมล็ดที่เพาะติดแล้วลงฝังในแต่ละหลุมของถาดเพาะ เอาไปวางไว้ในที่ร่มแสงแดดรำไร เสปรย์น้ำให้ชุ่มแฉะในครั้งแรกจากนั้นครั่งต่อไปก็อยาให้แฉะ ต้องพยายามรักษาผิวดินให้ชุมชื้นอยู่เสมอเพาะเชอร์รี่จะชอบความชุ่มชื้นแต่ไม่แฉะ เมื่อต้นเชอร์รี่ที่เพาะไว้อายุได้ประมาณ 2 – 3 เดือนก็เตรียมนำไปปลูกได้

การปลูกลงภาชนะ(กระถาง) ให้เตรียมดินเหมือนกับตอนที่เราเตรียมดินสำหรับการเพาะในถาด แต่อาจผสมขุยหรือกาบมะพร้าวเพิ่มลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดินครับ จากนั้นย้ายต้นกล้าที่เตรียมไว้ลงไปปลูกในภาชนะ แล้วคลุมบริเวณโคนต้นด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง จากนั้นจึงรดน้ำ การรดน้ำในครั้งแรกนั้นให้รดให้ชุ่มแฉะ ส่วนครั้งถัดไปให้รดแค่พอชื้นๆ

การปลูกลงแปลงดิน ระยะห่างระหว่างต้นและแถวประมาณตั้งแต่ 2 x 2 เมตร จนถึง 4 x 4 เมตร ขุดหลุมลึกประมาณ 20 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก แล้วจึงนำต้นกล้าลงปลูก คลุมบริเวณโคนต้นด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง แล้วจึงรดน้ำ การรดน้ำนั้นในครั้งแรกนั้นให้รดให้ชุ่มแฉะ ส่วนครั้งถัดไปให้รดแค่พอชื้นๆ

การให้ปุ๋ย ต้นเชอร์รี่ที่ปลูกในภาชนะนั้นอาจให้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยไส้เดือนประมาณ 15 วันต่อครั้ง แต่ควรให้ในปริมาณน้อย ๆ หรืออาจจะเป็นการรดน้ำหมักชีวภาพแทนก็ไดครับ ส่วนต้นที่ปลูกลงดินนั้นให้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง ส่วนในช่วงที่ต้นเชอร์รี่กำลังเป็นดอก ให้ใส่ปุ๋ยหรือน้ำหมักฉีดพ่น ด้วยสูตรบำรุงดอก บำรุงผล

โรคและศัตรูพืช โรคที่ต้นเชอร์รี่เจอบ่อยที่สุดคือ

1. รากเน่า แก้ไขด้วยการใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาราดบริเวณลำต้น ราดทุก ๆ 15 วันจนกว่าจะหาย และพยายามอย่าให้หน้าดินแฉะน้ำ พยายามรดน้ำก่อน 4 โมงเย็นเพื่อลดโอกาศที่ต้นเชอร์รี่จะเกิดเชื้อรา
2. แมลงศัตรูพืชหรือหนอนกินใบ ให้ใช้น้ำส้มควันไม้หรือน้ำหมักสมุนไพรสูตรไล่แมลง ฉีดพ่นทุก ๆ 3 – 7 วัน

การเตรียมต้น(การตัดแต่งกิ่งและการตัดแต่งราก) จะเป็นการเตรียมต้นเชอร์รี่ของเราให้พร้อมสำหรับการที่เชอร์รี่จะให้ผลผลิตในปีถัดไป

การตัดแต่งกิ่ง ส่วนใหญ่นิยมตัดแต่งกินในช่วงต้นฤดูฝนเพราะจะทำให้ต้นเชอร์รี่พักพื้นได้ดีกว่า ต้นเชอร์รี่นั้นสายพันธุ์ส่วนใหญ่จะออกดอกที่ซอกใบปลายกิ่ง ดังนั้นในการตัดแต่งกิ่งประจำปีหรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตัดเฉพาะกิ่งที่ออกดอกติดผลเพื่อสร้างใบใหม่สำหรับให้ออกดอกติดผลในปีต่อไป ส่วนกิ่งที่ไม่ออกดอกติดผลในปีนี้ให้คงไว้แล้วบำรุงต่อไป
– ตัดกิ่งที่บังแสงแดดต่อกิ่งอื่นออก ทำให้ทรงพุ่มโปร่งจนแสงแดดสามารถส่องได้ถึงทั่วทุกกิ่ง ทั่วทั้งทรงพุ่ม กิ่งที่ได้รับแสงแดดจะสมบูรณ์ดีกว่ากิ่งที่ไม่ได้รับแสงแดดหรือได้รับแสงแดดน้อย
– ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค และกิ่งที่ออกดอกติดผลแล้วเพื่อเรียกยอดใหม่สำหรับการออกดอกติดผลในรุ่นปีต่อไป การตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้น
– ตัดแต่งกิ่งปกติควรตัดให้เหลือใบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์และเมื่อใบอ่อนชุดใหม่ออกมาแล้วให้มีใบประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จะช่วยให้การผลิดอกออกผลได้ดี
– ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี และเพื่อควบคุมขนาดความสูงของทรงพุ่มได้อีกด้วย

การตัดแต่งราก

– ต้นเชอร์รี่ที่อายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งราก แต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นให้ใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
– ต้นที่อายุหลายปีระบบรากเก่าและแก่มาก ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม
การขยายพันธุ์ ต้นเชอร์รี่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีเช่น ปักชำ เพาะเมล็ด ทาบกิ่ง ติดตา เพาะเนื้อเยื่อ ในปัจจุบันนิยมวิธีปักชำและเพาะเมล็ด แต่การปักชำนั้นต้นพืชจะไม่ค่อยแข็งแรงเพราะไม่มีรากแก้วนั่นเอง

ผลของเชอร์รี่นั้นง่ายต่อการบอบช้ำมาก ทำให้การขนส่งเป็นไปด้วยความลำบาก ผู้คนจึงนิยมปลูกต้นเชอร์รี่เป็นไม้ประดับกันเสียมากกว่า จะไม่ค่อยมีการปลูกเพื่อจำหน่ายผลผลิตในเชิงพานิชย์มากนัก ผลิตภัณฑ์ที่เห็นในตลาดโดยทั่วไปจะเป็นน้ำเบอรี่และแยมเบอรี่ ซึ่งจะลดปัญหาในเรื่องความเสียหายของลูกเชอรี่จากการขนส่งไป ทั้งนี้การเพาะพันธุ์ต้นเชอร์รี่ในแต่ล่ะสายพันธุ์จะมีความต้องการที่แตกต่างกัน ผู้เพาะปลูกจึงควรศึกษาให้ดีเสียก่อน

error: Content is protected !!