ถ้าพูดถึงผักชีนั้น เป็นผักที่ทุกคนรู้จักกันดี มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงมีการนำผักชีมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารต่างๆ มากมาย เพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอมน่าทาน และด้วยสีของผักชีที่เขียวสด และรูปร่างของใบ ที่มีความโดดเด่น ผักชีจึงกลายเป็นผักแต่งจานอาหาร ให้ชวนน่ารับประทาน จนมีหลายๆ คนมีวลีที่ติดปากกันว่าผักชีโรยหน้า ซึ่งก็หมายถึง โรยผักชีให้ดูสวยไว้ก่อน จะรับประทานหรือไม่ หรือรสชาติเป็นอย่างไรค่อยว่ากันทีหลัง ซึ่งผักชีสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบ ก้าน ลำต้นและราก นอกจากจะเป็นอาหารแล้วยังมีสรรพคุณด้านยาสมุนไพรอีกด้วย
ซึ่งผักชีดั้งเดิมแล้วมีถิ่นกำเนิดมาจากแถบเมดิเตอร์เรเนียน แหล่งปลูกผักชีที่สำคัญของประเทศไทย อยู่ที่จังหวัดนครปฐมและราชบุรี สามารถปลูกได้ในทุกฤดูกาล แต่หากปลูกในฤดูหนาวจะทำให้ผักชีโตเร็ว เพราะผักชีชอบอากาศหนาว
ผักชีเป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ใช้เวลาปลูก และเติบโตประมาณ 40-60 วันเท่านั้น พันธุ์ผักชีที่นิยมปลูกกันมากในประเทศไทยคือ ผักชีพันธุ์สิงคโปร์ ผักชีพันธุ์สิงคโปร์เมล็ดดำ และผักชีพันธุ์ไต้หวันเป็นต้น การปลูกผักชีทำได้ไม่ยากเพราะเป็นพืชที่สามารถขึ้นในดินได้แทบทุกชนิด และในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาปลูกผักชีแบบไม่ใช้ดินอีกด้วย
วิธีปลูกผักชี
วิธีการปลูกผักชี เริ่มจากการเตรียมดินเพื่อปลูกผักชีก็เหมือนกันการเตรียมดินเพื่อปลูกผักอื่นๆ ทั่วไปโดยการขุดหรือไถดินลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ตากทิ้งไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วพรวนดินให้ร่วน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน
ซึ่งแปลงปลูกผักชีเพื่อการเกษตรกรรมมีหลายแบบ ทั้งแบบที่ยกร่องมีคูน้ำล้อมรอบ หรือจะปลูกผักชีในแปลงที่เป็นท้องนาก็ได้ หากปลูกในปริมาณที่ไม่มากเป็นผักสวนครัวไว้เพื่อรับประทานกันเองในบ้าน ก็อาจเตรียมที่ว่างไว้ไม่มากนักหรือปลูกใส่กระถาง
ผักชีเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด ก่อนปลูกผักชีจึงต้องเตรียมเมล็ดพันธุ์ให้พร้อม โดยการนำเมล็ดพันธุ์ผักชีมาบดให้แตกออกเป็นสองซีก แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นนำเมล็ดผักชีที่แช่น้ำแล้ว นำมาผึ่งลมก่อนผสมกับทรายหรือขี้เถ้าเล็กน้อย รอให้เมล็ดงอกแล้วนำไปปลูกในดินที่เตรียมไว้ โดยก่อนปลูกผักชีต้องรดน้ำให้ทั่วแปลง จากนั้นนำเมล็ดมาหว่านลงในแปลง กลับด้วยดินแบบบางๆ จากนั้นคลุมด้วยหญ้าแห้งหรือฟางเพื่อป้องกันต้นอ่อนของผักชีจากแสงแดดและรักษาความชื้นของผิวดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง
การให้น้ำ
การให้น้ำ ผักชีถึงแม้จะพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ผักชีไม่ชอบน้ำขัง ดังนั้นควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็น อย่าต้องอย่าให้มากเกินไปจนโชก เพราะผักชีอาจเกิดโรครากเน่าได้
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยให้กับต้นผักชีมีอยู่หลายแบบด้วยกัน นอกจากการผสมปุ๋ยในดินก่อนปลูกแล้ว เมื่อผักชีแตกใบให้ใช้ปุ๋ยหมัก ถ้าอยากจะเร่งให้ผักชีงามเร็ว ก็ใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 3-4 ช้อนแกงผสมน้ำ 1 ปีบฉีดพ่น
หรือใส่ปุ๋ยสูตร 12-4-4 ในอัตรา 100 กก.ต่อไร่ เมื่อต้นสูงได้ประมาณ 5 เซนติเมตร
หรือใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20 กก.ต่อไร่ โดยใส่ 2 ครั้งคือ เมื่อผักชีอายุได้ 15 วันและ 30 วัน
และต้องคอยดูแลถอนวัชพืชทิ้ง อีกอย่างคือถ้าต้นผักชีขึ้นหนาแน่นเกินไปก็ต้องถอนทิ้งเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นที่อาจเป็นสาเหตุให้ต้นเน่าและอาจลุกลามไปทั่วทั้งแปลงได้
การเก็บเกี่ยวผักชี
การเก็บเกี่ยวผักชีจะทำการเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุประมาณ 45 วัน วิธีการเก็บเกี่ยวให้รดน้ำให้ชุ่ม เพื่อให้ดินอ่อนตัวสามารถถอนต้นผักชีได้ง่าย จากนั้นให้ถอนต้นผักชีด้วยการดึงออกมาทั้งลำต้นและราก นำมาล้างเอาดินออกตกแต่งด้วยการเด็ดใบที่เสียหรือเหลืองทิ้ง ผึ่งลมให้แห้งผักชีที่มีความสมบูรณ์ทั้งใบ และราก รากไม่ขาดจะจำหน่ายได้ในราคาดี
โรคและแมลงศัตรูพืชของผักชี
แมลงที่ทำความเสียหายกับผักชี คือเพลี้ย ส่วนโรคผักชีที่พบบ่อยและทำความเสียหายให้กับการปลูกผักชีเป็นอย่างมาก คือโรคเน่าที่ใบและโคนต้น ซึ่งสามารถป้องกันและกำจัดได้ด้วยการฉีดพ่นยาแมนโซเซป (Mancoaeb-M45)และอีกโรคคือ โรคใบไหม้ ซึ่งทำให้เกิดใบเสียหายต้องเสียเวลาคัดทิ้งและทำให้ราคาตก โรคนี้ป้องกันกำจัดด้วยการฉีดพ่นยามาเนปหรือยาแคปเทน
สรุปการปลูกผักชี
สำหรับการปลูกผักชีก็เป็นวิธีที่ง่ายๆ ทุกคนสามารถทำได้ ถ้าจะไปปลูกผักชีขาย ก็สามารถขายได้เรื่อยๆ เพราะผักชีเป็นผักที่ต้องการของตลาด เป็นผักที่มีคนทานทุกวัน เรียกได้ว่ามีคนทานผักชีอยู่ที่ทุกภาคของประเทศไทยก็ว่าได้ ถ้าเรามาปลูกผักชีขาย อาจจะทำเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
การขายผักชี
ผักชีเป็นผักที่เป็นที่ต้องการในตลาดสูง และเป็นผักที่ขายได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี และขายได้ราคาค่อนข้างดี ซึ่งการขายนั้น ให้เริ่มเก็บเกี่ยวผักชีเมื่อผักชีอายุประมาณ 45 วัน ซึ่งก่อนที่เราจะทำการเก็บเกี่ยว เราจะต้องรดน้ำให้ชุ่มแปลงดินเสียก่อน เพื่อทำให้การถอนผักชีง่ายขึ้น และทำให้ต้นผักชีไม่ขาดอีกด้วย ซึ่งการเก็บเกี่ยวผักชีนั้นทำได้ไม่ยากเลย ให้เราใช้มือจับที่โคนรากแล้วดึงขึ้นมา สะบัดดินออก และน้ำไปล้างน้ำ ให้คัดใบที่เน่าออก หรือใบสีเหลืองๆ ออก และนำมามัดเป็นกำๆ นำใส่ลงตะกร้าเพื่อทำการขนส่งนำไปขายต่อไป ซึ่งต้นผักชีที่เป็นสีเขียวสม่ำเสมอจะขายได้ราคาดี
และผักชีจะมีราคาดีที่สุดช่วงหน้าฝนครับ เหตุเนื่องจากผักชีเป็นพืชอวบน้ำ จึงบอบช้ำได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่มีฝนตกโดนต้น ทำให้ต้นช้ำ และยิ่งถ้าฝนตกช่วงสายๆ หรือฝนตกตอนกลางวัน ซึ่งหลังจากฝนตกแล้ว แดดจะออกทำให้ต้นผักชีเน่า ผักชีจึงเสียหายได้มาก และทำให้ผักชีมีราคาแพงในหน้าฝนนี่เอง ซึ่งเราอาจจะแก้ปัญหาด้วยการใช้เชื้อราไตโครเดอร์มา หรือเชื้อราคีโตเมียม ฉีดพ่นเพื่อลดอาการเน่า หรือใช้น้ำปูนขาวที่มีฤทธิ์เป็นด่าง มาปรับสภาพดิน เพราะว่าเชื้อราชชอบความเป็นกรด เมื่อมีน้ำปูนขาวซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง ทำให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโตเ ซึ่งถ้าเราพบว่าผักชีต้นไหนเป็นเชื้อรา เราควรที่จะรีบถอนทิ้งออกจากแปลงทันที แต่ถ้าผักชีขึ้นแน่หนาเกินไป เราก็ควรที่จะถอนทิ้งเหมือนกัน เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุของต้นเน่า และอาจจะลุกลามไปทั่วแปลง ถ้าเราไม่มีการดูแลที่ดี
สำหรับช่องทางการการขายผักชีนะครับ
1. ขายเหมาให้พ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อขายกันเป็นประจำ
2. ขายปลีกวางขายเองหน้าบ้าน หรือวางขายตามตลาดนัด
สำหรับท่านที่อยากจะลองเข้ามาขายผักชีดู ก็ไม่ยากเลยนะครับ สิ่งที่ต้องมีก็คือ เงินทุนที่จะต้องไปซื้อ หรือเช่าพื้นที่มาปลูกผักชี และความรู้ในการปลูกผักชี และที่สำคัญความเอาใจใส่ในการปลูกผักชีให้เจริญงอกงาม สำหรับท่านที่มีที่ดินในการปลูกอยู่แล้ว ก็ถือว่าลดต้นทุนลงไปมากเลยครับ ตลาดนี้เปิดกว้างกับทุกท่าน ใครเข้ามาขายก็มีสิทธิ์รวยได้ทุกท่าน ขายได้กำไร และนำไปขยับขยายพื้นที่การปลูก ทำแบบนี้ซ้ำๆ ไป ค่อยๆ รวยไปทีนิด ท่านอาจจะรู้ตัวอีกทีก็มีเงินจำนวนมากจากการขายผักชีไปแล้ว