ธุรกิจคืออะไร และประเภทของธุรกิจมีอะไรบ้าง

วันนี้ผมก็จะมาอธิบายให้ท่านผู้อ่านที่สนใจในธุรกิจให้ท่านได้ทราบว่าความหมายของธุรกิจคืออะไร และประเภทของธุรกิจมีอะไรบ้าง ผมจะอธิบายให้ท่านได้อ่านกันอย่างคร่าวๆ กระชับ ได้ใจความนะครับ เรามาเริ่มกันดีกว่าครับ

ธุรกิจคืออะไร

คำว่าธุรกิจ ในภาษาอังกฤษคือคำว่า Business ซึ่งคำนี้ก็มาจากคำว่า Busy ซึ่งแปลว่า ยุ่ง,มีงานมาก, มีธุระยุ่ง

ธุรกิจเป็นเรื่องของการมุ่งหวังกำไร เพราะฉะนั้นความหมายที่รับรู้กันก็คือว่า ธุรกิจเป็นเรื่องของกิจการที่เข้ามารับความเสี่ยง ดังนั้นธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่จะต้องคิด ต้องแก้ปัญหา และต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ธุรกิจมีกำไร หลีกเลี่ยงจากการขาดทุน

การประกอบธุรกิจ คือ การผลิตสินค้า และบริการ และการนำสินค้า และบริการนั้นมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ฉะนั้นถ้าการผลิตสินค้าหรือบริการนั้นๆ ได้ถูกนำมาใช้บริโภคเอง ไม่ได้นำไปขายหรือจำหน่ายจึงเรียกว่า การอุปโภคบริโภคของตนเอง แต่ถ้าการผลิตสินค้า และบริการได้ถูกนำไปขาย หรือจำหน่ายต่อไปจึงเรียกว่า การค้า หรือการประกอบธุรกิจ สรุปก็คือว่า ธุรกิจเป็นกระบวนการดำเนินกิจกรรมทางด้านการผลิต การจำหน่าย และการให้บริการนั่นเอง

ประเภทของธุรกิจ

อันแรกนี้ ผมจะแบ่งประเภทของธุรกิจแบบเป็นองค์กรธุรกิจก่อนนะครับ ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

ธุรกิจที่ไม่เป็นนิติบุคคล

ซึ่งธุรกิจที่ไม่เป็นนิติบุคคลยังสามารถแบ่งแยกย่อยได้คือ

1. กิจการเจ้าของคนเดียว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกิจการที่มีขนาดเล็ก
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญถือได้ว่าเป็นความสมัครใจของบุคคลที่มาทำธุรกิจร่วมกัน โดยมีหลักว่า ต้องเป็นสัญญาระหว่างบุคคล สองบุคคลขึ้นไป ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และต้องไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งจากข้อนี้สามีภรรยาก็สามารถทำธุรกิจเป็นหุ้นส่วนกันได้

ธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล

ซึ่งธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลยังสามารถแบ่งแยกย่อยได้คือ

1. ห้างหุ้นส่วน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ได้แบ่งห้างหุ้นส่วนออกเป็นอีก 2 ประเภท คือ

– ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทเดียว โดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วน และไม่จำกัดจำนวน ซึ่งห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ได้ จึงมีทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล

– ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 ประเภท คือ หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียว หรือหลายคน ซึ่งรับผิดจำกัดเพียงจำนวนเงินที่ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น และหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ได้แก่ หุ้นส่วนคนเดียว หรือหลายคน ซึ่งรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน

2. บริษัทจำกัด คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้น แต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน ผู้ถือหุ้นต่างรับผิดชอบ จำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงิน ที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ บริษัทจำกัดเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มีการกำหนดมูลค่าหุ้น บริษัทจำกัดใช้คำนำหน้าว่า “บริษัท” และคำว่า “จำกัด” ต่อท้ายชื่อ

3. บริษัทมหาชนจำกัด คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยความประสงค์ที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน โดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระ และบริษัทดังกล่าวได้ระบุความประสงค์เช่นนั้นไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งบริษัทมหาชนจำกัด ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 กำหนดให้มีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป ซึ่งหุ้นแต่ละหุ้นต้องมีมูลค่าเท่ากัน และต้องชำระค่าหุ้นครั้งเดียวเต็มมูลค่าหุ้น และต้องมีจำนวนกรรมการของบริษัทไม่น้อยกว่า 5 คน และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในประเทศไทย บริษัทมหาชนจำกัดใช้คำนำหน้าว่า “บริษัท” และคำว่า “จำกัด (มหาชน)” ต่อท้ายชื่อ

4. องค์กรธุรกิจจัดตั้ง หรือจดทะเบียนภายใต้กฎหมายเฉพาะ

ต่อมาผมจะแบ่งประเภทของธุรกิจตามลักษณะของกิจกรรมที่ธุรกิจกระทำ แบ่งออกได้ ดังนี้

1. ธุรกิจการเกษตร ซึ่งการประกอบธุรกิจการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น การทำนา การทำไร่ การทำสวน การทำป่าไม้ การทำปศุสัตว์
2. ธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจผลิตสินค้าเพื่ออุปโภค แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
– อุตสาหกรรมในครัวเรือน จัดได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ใช้แรงงานเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ลงทุนในเงินทุนไม่สูงนัก ส่วนมากเป็นการใช้เวลาว่างจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนาทำไร่ ขณะที่รอเก็บเกี่ยวพืชผลก็ใช้เวลาว่าง มาทำอุตสาหกรรม ในครัวเรือน เช่น อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา อุตสาหกรรมทำเครื่องเขิน อุตสาหกรรมทำเครื่องจักสาน
– อุตสาหกรรมโรงงาน จัดได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตสินค้าต้องมีโรงงานเป็นของตนเอง มีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก และมีการจ้างแรงงาน เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตพลาสติก
3. ธุรกิจเหมืองแร่ ซึ่งการประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ยกตัวอย่างเช่น การทำเหมืองแร่ชนิดต่างๆ การขุดเจาะถ่านหิน การขุดเจาะนำทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ มาใช้
4. ธุรกิจการพาณิชย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่กระจายสินค้า ที่ผลิตจากอุตสาหกรรมต่างๆ ไปสู่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้อุปโภคบริโภคสินค้าตามความต้องการ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจพ่อค้าคนกลาง ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก และตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่างๆ
5. ธุรกิจการก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ในการนำวัสดุต่างๆ เช่น อิฐ หิน ปูน ดิน ทราย มาใช้ในการก่อสร้าง เช่น การสร้างถนน สร้างอาคาร สร้างสะพาน
6. ธุรกิจการเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ธุรกิจอื่นทำงานได้คล่องตัวขึ้น เนื่องจากในการทำธุรกิจจะต้องเริ่มจากการลงทุน ซึ่งต้อง ใช้เงินทุนในการลงทุน เช่น การนำเงินมาซื้อที่ดิน มาสร้างอาคาร จ้างคนงาน ซื้อวัตถุดิบ ซื้อเครื่องจักร ซื้อุปกรณ์ ซึ่งถือว่าธุรกิจการเงินเป็นแหล่งที่ธุรกิจอื่นสามารถติดต่อในการจัดหาทุนได้ นอกจากนั้นในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ หรือส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ธุรกิจการเงินจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อซื้อขาย ชำระเงินระหว่างกัน ธุรกิจที่จัดเป็นธุรกิจการเงิน ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจประเภทธนาคาร บริษัทการเงิน บริษัทประกันภัย
7. ธุรกิจให้บริการ ซึ่งเป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจการสื่อสาร ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการโรงแรม
8. ธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นการขายอาหาร ยกตัวอย่างเช่น การขายวัตถุดิบอาหาร ขายอุปกรณ์ในการทำอาหาร หรือขายอาหารโดยตรงต่อผู้บริโภค
9. ธุรกิจอื่นๆ เป็นธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจ อาชีพอิสระต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ วิศวกร สถาปัตย์ ช่างฝีมือ ประติมากรรม

เอาหล่ะครับสำหรับบทความธุรกิจคืออะไร และประเภทของธุรกิจมีอะไรบ้าง ผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้กลับไปไม่มากก็น้อยนะครับ ก็ขอจบบทความไว้เพียงเท่านี้นะครับ

error: Content is protected !!