จุดแข็งและจุดอ่อนทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน

1.ประเทศสิงคโปร์

จุดแข็ง
• รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงสุดของอาเซียน และติดอันดับ 15 ของโลก
• การเมืองมีเสถียรภาพ
• เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ
• แรงงานมีทักษะสูง
• ชำนาญด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล และธุรกิจ
• มีที่ตั้งเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางเดินเรือ
จุดอ่อน
• พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและขาดแคลนแรงงานระดับล่าง
• ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจสูง
ประเด็นที่น่าสนใจ
• พยายามขยายโครงสร้างเศรษฐกิจมายังภาคบริการมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้า
• สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตรารายได้เฉลี่ยต่อหัวมากที่สุดในกลุ่มสมาชิกฯ ตอนนี้ทางสิงคโปร์กำลังเน้นการขยายระบบเศรษฐกิจมายังภาคบริการมากขึ้น และลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้า ข้อได้เปรียบของสิงคโปร์ คือตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ อยู่ในจุดยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเดินเรือ (เอื้อต่อการขนส่ง) ศูนย์การการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการที่แรงงานที่มีทักษะ มีการศึกษาและภาษาดี ตบท้ายด้วยการเมืองมีเสถียรภาพ และจุดอ่อนคือ เนื่องจากมีประชากรน้อยและเป็นแรงงานที่มีทักษะ สิงคโปร์จะขาดแรงงานที่เป็นแรงงานระดับล่างและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจหรือค่าครองชีพค่อนข้างสูง


2.ประเทศอินโดนีเซีย

จุดแข็ง
• ขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
• ตลาดขนาดใหญ่ (ประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
• มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก
• มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและจำนวนมาก โดยเฉพาะถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โลหะต่างๆ
• ระบบธนาคารค่อนข้างแข็งแกร่ง
จุดอ่อน
• ที่ตั้งเป็นเกาะและกระจายตัว
• สาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร โดยเฉพาะการคมนาคม และการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
ประเด็นที่น่าสนใจ
• การลงทุนส่วนใหญ่เน้นใช้ทรัพยากรในประเทศเป็นหลัก
• ประเด็นที่น่าสนใจคือ การลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เน้นทรัพยากรในประเทศเป็นหลัก ส่วนจุดแข็งนั้น แน่นอน เมื่อเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศสมาชิกฯ (จำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกและอันดับหนึ่งใน ASEAN) อินโดนีเซียก็กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้บริโภค (และเป็นมุสลิม) มากที่สุด มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก และมีระบบธนาคารที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่จุดอ่อนของประเทศนี้คือการที่ประเทศเป็นหมู่เกาะ ระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคมก็ยังต้องพัฒนาต่อไป


3.ประเทศมาเลเซีย

• รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน
• มีปริมาณสำรองน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 และก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก
• ระบบโครงสร้างพื้นฐานครบวงจร
• แรงงานมีทักษะ
จุดอ่อน
• จำนวนประชากรค่อนข้างน้อย ทำให้ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะระดับล่าง
ประเด็นที่น่าสนใจ
• ตั้งเป้าหมายเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ในปี 2563
• ฐานการผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญที่คล้ายคลึงกับไทย
• มีนโยบายพัฒนาการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างจริงจัง
• เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่อปีมากเป็นอันดับสาม รองจากสิงคโปร์และบรูไน สิ่งที่น่าสนใจสำหรับประเทศนี้คือ มาเลเซียตั้งเป้าให้ในอีก 8 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศนี้มีฐานการผลิตและสินค้าส่งออกหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับไทย และมีนโยบายการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ข้อเด่นของมาเลเซียคือ ความได้เปรียบเรื่องพลังงาน จำนวนปริมาณน้ำมันสำรองและก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่มาก ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ครบวงจร รวมไปถึงแรงงานที่มีทักษะ ส่วนจุดอ่อนก็จะคล้ายๆกับของประเทศบรูไนคือการที่จำนวนประชากรน้อยและปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานระดับล่างค่ะ


4.ประเทศบรูไน

จุดแข็ง
• รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 26 ของโลก
• การเมืองค่อนข้างมั่นคง
• เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน และมีปริมาณสำรองน้ำมันอันดับ 4 ของอาเซียน
จุดอ่อน
• ตลาดขนาดเล็ก ประชากรประมาณ 4 แสนคน
• ขาดแคลนแรงงาน
ประเด็นที่น่าสนใจ
• มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
• การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศพึ่งพาสิงคโปร์เป็นหลัก
• ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารค่อนข้างมาก
• บรูไน ประเทศที่คนไทยหลายคนไม่ค่อยจะรู้สึกคุ้นชินมากนัก ทำให้ไม่ค่อยได้ทราบข้อมูลหรือติดตามข่าวอัพเดตต่างๆในเชิงลึก เพื่อนๆหลายคนอาจจะไม่ทราบว่า บรูไนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ (สองประเทศแรกเข้าใจว่าเพราะเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน) ส่วนสิงคโปร์จะเป็นหลักในการส่งสินค้าระหว่างประเทศให้กับบรูไน ที่สำคัญประเทศนี้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารค่อนข้างมากเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่เป็นประเทศที่เป็นผู้ผลิต-ส่งออกน้ำมันและมีปริมาณน้ำมันสำรองรายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน บรูไนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีมากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ และมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง ที่กล่าวมานี้นับเป็นจุดแข็งของบรูไน ในขณะที่เรื่องที่ถือว่าน่าจะเป็นจุดอ่อนของบรูไน คือ ขนาดตลาดของประเทศนี้ถือว่าเล็กมาก เพราะมีจำนวนประชากรอยู่แค่สี่แสนคนเท่านั้น และปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ตามมา


5.ประเทศฟิลิปปินส์

• ประชากรจำนวนมากอันดับ 12 ของโลก (>100 ล้านคน)
• แรงงานทั่วไปมีความรู้-สื่อสารภาษาอังกฤษได้
จุดอ่อน
• ที่ตั้งห่างไกลจากประเทศสมาชิกอาเซียน
• ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสวัสดิภาพทางสังคมยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
ประเด็นที่น่าสนใจ
• สหภาพแรงงานมีบทบาทค่อนข้างมาก และมีการเรียกร้องเพิ่มค่าแรงอยู่เสมอ
• การลงทุนส่วนใหญ่เป็นการรองรับความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก
• เป็นอีกประเทศที่มีลักษณะทางภูมิประเทศเป็นเกาะ แก่ง น้อยใหญ่ จุดเด่นของประเทศนี้คือสหภาพแรงงานที่มีบทบาทมาก มีการประท้วงเกี่ยวกับเรื่องค่าแรงอยู่เรื่อยๆ การลงทุนส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางตอบสนองความต้องการภายในประเทศ เนื่องจากฟิลิปปินส์มีจำนวนประชากรจำนวนมาก (มากกว่า 100 ล้านคน ติดอันดับที่ 12 ของโลก) ทำให้เป็นตลาดที่น่าสนใจและมีขนาดใหญ่มาก จุดแข็งอีกเรื่องของประเทศนี้คือประชากร (หรือมองอีกแง่คือแรงงาน) แทบจะทั้งประเทศสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ ที่เป็นภาษากลางของประชาคมอาเซียน (AEC) ได้ดี ส่วนจุดอ่อนของฟิลิปปินส์คือที่ตั้งของประเทศที่ค่อนข้างห่างไกลจากประเทศสมาชิกอื่นๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิภาพทางสังคมที่ยังต้องการการพัฒนาอยู่


6.ประเทศเวียดนาม

จุดแข็ง
• ประชากรจำนวนมากอันดับ 14 ของโลก (~90 ล้านคน)
• มีปริมาณสำรองน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก
• มีแนวชายฝั่งทะเลยาวกว่า 3,200 กิโลเมตร
• การเมืองมีเสถียรภาพ
• ค่าจ้างแรงงานเกือบต่ำสุดในอาเซียน รองจากกัมพูชา
จุดอ่อน
• ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
• ต้นทุนที่ดินและค่าเช่าสำนักงานค่อนข้างสูง
ประเด็นที่น่าสนใจ
• มีรายได้และความต้องการสูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่โตเร็ว
• เวียดนามเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มสมาชิก (รองจากกัมพูชา) สิ่งที่น่าจับตามองของเวียดนามคือการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ความต้องการภายในประเทศ รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเรื่องสิทธิและเสรีต่างๆ เวียดนามมีจุดแข็งที่การเมืองที่ค่อนข้างนิ่งและมีเสถียรภาพ ประชากรจำนวนมากซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ มีปริมาณน้ำมันสำรองมาก (อันดับ2 ของอาเซียน) และมีแนวชายฝั่งทะเลยาวมากกว่า 3,000 กิโลเมตร ส่วนเรื่องที่ยังคงต้องกังวลอยู่คือระบบสาธารณูปโภคที่ยังต้องการการพัฒนาและราคาค่าที่ดินและค่าเช่าสำนักงานซึ่งยังถือว่าสูงมากทีเดียว


7.ประเทศกัมพูชา

จุดแข็ง
• มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำ ป่าไม้ และแร่ชนิดต่างๆ
• ค่าจ้างแรงงานต่ำสุดในอาเซียน (1.6 USD/day)
จุดอ่อน
• ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
• ต้นทุนสาธารณูปโภค (น้ำ ไฟฟ้า และการสื่อสาร) ค่อนข้างสูง
• ขาดแคลนแรงงานมีทักษะ
ประเด็นที่น่าสนใจ
• ประเด็นขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาอาจบั่นทอนโอกาสการขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกันในอนาคตได้
• กัมพูชาเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำที่สุดในอาเซียน (USD 1.6/วัน) สำหรับไทยนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่อาจจะเป็นได้ทั้งการสนับสนุนและบั่นทอนโอกาสในการร่วมมือ ขยายการค้า หรือการลงทุนต่างๆ จุดแข็งของกัมพูชานอกจากเรื่องค่าแรงต่ำแล้ว ประเทศนี้ยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น แร่ธาตุ หรือป่าไม้ ส่วนเรื่องที่ต้องพัฒนาปรับปรุงต่อไปคือ เรื่องระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังให้บริการได้ไม่ทั่วถึงและมีต้นทุนค่อนข้างสูง และการขาดแรงงานที่มีทักษะ


8.ประเทศลาว

จุดแข็ง
• มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำและแร่ชนิดต่างๆ
• การเมืองมีเสถียรภาพ
• ค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ (2.06 USD/day)
จุดอ่อน
• ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
• พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและภูเขา การคมนาคมไม่สะดวก ไม่มีทางออกสู่ทะเล
ประเด็นที่น่าสนใจ
• การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานน้ำ และเหมืองแร่
• ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับลาวคือการลงทุนทางด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานน้ำ และเหมืองแร่ เพราะที่ประเทศนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะ น้ำ และ แร่ธาตุค่ะ การเมืองที่นี่ก็นิ่งและมีเสถียรภาพ บวกกับค่าแรงต่อหัวที่ยังถือว่าต่ำ (USD 2.06/วัน) ส่วนเรื่องที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนหรือการติดต่อต่างๆคือประเทศลาวไม่มีทางออกที่ติดกับทะเลเลย รวมถึงภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง ซึ่งจะมีผลต่อการขนส่ง รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังคงต้องได้รับการพัฒนาอยู่


9.ประเทศพม่า

จุดแข็ง
• มีทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก
• มีพรมแดนเชื่อมโยงจีนและอินเดีย
• ค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ (2.5 USD/day)
จุดอ่อน
• ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
• ความไม่แน่นอนทางการเมือง และนโยบาย
ประเด็นที่น่าสนใจ
• การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในประเทศเชิงรุก ทั้งทางถนน รถไฟความเร็วสูง และท่าเรือ
• พม่ากำลังทุ่มสุดตัวกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและเครือข่ายคมนาคมภายในและเชื่อมต่อภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟความเร็วสูง ถนนต่างๆ และท่าเรือ เพื่อรองรับความต้องการและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าพูดเรื่องค่าแรง พม่ายังจัดอยู่ในประเทศที่มีค่าแรงต่อหัวค่อนข้างต่ำ (USD2.5/วัน) แถมยังความได้เปรียบทางภูมิประเทศและเพื่อนบ้าน โดยมีพรมแดนเชื่อมโยงกับประเทศจีนและอินเดีย ส่วนเรื่องทรัพยากรธรรมชาติก็ยังมีอยู่มากมาย รวมถึงแหล่งพลังงานอย่าง ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันด้วย จุดที่ต้องระวัง ก็น่าจะเป็นเรื่องนโยบายในหลายๆด้านและความไม่แน่นอนทางการเมือง บวกกับสาธารณูปโภคที่ยังต้องพัฒนาอยู่


10.ประเทศไทย

จุดแข็ง
• เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรหลายรายการรายใหญ่ของโลก
• ที่ตั้งเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมด้านต่างๆ
• สาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วถึง
• ระบบธนาคารค่อนข้างเข้มแข็ง
• แรงงานจำนวนมาก
จุดอ่อน
• แรงงานส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ
• เทคโนโลยีการผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นขั้นกลาง
ประเด็นที่น่าสนใจ
• ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอาเซียนในหลายด้าน อาทิ ศูนย์กลางโลจิสติกส์ และศูนย์กลางการท่องเที่ยว
• ดำเนินงานตามแผนปรับตัวสู่ AEC ปี 53-54 ได้ 64% สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของอาเซียนที่ 53% สะท้อนการเตรียมพร้อมอย่างจริงจัง
• ปิดท้ายด้วยไทยแลนด์ แดนสยาม ประเทศอันเป็นที่รักของเราเอง ประเทศไทยตั้งเป้าเป็น Hub หรือเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นโลจิสติกส์ หรือการท่องเที่ยว จุดแข็งของประเทศเรา คือมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วถึง ที่ตั้งและภูมิประเทศเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาค ระบบธนาคารค่อนข้างแข็งแข็ง ขนาดของตลาดใหญ่ มีแรงงานจำนวนมาก รวมถึงการที่เป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลกเลยทีเดียว แต่จุดอ่อนยังคงอยู่ที่แรงงานส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ เทคโนโลยีในการผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นขั้นกลาง และระดับความรู้และการใช้ภาษากลาง (อังกฤษ) ที่อาจทำให้เสียเปรียบด้านการแข่งขันสำหรับแรงงานเมื่อมีการเปิดเสรีแล้ว

error: Content is protected !!