กล้วยไข่เป็นพืชเศรษฐกิจที่นิยมทานและส่งออกต่างประเทศ ด้วยเนื้อที่แน่น หอม หวาน และเปลือกบาง ทำให้ใครหลายๆ คนต่างชื่นชอบและเลือกทานกล้วยไข่ ที่สำคัญเป็นพืชที่เกษตรกรเลือกปลูกกันมากเป็นอันดับแรกๆ เหมือนกับกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอม
ลักษณะที่โดดเด่นของกล้วยไข่
1.สายพันธ์ที่แนะนำคือ กล้วยไข่กำแพงเพชร ทองร่วง หรือค่อมเบา เคบี-2 และเคบี-3 เป็นที่นิยมกันมากที่สูดเนื่องจากผลใหญ่ มีรสชาติหวานติดเปรี้ยวนิดๆ
2.เกษตรกรนิยมปลูกในช่วงปลายฤดูหนาวประมาณช่วงเดือนสิงหา-กันยา เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นกล้วยออกผลผลิตในช่วงหน้าแล้ง
3.พื้นที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก สำหรับกล้วยไข่ ชอบดินที่มีลักษณะเป็นดินร่วนปนดินทราย มีอินทรียวัตถุมากๆ ไม่ชอบอาหารที่ร้อน หรือหนาวจัดจนเกินไปเพราะพื้นที่อากาศหนาวส่งผลให้ต้นกล้วยออกผลช้า และจะทำให้ใบกล้วยไหม้ ต้นโตช้า แคระแกรนได้ในพื้นที่อากาศร้อนจัด
4.ไม่ค่อยชอบพื้นที่ที่มีน้ำขัง เวลาปลูกจะต้องมีการเตรียมแปลง หรือยกแปลงให้สูงๆ รวมไปถึงการระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้นกล้วย
การเตรียมหน่อกล้วยสำหรับการเพาะปลูก
สำหรับหน่อกล้วยไข่ที่จะให้ผลผลิตได้ดี จะต้องเป็นหน่อ หูกวาง ซึ่งจะมีความสูง 50 เซนติเมตร แตกใบประมาณ 2-3 ใบ โดยใบยังไม่คลี่ออกคล้ายๆกับหูกวาง ก่อนปลูกแนะนำว่าให้นำหน่อกล้วยจุ่มลงไปในน้ำที่ผสมด้วยฟูราดาน 3 ช้องแกง ปุ๋ยเกล็ด 2 ช้อนแกง ยาเร่งราก 1 ช้อนแกง ผสมกับน้ำ 50 ลิตร
หน่อที่ได้มาแล้วแนะนำให้ปลูกเลยนะครับ ไม่ควรเก็บไว้นาน แต่บางกรณีที่จำเป็นต้องเก็บไว้นานให้พรมน้ำและทำการห่อหุ้มเหง้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ รากที่ติดมากับเหง้าไม่ควรตัดทิ้งปลูกพร้อมกับรากเดิมไปเลย แต่ทั้งนี้ในการขุดจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้หน่อกล้วยช้ำ รวมไปถึงเวลาที่ขนย้าย หรือนำลงปลูก อย่าให้กระทบกระเทือนมากจนเกินไปโดยเฉพาะราก เพราะรากของกล้วยไข่สามารถเจริญเติบโตต่อจากรากเดิมได้นั่นเอง
วิธีการเตรียมการปลูกกล้วยไข่
1.จะต้องมีการเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูก ระยะที่ปลูก 2.5 x 2 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกกล้วยไข่ได้ 320 ต้น เกษตรกรไม่ควรปลูกชิดหรือห่างไปมากกว่านี้ เนื่องจากกล้วยไข่เองต้องอาศัยในการบังแดด และลมซึ่งกันและกัน
2.เริ่มต้นด้วยการปรับสภาพหน้าดิน ด้วยการไภผาน 7 เพื่อทำลายหญ้าและตากหน้าดินไว้ประมาณ 10 วัน ครั้งที่สองไถด้วยผาน 4 เป็นการปรับหน้าดินพร้อมปลูก พักหน้าดิน 10 วันเพื่อฆ่าเชื้อโรคในดิน ช่วงนี้สามารถใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก คลุกเคล้าลงไปด้วย
3.ปลูกกล้วยไข่แบบหลุมตื้น หรือให้เหง้าเสมอกับผิวดิน ขุดหลุมให้มีความลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร จากนั้นให้ใช้ดินมาพูนบริเวณโคนต้น วิธีการนี้จะช่วยให้กล้วยไข่เจริญเติบโตได้เร็วกว่าการปลูกหลุมลึก
4.เพื่อเป็นการรักษาความชุ่มชื่น แนะนำให้มีการนำเศษหญ้าแห้งมาคลุมหนาๆ บริเวณโคนต้น จะช่วยเก็บความชุ่มชื่นของหน้าดิน ที่สำคัญส่งผลให้หน่อแตกรากใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
การดูแลรักษา
1.เมื่อกล้วยอายุ 15 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ครึ่งกำมือ แล้วตามด้วยสูตร 15-15-15 เมื่อต้นกล้วยมีอายุได้ประมาณ 1 เดือน ครั้งที่ 3 และ 4 ใส่สูตรเดียวกัน ระยะห่าง 1 เดือน
2.ในครั้งที่ 5 และ 6 เปลี่ยนเป็นสูตร 20-0-0 ผสมกับสูตร 15-15-15 อัตราส่วน 1กำมือต่อต้น
3.เมื่อกล้วยไข่อายุเข้าเดือนที่ 7 สังเกตได้ว่าจะเริ่มออกปลี ช่วงนี้เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 15-3-15 อัตราส่วน 2 ช้องแกงต่อปริมาณน้ำ 20 ลิตร ฉีดบริเวณก้านของปลี เพื่อที่ปุ๋ยจะได้เข้าไปตามกาบกล้วย
4.ระยะที่กล้วยเริ่มเจริญเติบโต จะเริ่มมีหน่อแทงออกมา หน่อและใบที่แตกออกมาเหล่านี้จะคอยแย่งอาหารจากต้นแม่ ให้ใช้มีดตัด ส่วนใบเหลือไว้เพียง 10 ใบต่อต้น สำหรับหัวปลีออกมาได้ประมาณ 10 วันตัดหัวปลีออก หลังจากนี้ 45-50 วันก็สามารถตัดเครือกล้วยออกขายได้แล้ว
สำหรับการปลุกกล้วยไข่ 1 ครั้ง เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 3 ปี กล้วยปีที่ 2 จะให้ผลผลิตได้ดีกว่ารุ่นแรก และปีที่ 3 แต่การใส่ปุ๋ยจะน้อยลงกว่าปีแรก
ข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรมือใหม่
สำหรับการลงทุน หากมีต้นทุนที่ต่ำ จะช่วยให้ได้ผลกำไรสูงขึ้น ดังนั้นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว ที่เกษตรกรสามารถทำได้ คือการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของปุ๋ยชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้มะม่วงสุก เศษผักผลไม้ รวมไปถึงหอยเชอรี่ และกากน้ำตาลหมักไว้เป็นเวลา 3 เดือน แล้วกรองเอากากออก นำน้ำหมักที่ได้เหล้านั้นเพียงแค่ 3 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 2 อาทิตย์เพียงเท่านี้ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว