วิธีปลูกกล้วยหอม พร้อมคำแนะนำในการขายกล้วยหอม

กล้วยหอม เป็นพืชที่ปลุกได้ทั่วไปในประเทศไทย ชอบอากาศร้อนชื้น ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยหอมคือ 25-32 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด-ด่าง pH 5-7 ใช้ระยะเวลานับจากตอนปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวแค่ 10 เดือนเท่านั้น ถ้าหากสภาพดินและอากาศเหมาะสม ก็สามารถออกผลได้ตลอดทั้งปี นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกง่าย โตไว ขายได้ราคาดีอีกตัวหนึ่ง

กล้วยหอมมีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกกันในประเทศไทย มีอยู่ 2 ชนิดคือ กล้วยหอมทอง และกล้วยหอมเขียว

-กล้วยหอมทอง เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลาย และพวกเราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ซึ่งเมื่อนึกภาพกล้วยหอมเราก็จะมองเห็นภาพกล้วยหอมทองนี่แหละ ซึ่งเมื่อผลสุก มีสีเหลืองอร่ามคล้ายทอง
-กล้วยหอมเขียว เมื่อสุกมีผลสีเขียวอมเหลืองนิดๆ เนื้อสีเหลืองอ่อน รสชาติหวานหอม บางครั้งเรียกกล้วยเขียว ผลจะดกมากต่อหนึ่งหวีอาจมีถึง 30 ผล

การปลูกกล้วยหอม

-เตรียมดิน ไถพรวนดินให้ร่วนซุย กล้วยหอมไม่ชอบดินที่มีน้ำขัง ฉะนั้นไถปรับหน้าดินอย่าให้พื้นที่ปลูกเป็นแอ่ง ให้น้ำขังได้ ตากดินไว้ประมาณ 10 วันเพื่อฆ่าเชื้อ และกำจัดวัชพืช หากเลย 10 วันไปแล้ว ยังมีวัชพืชเหลืออยู่มากกว่าร้อยละ 20 ให้ไถพรวนซ้ำอีกรอบ
-ระยะห่างในการปลูกกล้วยหอม
อยู่ที่ประมาณ 3×3 เมตร (1 ไร่จะสามารถปลูกได้ 177 ต้น) ระยะห่างที่น้อยเกินไป จะทำให้เกิดการแออัด แย่งอาหาร และได้รับแสงแดดไม่ทั่วถึง ทำให้กล้วยพยายามดีดลำต้นขึ้นสูง เป็นลักษณะที่ลำต้นสูง แต่ออกเครือขนาดเล็ก
หลังจากปักหมุด ได้ตำแหน่งที่จะลงปลูกแล้ว ให้ขุดหลุมขนาด 40x40x40 รองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัมต่อหลุม
-การเลือกหน่อพันธุ์กล้วยเพื่อนำไปปลูก ให้เลือกหน่อที่เรียกว่าหน่อใบแคบ หรือหน่อดาบ จะเป็นหน่อที่มีลักษณะอวบ อยู่ติดกับโคนต้น มีใบรูปร่างเรียวเล็กอยู่ 3-4 ใบ
-วางหน่อพันธุ์ลงก้นหลุม หันด้านที่ติดต้นแม่ไปทางเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบ สะดวกในการดูแลรักษา เวลาออกดอก ก็จะออกไปในทิศทางเดียวกัน เอาดินลงกลบซักครึ่งหลุม กดให้แน่นเพื่อไม่ให้หน่อกล้วยโคลง เมื่อแน่นดีแล้วเอาดินใส่ให้เต็มหลุม โดยไม่ต้องกด เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา

การให้น้ำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากเป็นช่วงหน้าฝนที่ฝนตกทุกวัน ก็งดบ้าง แต่ต้องคอยดูแล อย่าปล่อยให้ดินแห้ง

การให้ปุ๋ย

ควรให้ทั้งปุ๋ยคอก(หรือปุ๋ยหมัก) และปุ๋ยเคมีร่วมกันไป ในแต่ละระยะสลับกันไป เพราะกล้วยเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารมาก
-ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 200 กรัมต่อต้น เมื่ออายุครบ 1 เดือน และให้อีกครั้ง เมื่ออายุครบ 3 เดือน
-ให้ปุ๋ยสูตร 12-12-24 200 กรัมต่อต้น เมื่ออายุครบ 5 เดือน และ 7 เดือน

กำจัดวัชพืช

หมั่นคอยดูแล ถากถาง กำจัดวัชพืชบริเวณรอบๆ ต้นกล้วยหอม อย่างน้อยเดือนละครั้ง

โรคศัตรูพืช

-โรคตายพราย เชื้อโรคจำทำลายจากรากขึ้นไปยังลำต้นจนใบเหลืองไปทั้งใบ ให้ทำการเผาทำลายต้นกล้วยที่เป็นโรคทิ้ง
-โรคใบจุด เริ่มจากจุดเล็กๆ สีเหลือง แดง ดำ ขึ้นตามใบ แล้วขยายใหญ่ขึ้น ทำให้กล้วยชะงักการเจริญเติบโต เสียคุณภาพ และรสชาติ ให้ตัดใบที่เป็นโรคออกมาเผาทำลาย และใช้สารเคมีกำจัดเชื้อราพวก เบนโนมิล คาร์เบนดาซิม หรือแคปแทน
-โรคใบเหี่ยว ใบกล้วยจะเหี่ยวเฉา เป็นสีเหลือง ให้ขุดกล้วยที่เป็นโรคไปเผาทิ้ง แล้วราดหลุมด้วยฟอร์มาลิน 5 เปอร์เซ็นต์

การตัดแต่งหน่อกล้วย

เมื่อกล้วยมีอายุประมาณ 4 เดือน จะเริ่มมีหน่อแทงขึ้นมา คอยตัดหน่อทิ้งเรื่อยๆ จนถึงเดือนที่ 6 ให้เลือกไว้หน่อให้เหลือ 2 หน่อ และให้หน่อที่ 2 ห่างจากหน่อแรก 3 เดือน

การตัดแต่งใบกล้วย

ตัดใบที่แก่ หรือเหี่ยวแห้งทิ้ง ให้เหลือประมาณต้นละ 10 ใบ จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคและแมลง เวลาตัดใช้มีดตัดให้ชิดกับลำต้น เพราะถ้าเหลือส่วนที่ยื่นออกมา เมื่อเหี่ยวเฉา อาจจะไปพันบริเวณกลางลำต้น กีดขวางการเจริญเติบโตของต้นกล้วย

ออกผลผลิต

เริ่มแทงปลี พอผ่านไป 7-8 เดือน กล้วยจะเริ่มแทงปลีออกมา และใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนที่ปลีจะบาน จากนั้นประมาณ 3 วัน จะมองเห็น“หวีตีนเต่า” ลักษณะเป็นหวีที่มีผลขนาดสม่ำเสมอกัน ให้ตัดปลีออก โดยตัดในตำแหน่งที่ต่ำกว่าหวีตีนเต่าลงมาหนึ่งหวี

การค้ำยันกล้วย น้ำหนักของเครือกล้วย อาจทำให้ลำต้นหักหรืองอได้ ควรใช้ไม้ค้ำยันบริเวณเครือกล้วย หรือบริเวณลำต้นตรงก้านเครือ และควรทำอย่างนี้ทุกต้น เวลาออกเครือ คือหลังจากขั้นตอนการตัดปลีทิ้งแล้ว

คลุมถุง หากต้องการให้กล้วยมีผิวเปลือกที่สวย ไม่มีริ้วรอย หรือเป็นจุด ให้ใช้ถุงขนาดใหญ่คลุมเครือกล้วยเอาไว้ อาจจะเป็นถุงดำก็ได้ จะให้ดีให้ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองข้างในชั้นหนึ่งก่อนครับ

เก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณ 90-110 วัน กล้วยจะแก่ได้ที่ สังเกตสีเขียวของกล้วยหวีสุดท้ายเริ่มจางลง และผลเริ่มกลม เราจะเก็บกล้วยหอมที่มีความแก่แค่ 70 เปอร์เซ็นต์ หากปล่อยให้แก่เกินไปจะเก็บเกี่ยวยาก เปลือกแตกง่าย

error: Content is protected !!