มะยงชิด (หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ามะปรางหวาน) คือมะปรางที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว แต่จะมีความหวานมากกว่าเปรี้ยวและมีขนาดผลที่ใหญ่กว่า โดยพันธุ์ของมะยงชิดที่ได้รับความนิยมสูงมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์เพชรกลางดง พันธุ์ทูลเกล้า และพันธุ์บางขุนนนท์ ราคาของมะยงชิดโดยเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 100-250 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาของมะยงชิดจะขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของผลผลิตเป็นสำคัญ ผลสุก นิยมรับประทานเป็นของว่างหรือแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ แยม เป็นต้น ผลดิบ ใช้จิ้มกะปิหวาน น้ำปลาหวาน ใช้ดองและแช่อิ่ม เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีวิตามินซีสูง มีกากใยอาหารมาก ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี
วิธีการเพาะปลูก มะยงชิดเป็นไม้ผลที่เติบโตช้า ขยายพันธุ์ได้ยากและใช้เวลาขยายพันธุ์ยาวนานกว่าไม้ผลชนิดอื่น ระยะออกดอกคือเมื่อใกล้หมดหน้าฝนฝนอากาศหนาวมาเยือน มะยงชิด กระทบอากาศหนาว อุณหภูมิราว 20 – 23 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องประมาณ 7 – 8 วัน ต้นจะแทงช่อดอกออกมาทันที แนะนำปลูกในสภาพที่ค่อนไปทางดินเหนียว เนื่องจากจะทำให้อุ้มน้ำและปุ๋ยได้ดี
การขยายพันธุ์ มะยงชิดสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง ในปัจจุบันจะนิยมต้นกล้าที่ได้มาจากการตอนกิ่ง เพราะจะทำให้ต้นมะยงชิดให้ผลผลิตได้เร็ว แต่มีข้อเสียคือได้ต้นพันธุ์น้อยทำให้ขยายพันธุ์ได้ช้า
การเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์วิธีนี้ง่าย ได้ต้นพันธุ์จำนวนมาก แต่จะมีข้อเสียคือมีโอกากลายพันธุ์และให้ผลผลิตช้า ประมาณ 7-8 ปี ดินที่ใช้ในการเพาะควรใช้ดินร่วนผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักชีวภาพและแกลบดำ ในอัตราส่วน 3:1:2 แล้วจึงนำเมล็ดมะยงชิดที่จะเพาะล้างเอาเนื้อออก ผึ่งในร่มให้แห้ง ก่อนเพาะควรนำไปจุ่มสารกำจัดเชื้อราหรือเชื้อราไตรโคเดอร์มาก่อน การเพาะควรใช้ไม้ไผ่กลมเล็กแทงลึกประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร แล้วนำเมล็ดมะยงชิดหยอดในแนวนอน กลบเมล็ดด้วยดินเพาะ รดน้ำพอชุ่มทุกวันเช้าเย็น ประมาณ 5-10 วัน เมล็ดจะงอก เมื่องอกเป็นต้นกล้าแล้วควรมีการรดน้ำและให้ปุ๋ยทางใบ เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ประมาณ 5 เดือนหรือเริ่มแตกใบแท้ แสดงว่าต้นกล้าพร้อมที่จะนำลงปลูกในแปลงดินแล้ว
การตอนกิ่ง ควรเริ่มทำการตอนกิ่งช่วงต้นฤดูฝนและควรใช้ขุยมะพร้าวหุ้มดีกว่าใช้ดิน เพราะอุ้มน้ำดีกว่า ให้เลือกกิ่งมะยงชิด ที่เป็นกิ่งเพสลาด คือผิวเปลือกสีน้ำตาลปนเขียว ลักษณะใบต้องสมบูรณ์ไม่เป็นโรค แล้วจึงควั่นกิ่งตอน โดยห่างจากปลายกิ่ง 40 เซนติเมตร เปิดแผลกว้าง 2 – 3 เซนติเมตร แกะเปลือกออก ขูดเยื่อเจริญออก แล้วทิ้งแผลไว้ 7 วัน จากนั้นจึงหุ้มกิ่งตอนด้วยขุยมะพร้าว ให้มิดรอยแผล เอาผ้าพลาสติกหุ้มต้นตออีกขั้นหนึ่ง แล้วเอาเอาเชือกรัดหัวท้ายให้แน่นพอควร ทิ้งไว้ประมาณ 45 -55 วัน ก็จะเกิดราก รอจนรากเดินดี จึงตัดไปชำ การชำควรทำในที่ร่มรำไร กิ่งตอนควรเลี้ยงไว้ประมาณ 1 – 2 เดือน จึงนำไปปลูก
การเตรียมแปลงปลูก ถ้าเป็นไปได้ควรมีการยกร่องด้วยซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมความชื้นได้ ระยะห่างในการปลูกระหว่างต้นและแถวประมาณ 8 x 8 เมตร หลุมปลูกขุดให้มีขนากว้างลึก 50 x 50 เซนติเมตร จากนั้นให้ตากหลุมเพื่อฆ่าเชื้อโรคประมาณ 1 สัปดาห์ หากดินเป็นกรดให้แก้ด้วยการโรยปูนขาวทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ด้วย
การปลูก ให้ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักชีวภาพผสมดินเดิมในอัตรา 1 : 1 รองก้นหลุม เอาต้นพันธุ์ลงหลุมแล้วกลบดินให้แน่นพูนดินบริเวณโคนเป็นรูปหลังเต่าเพื่อป้องกันน้ำขัง หากเป็นต้นพันธุ์ที่ได้มาจากการทาบกิ่ง ต้องระวังอย่าให้ดินไปกลบรอยแผลที่ทาบเอาไว้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะทำให้ต้นไม่เจริญเติบโต รอยแผลที่ทาบไว้จะเกิดเชื้อรา ทำให้เน่าได้ พอปลูกแล้วก็รดน้ำอย่าให้ดินโคนต้นแฉะ เพราะมะยงชิดไม่ชอบน้ำขังแฉะจะทำให้เกิดโคนเน่า รดน้ำให้พอดินชุ่มเท่านั้น
การให้น้ำ ในระยะแรกปลูก 2 – 3 เดือนนั้น ควรมีการให้น้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ โดยให้น้ำวันเว้นวัน เมื่ออายุได้ประมาณ 3 – 6 เดือน จึงให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เว้นแต่ช่วงฝนตกงดการให้น้ำ มะยงชิดที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งควรมีการให้น้ำ 15 – 20 วันต่อครั้ง และหากมีแสงแดดในช่วงระยะปลูกใหม่ ๆ ควรมีการใช้วัสดุพรางแสงให้ต้นมะยงชิดด้วยและทุกครั้งที่เห็นมะยงชิดแตกใบอ่อนใหม่ ๆ ช่วงดังกล่าวควรมีการให้น้ำปริมาณน้อย ๆ แต่ต่อเนื่องอยู่สม่ำเสมอ ใบที่ออกมาชุดใหม่จะได้มีใบสมบูรณ์ โดยทั่ว ๆ ไปแล้วมะยงชิดจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม ก่อนที่มะยงชิดจะออกดอกติดผล 2 – 3 เดือน ควรงดการให้น้ำ เพื่อให้มะยงชิดสะสมอาหารเพียงพอที่จะทำให้ดอกที่ออกมามีความสมบูรณ์และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพหรือปุ๋ยคอก เดือนละหนึ่งครั้งบริเวณแนวทรงพุ่ม ในช่วงที่มะยงชิดกำลังติดดอก ให้ฉีดบำรุงด้วย ยาบำรุงหรือน้ำหมักสูตรบพรุงดอกและผล
การตัดตกแต่งกิ่ง หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตหมด จึงเริ่มตัดแต่งกิ่ง โดยตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่ม ตัดให้แสงแดดส่องถึงบริเวณโคนต้นได้ ตัดเอากิ่งที่แก่เกินและกิ่งที่เป็นโรคออก ควรตัดให้เรียบและตัดให้ชิดโคนกิ่ง เมื่อตัดเสร็จให้ทาแผลตัดด้วยปูนขาวหรือปูนแดง เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อซึ่งทำให้กิ่งเน่าได้
โรค แมลงและศัตรูพืช ในช่วงที่มะยงชิดแตกใบอ่อนต้องป้องกันแมลงทำลายใบอ่อนด้วยสมุนไพรไล่แมลงทุก ๆ 3 วันครั้งหากพบโรคเชื้อรามีอาการเน่าบริเวณโคนต้น ลำต้น กิ่ง ให้ใช้ยาฆ่าเชื้อหรือเชื้อราไตรโคเดอร์มาราดหรือฉีดพ่นตามบริเวณที่เกิดเชื้อรา ทุก ๆ 5 – 7 วันจนกว่าจะหาย สำหรับแมลงวันทองศัตรูหลักของมะยงชิดนั้น ป้องกันด้วยการทำสวนให้สะอาด ให้โล่งเตียน ไม่ให้มีเปลือกหรือผลตกหล่นตามสวนไว้เป็นที่เพาะพันธุ์แมลงวันทอง หากมีการระบาดหนักให้ราดบริเวณสวนด้วยเชื้อไมธาเซียมเพื่อเป็นการขจัดตัวอ่อนแมลงวันทองที่ฟักตัวอยู่ในดินนั่นเองและเมื่อผลมีอายุได้ 3 สัปดาห์ ควรมีการห่อผลเพื่อป้องกันนกและแมลงวันทองด้วย
มะยงชิดถือเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ขายได้ราคาดี นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลาย แต่มีข้อเสียคือกว่าจะได้ผลผลิตนั้นต้องใช้ระยะเวลานาน ผู้ที่ต้องการปลูกแนะนำให้ปลูกพืชอื่นแซมไปด้วย เพื่อที่จะเป็นรายได้ระหว่างที่รอต้นมะยงชิดโตและให้ผลผลิตนั่นเอง