วิธีปลูกพลับ พร้อมคำแนะนำในการขายพลับ

พลับ มีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเรามากที่สุดก็คือสายพันธุ์ Diospyros kaki L.f. ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในภาคเหนือของจีน ซึ่งในจีนมีการรับประทานลูกพลับมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ต่อมาได้แพร่กระจายพันธุ์เข้าไปในญี่ปุ่นและในปัจจุบันก็ได้กลายเป็นผลไม้ยอดนิยมของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง (ญี่ปุ่นจะเรียกว่าลูกพลับว่า “คาขิ“)

พลับถือเป็นไม้ผลกึ่งร้อน มีทรงต้นขนาดใหญ่ ดอกมีสีเหลืองอ่อน ลักษณะของผลจะมีหลายรูปทรง ทั้งแบบกลม กลมรี กลมแบน ส่วนผลอ่อนของลูกพลับจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีเหลืองและมีเนื้อนิ่มและหวาน กรอบ อร่อย ซึ่งเป็นแหล่งรวมของเหล่าสารอาหารต่าง ๆ มีประโยชน์ในการบำรุงสายตาและต่อต้านอนุมูลอิสระได้หลายชนิด มีคุณสมบัติช่วยให้ระบบการขับถ่ายดี และยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ช่วยในการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย

พลับมี 2 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ ได้แก่ ลูกพลับพันธุ์หวาน เช่น พันธุ์ฟูยุ (รสหวาน ผลสุกสีส้มอมเหลือง สามารถรับประทานสด ๆ ได้) และลูกพลับพันธุ์ฝาด เช่น พันธุ์ซิชู พันธุ์ฮาชิยา (รสฝาด เนื้อนิ่ม ผลสุกเนื้อสีส้มอมแดง ต้องนำมาผ่านกระบวนการลดความฝาดก่อนถึงจะรับประทานได้)

ส่วนการปลูกพลับในประเทศไทยเริ่มต้นจากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำพันธุ์ต่างๆ เข้ามาปลูกวิจัยร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2512 ที่สถานีวิจัยดอยปุย จนประสบความสำเร็จและส่งเสริมให้ปลูกเป็นการค้า

วิธีการเพาะปลูก พลับจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรขึ้นไป เป็นไม้ผลที่มีการผลัดใบ ต้องการสภาพอากาศที่หนาวเย็นอุณหภูมิเฉลี่ย 14-15 องศาเซลเซียสและมีชั่วโมงความหนาวเย็นประมาณ 150-300 ชั่วโมง พลับขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะที่สุดคือดินร่วนปนทราย และควรเป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตดี ในฤดูหนาวใบจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พอถึงเดือนมกราคมใบจะร่วงหมดต้น ต้นพลับจะพักตัวจนถึงเดือนมีนาคมก็จะเริ่มผลิใบขึ้นมาใหม่หลังจากนั้นไม่นานก็จะมีการผลิดอกและติดผล ผลจะแก่ในราวเดือนสิงหาคมถึงกันยายน

การขยายพันธุ์ ทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การติดตา และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมทำกันส่วนใหญ่จะเป็นการติดตา หรือตอนกิ่ง เนื่องจากทำให้ได้ต้นตอที่มีระบบรากแข็งแรง ไม่มีการกลายพันธุ์ มีการเจริญเติบโตได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ซึ่งในประเทศไทยมักใช้ต้นตอของพืชที่มีระบบรากแข็งแรง เช่น กล้วยฤาษี ตะโกนา ตะโกสวน จันเขา หรือมะพลับดง สำหรับกล้วยฤาษีเป็นไม้ป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณภูเขาสูงทางภาคเหนือของไทย มีลำต้นใหญ่ระบบรากลึกทนสภาพแห้งแล้งเติบโตดี นิยมใช้เป็นต้นตอ

การเตรียมแปลงปลูก ฤดูปลูกที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพลับจะอยู่ในช่วงต้นฤดูฝน ระยะปลูกที่เหมาะสมคือตั้งแต่ 6 x 6 ถึง 8 x 8 เมตร ขุดหลุมปลูกที่มีขนาดของความกว้างและยาวประมาณ 0.5 x 0.5 เมตร โดยขุดให้ลึกลงไปในดินประมาณ 1 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกประมาณครึ่งปี้ปจากนั้นจึงนำต้นกล้าพลับที่เตรียมไว้ลงปลูก

การให้น้ำ ในช่วงแรกให้รดน้ำทั้งตอนเช้าและตอนเย็น เมื่อต้นพลับเริ่มตั้งตัวได้จึงรด 3 – 4 วันต่อครั้ง นอกจากนี้ในช่วงฤดูแล้งคือประมาณเดือนมีนาคม พลับจะมีการแตกตาและเริ่มแตกยอดใหม่ ควรมีการให้น้ำบ้างซึ่งจะช่วยทำให้ต้นพลับมีการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตดีขึ้น
การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 เมื่อเริ่มติดดอกและใส่สูตร 15-15-15 หลังจากทำการเก็บเกี่ยวและตัดแต่งกิ่งแล้ว โดยการพรวนดินตื้น ๆ รอบ ๆ ทรงพุ่มของต้นพลับ แล้วจึงโรยปุ๋ยลงไป กลบดิน รดน้ำพอชุ่ม สำหรับอัตราการใส่ปุ๋ยจะขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของพลับ
โรค ศัตรูพืชและการป้องกัน พลับเป็นไม้ผลที่ไม่ค่อยจะมีปัญหาในเรื่องโรคและแมลงมากนัก ซึ่งในเมืองไทยยังมีการศึกษากันน้อยมาก แต่ในต่างประเทศมีสำคัญๆ เช่น

1. แมลงศัตรูพืชต่าง ๆ เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย แมลงวันทอง และแมลงกัดกินใบ แก้ไขโดยการใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียหรือน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลงฉีดพ่นทุก ๆ 2 – 3 วันจนกว่าแมลงจะหมด
2. โรค Grown gall สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ acterium tumorfaciens ป้องกันโดยการไม่นำเอาต้นที่เป็นโรคไปปลูกแต่สำหรับประเทศไทยมักไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

การเก็บเกี่ยวผลผลิต พลับจะให้ผลผลิตจนถึงระยะเก็บเกี่ยวได้แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และสภาพของพื้นที่ที่ใช้ปลูก ซึ่งปกติจะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ลักษณะผลที่เก็บเกี่ยว จะเป็นผลแก่จัดที่มีผิวผลสีเหลือง เก็บเกี่ยวโดยใช้กรรไกรที่คมและสะอาดตัดบริเวณขั้วผล ระมัดระวังไม่ให้ผลมีรอยตำหนิหรือบอบช้ำ เพราะนอกจากจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ยังทำให้เก็บรักษาไว้ได้ไม่นานอีกด้วย เนื่องจากเชื้อราจะเข้าทำลายทำให้ผลเน่าเสียได้ง่าย หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วควรจะใช้กระดาษฟางห่อผลคล้ายกับการห่อผลแอปเปิลเรียงซ้อนกัน 2-3 ชั้น ในกล่องกระดาษพร้อมที่จะขนส่งสู่ตลาด

การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งกิ่งต้องทำตั้งแต่ต้นพลับยังเล็กและทำเป็นประจำทุกปี โดยทำการตัดยอดให้เป็นทรงต้นและตัดกิ่งออกให้เหลือกิ่งที่สมบูรณ์ไว้ประมาณ 3 – 4 กิ่ง นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งควรทำในฤดูหนาว ซึ่งจะเป็นช่วงที่ต้นพลับพักตัว จะอยู่ในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

ในปัจจุบันการปลูกต้นพลับให้ได้ผลนั้นควรเลือกวิธีการติดตาหรือทาบกิ่งจะดีที่สุด ต้นพลับถือเป็นพืชที่น่าปลูกอีกชนิดหนึ่งเนื่องจากการปลูกเพื่อการพานิชย์ในบ้านเรายังไม่แพร่หลายทำให้ลูกพลับมีราคาแพงไม่น้อย ถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับเกษตรกรเลยทีเดียว

error: Content is protected !!