วิธีปลูกลูกพรุน พร้อมคำแนะนำในการขายลูกพรุน

ลูกพรุน (Prunes) หรือลูกพลัม (Plum) หรือลูกไหน ผลไม้ทั้ง 3 ชนิดนี้คือผลไม้ชนิดเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่ลูกพรุนคือผลที่ได้จากการนำลูกพลัมมาตากแห้ง ส่วนลูกไหนก็เป็นชื่อที่คนไทยเชื้อสายจีนเรียกลูกพลัมนั่นเอง ลูกพรุนเป็นผลไม้ที่อยู่ในสกุลเดียวกับลูกท้อ และเชอร์รี เปลือกนอกมีหลากหลายสี ตั้งแต่สีเขียว น้ำเงิน เหลือง สีแดงเข้มไปจนถึงดำ เนื้อมีสีแตกต่างกัน ทั้งสีเหลืองครีม สีแดงเข้ม สีม่วง หรือสีเขียวอ่อน ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ รสชาติหวานอร่อย แต่หากยังไม่สุกเต็มที่จะมีรสชาติฝาด มีมากมายหลายพันธุ์แตกต่างตามภูมิประเทศและสถานที่ปลูก

สำหรับในประเทศไทยนั้น การปลูกพลัมในสมัยก่อนจะมีการนำเข้าสายพันธุ์มาจากเมืองจีน เรียกกันว่า ลูกไหน ซึ่งเป็นพลัม ที่มีคุณภาพที่ไม่ดีนัก ตามดอยต่าง ๆ บางทีอาจจะพบพลัมผลขนาดเล็กปลูกกันอยู่บ้าง เป็นพลัมที่จีนฮ่อนำเข้ามาปลูกในสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันโครงการหลวงได้ทำการวิจัยจนประสบผลสำเร็จและได้แนะนำสายพันธุ์ต่าง ๆ ให้เกษตรกรปลูกอยู่ในขณะนี้ ตัวอย่างเช่น พันธุ์ Gulf Ruby จะมีขนาดใหญ่และรสดี นอกจากจะใช้รับประทานสดแล้ว ยังใช้แปรรูปได้ดีอีกด้วย พันธุ์ลูกพลัมที่เจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ในสายสกุล Japanese plum แต่ก็ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่สามารถปลูกในไทยได้เช่นกันแต่เจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าพันธุ์ญี่ปุ่น พลัมสามารถแบ่งตามการใช้ประโยชน์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พลัมชนิดที่ใช้รับทานแบบสด ๆ เหมือนผลไม้ทั่วไป ได้แก่พันธุ์กัลฟ์โกล พันธุ์กัลฟ์รูบี้ พันธุ์เหลืองบ้านหลวง และพันธุ์แดงบ้านหลวง อีกชนิดหนึ่งคือพลัมสำหรับการแปรรูป เช่น การนำมาทำเป็นแยมพลัม น้ำลูกพลัม นำมาดอง หรือนำแช่อิ่ม ได้แก่ พันธุ์จูหลี่

วิธีการปลูกต้นพลัม สำหรับการปลูกต้นพลัมนั้น จะต้องปลูกในพื้นที่ที่สูงกว่าน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป และต้องมีความหนาวเย็นในการทำลายการพักตัวยาวนานประมาณ 100 – 300 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกพลัมออกดอกออกผล ซึ่งส่วนใหญการออกดอกจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็มีบางสายพันธุ์เหมือนกันที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่สูงกว่าน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป พลัมจะสุกใกล้เคียงกับท้อคือประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม

การขยายพันธุ์ การขยายพันธุ์มีหลายวิธีเช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง แต่ในปัจจุบันนิยมขยายพันธุ์โดยการใช้ต้นท้อพันธุ์พื้นเมืองเป็นต้นตอ แล้วจึงนำกิ่งพันธุ์ของพลัมไปเสียบยอดกับต้นตอท้อ

การเตรียมแปลงปลูก ควรปลูกพืชเป็นแนวหรือทำแนวกั้นลม เพื่อป้องกันต้นพลัมบอบช้ำ พื้นที่ปลูกน้ำต้องไม่ท่วมขัง ซึ่งระยะปลูกที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 4×4 เมตร แต่จะใช้ระยะปลูกที่ 3×4 เมตร หรือ 2×4 เมตรก็ได้เช่นกันแต่ต้องมีการดูแลรักษาอย่างดี เมื่อขุดหลุมเสร็จควรตากหลุมทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อฆ่าเชื้อโรค หากดินเปรี้ยวปรับปรุงดินโดยการโรยปูนขาวให้ทั่วแล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์
การปลูก ให้ใช้ดินเดิมผสมกับปุ๋ยหมักชีวภาพหรือปุ๋ยคอกและแกลบดำ ในอัตราส่วน 2:2:1 รองก้นหลุม แล้วจึงนำต้นพันธุ์ลงปลูก กลบดินให้แน่น พูนดินบริเวณโคนต้นให้เป็นรูปหลังเต่าเพื่อป้องกันน้ำขัง

การให้น้ำ ในช่วงแรกนั้นให้รดน้ำทุกวันเช้าเย็น จากนั้นจึงทิ้งช่วงไปเรื่อย ๆ เป็น 3 วันครั้ง 7 วันครั้ง

การให้ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพหรือปุ๋ยคอกประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง อัตราการใส่ปุ๋ยก็ควรให้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของต้นพลัมและในช่วงที่ต้นพลัมติดดอกออกผลให้ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพสูตรบำรุงดอกและผล

การตัดแต่งกิ่ง พลัมมีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีการแตกกิ่งก้านสาขามากมาย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการตัดแต่งในช่วงการปลูกระยะแรก ๆ อาจจะต้องมีการตัดแต่งอย่างหนัก เพื่อให้เกิดทรงต้นที่เหมาะสม ซึ่งทรงต้นที่เหมาะสมสำหรับพลัมควรจะเป็นแจกันหรือเป็นพุ่มแจ้ เพื่อต้นมีอายุแข็งแรงและให้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้นพลัมอายุมากขึ้นก็สามารถลดปริมาณการตัดแต่งลงได้ เนื่องจากต้นพลัมจะเป็นทรงพุ่มไปตามธรรมชาตินั่นเอง นอกจากนี้ในช่วงก่อนการออกดอกหรือช่วงก่อนเข้าฤดูหนาวควรมีการการตัดแต่งกิ่งน้ำค้างหรือกิ่งอ่อนจะช่วยเร่งให้ต้นพลัมเกิดกิ่งสเปอร์มากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการออกดอกและการติดผลมากขึ้นไปด้วยและเมื่อพลัมติดผลแล้วจะต้องมีการปลิดผลส่วนเกินออกบ้างเพื่อให้ผลที่เหลือมีคุณภาพที่ดีและขนาดผลใหญ่ขึ้น การปลิดผลควรปลิดผลควรปลิดให้เหลือผลห่างกันประมาณ 7-10 เซนติเมตร ผลที่อยู่เป็นกลุ่ม ๆ ควรปลิดออกให้เหลือเพียงผลเดียว

ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต พลัมแต่ละพันธุ์มีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตแตกต่างกัน แต่ก็จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนการเก็บเกี่ยวลูกพลัมในช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือในช่วงที่ลูกพลัมสุกเต็มที่แต่ผลของมันยังแข็งอยู่นั่นเอง

โรคและแมลงศัตรูพืช โรคที่พบบ่อยจะเป็นโรคพวกเชื้อราเช่น โรครา โรคราแป้ง แก้ไขด้วยการใช้สารกำจัดเชื้อราหรือเชื้อราไตรโคเดอร์มาราดหรือพ่นบริเวณที่เกิดโดรค ทุก ๆ 5 -7 วันจะกว่าจะหาย แมลงศัตรูพืชที่พบเจอบ่อยคือเพลี้ยไฟและแมลงวันทอง ป้องกันและกำจัดได้ด้วยการใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียฉีดพ่น ทุก ๆ 3 วันจนกว่าแมลงจะหาย หมั่นทำความสะอาดสวนและบริเวณโคนต้นให้สะอาด แดดส่องถึง หากมีแมลงวันทองระบาดหนัก ให้ใช้เชื้อราเมธาไรเซียมราดบริเวณพื้นดินทั่วทั้งสวนเพื่อเป็นการกำจัดตัวอ่อนของแมลงวันทองที่ฟักตัวอยู่ในดินนั่นเอง

พลัมยังถือว่าเป็นพืชที่ปลูกยากอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ในแต่ละสายพันธุ์ยังมีการดูแลที่แตกต่างกัน บางสายพันธุ์เป็นต้นที่มีทั้งเพศผู้และเพศเมียในต้นเดียว แต่บางสายพันธุ์ก็จะเป็นต้นแยกพันธุ์ ผู้ที่ต้องการปลูกควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ดีเสียก่อน

error: Content is protected !!