วิธีปลูกแครอท พร้อมคำแนะนำในการขายแครอท

แครอทเป็นผักที่ใช้รับประทานเฉพาะหัว มีรสชาติที่หวานกรอบ จึงกลายเป็นผักยอดนิยม ที่สำคัญยังอุดมไปด้วย วิตามินเอและเกลือแร่ และสารเบต้าแคโรทีน โดยวิตามินเอจะเข้าไปช่วยในด้านบำรุงสายตา เนื้อเยื่อ ยับยั้งความเสื่อมโทรมของส่วนต่างๆในร่างกาย กระตุ้นให้ระบบการทำงานของร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ มีความเชื่อกันว่า แครอท สามารถป้องกันและยังยั้งโรคมะเร็งได้อีกด้วย

สรรพคุณของแครอท
1. ช่วยในการบำรุงสายตา ป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจก
2. สำหรับหนุ่มสาวต้องหาทานกันมากๆ เนื่องจากมีสรรพคุณในการป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต ไม่ให้ผิวคล้ำเสีย อีกทั้งต่อต้านสารอนุมูลอิสระ
3. รักษาเยื่อบุในร่างกาย ช่องปากและทางเดินอาหาร
4. เสริมสร้างกระดูและภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคภูมิแพ้ โรคมะเร็ง และโรคในระบบหัวใจ

วิธีการปลูกแครอท

ก่อนอื่นจะต้องทราบก่อนเลยว่าแครอทเป็นพืชที่ชอบอยู่ในอุณหภูมิต่ำสุด และสูงสุดที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีคือ 7.2 – 23.8 องศาเซลเซียล โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวจะเห็นเกษตรกรปลูกแครอทมากที่สุดค่ะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าฤดูอื่นๆ จะไม่ปลูกกัน แครอทปลูกได้ทุกฤดูตลอดปี แต่จะให้ผลเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุดในช่วงฤดูหนาว-ฤดูร้อน ส่วนฤดูฝนเกษตรกรไม่ค่อยนิยมปลูกสักเท่าไหร่ เพราะนอกจากเผชิญกับปัญหาสภาวะอากาศ ฝนฟ้าแล้วยังเจอกับปัญหาโรค แมลง ที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำอีกด้วย

ดินที่เหมาะสมในการปลูกแครอท จะต้องเป็นดินร่วนปนทราย ประกอบไปด้วยอินทรียวัตถุสูง สามารถระบายน้ำได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญหน้าดินจะลึกจะช่วยให้แครอทออกมามีคุณภาพดีหัวตรง ไม่คดงอ และไม่แตกแขนง

แครอทสามารถปลูกได้ 2 วิธี คือการหว่าน และการหยอดเมล็ด การหยอดเมล็ดจะช่วยควบคุมระยะห่างระหว่างต้นได้ดีกว่าการหว่าน เหมาะสำหรับการเพาะในกระถาง หรือพื้นที่น้อย แต่โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรนิยมแบบหว่านมากกว่าเนื่องจากสะดวกง่าย รวดเร็ว ที่สำคัญประหยัดต้นทุน เนื่องจากเพาะปลูกบนพื้นที่กว้าง

ขั้นตอนในการปลูกแครอท

1. การเตรียมสถานที่สำหรับการเพาะปลูก หรือสามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าการเตรียมแปลง
– ทำการขุดดินให้มีความร่วนและซุย ลึกประมาณ 1 ฟุต
– ไถพรวนดิน ผสมกับปุ๋ยหมักชีวภาพ 2 กิโลกรัม แกลบดำ 1 ถุง และอาหารสัตว์ ต่อ1 ตารางกิโลเมตร
– สำคัญ แปลงดินที่เตรียมไว้จะต้องไม่มี กรวด หิน ไม้ปะปนอยู่ เพราะมันจะทำให้หัวแครอทเกิดการคดงอ หรือบิดเบี้ยวได้
2. แปลงผักกว้าง 1 เมตร สามารถปลูกได้ 3 แถว วิธีการให้ใช้มีดกรีดเป็นร่องเล็กๆ ตามแนวยาวของแปลง เมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาหยอด ให้ผสมทรายเล็กน้อย
3. เมื่อหยอดเมล็ดพันธุ์เรียบร้อยแล้วให้กลบด้วยดิน หรือแกลบดำ คลุมด้วยฟาง เพื่อจะได้กักเก็บความชื้นและน้ำ
4. รดน้ำให้ชุ่ม ปล่อยให้ต้นกล้างอกออกมา
5. เมื่อต้นกล้าโตได้ประมาณ 15 เซ็นติเมตร ถอนออก เว้นระยะความห่างอยู่ที่ 7 เซนติเมตรต่อต้น เพื่อที่หัวแครอทออกมาสวย ไม่เบียดกัน
6. ทำการเติมปุ๋ยหมักชีวภาพ ทุกๆ 20 วัน ในปริมาณ 300 กรัมต่อ 1 ตารางเมตร
7. สำหรับเกษตรกรในการเพาะปลูกแครอท มักประสบกับปัญหา หัวแครอทถูกเสี้ยนดินทำลาย ส่งผลให้เกิดการเน่าเสีย แนะนำให้รดน้ำหมักสะเดา ทุก 3-5 วัน
8. กรณีที่แครอทมีใบที่สวยอย่าดีใจไปนะคะ เพราะนั่นคือสัญญาณอันตรายของเกษตรกร เนื่องจากอาหารไปเลี้ยงส่วนใบหมด ทำให้มีหัวขนาดเล็ก ไม่ได้มาตรฐาน วิธีการแก้ให้หักใบออก หรือใส่รองเท้าเหยียบยอด เพื่อลดการลำเลียงอาหารไปเลี้ยงใบ

โรคและแมลงศัตรูพืช ที่เป็นอันตรายต่อการปลูกแครอท นอกจากการขั้นตอนการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษาแล้ว สิ่งที่ต้องพึงระวัง คือภัยร้ายที่มาทำลายแครอท อย่างโรคต่างๆ และศัตรูพืชดังนี้

1. โรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา Cercospora sp. และ Alternaria sp. เกษตรกรจะพบปัญหาเหล่านี้ในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่พืชลงหัวแล้ว สาเหตุหลักเลยคือได้รับการดูแลที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ทั่วถึง สามารถป้องกันได้โดยวิธีการใช้โลนาโคล หรือ แอนทราโคล หรือ ไดเทนเอ็ม 45 อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดพ่น หากเป็นฤดูฝนอาจมีการชะล้างจากน้ำฝน แนะนำให้ใช้สารจับใบผสมก่อนฉีด
2. โรครากปม เกิดจากไส้เดือนฝอยคอยแทะ หรือทำลายหัวแครอท วิธีการป้องกันก่อนที่จะมีการปลูก หรือลงเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรทำการขุดดินผึ่งแดด เพื่อกำจัดไข่ และตัวอ่อนของไส้เดือนฝอยเสียก่อน อาจเสียเวลาบ้างเล็กน้อย แต่ถือว่าคุ้มหากนึกถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
3. โรคหัวเน่าเป็นโรคที่น่าเจ็บใจมากที่สุด พบมากในช่วงฤดูฝน และเป็นช่วงที่ใกล้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวแล้ว หากมีโรคนี้แทรกซ้อนเข้ามากำจัดด้วยวิธีการถอนต้นที่เป็นโรคทิ้งไป
4. นอกจากนี้ยังมีศัตรูพืชอย่างปลวกและเพลี้ยอ่อนที่เข้ามาทำลาย หัวและดูดกินน้ำที่เลี้ยงปลายใบ ปลวกสามารถกำจัดได้ด้วยยาลอร์สแบน หรือ คูมิฟอส ส่วนเพลี้ยอ่อนให้ทำการฉีดพ่นด้วยพิริมอร์ หรือ อโซดริน ในทุกๆ 7 วัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับการปลูกแครอท เพียงแค่เราจะต้องหมั่นสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด มันก็สามารถให้ผลผลิตและสร้างเม็ดเงินให้คุณไม่น้อย สามารถปลูกได้ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม

error: Content is protected !!