เสาวรส เป็นผลไม้เขตร้อนที่มีต้นกำเนิดในแถบทวีปอเมริกาใต้ บริเวณแถบประเทศบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2498
เสาวรสเป็นไม้เถาเลื้อย ที่บริเวณเถาจะมีมือเกาะซึ่สามารถเลื้อยไปได้ไกลประมาณ 12 เมตร อายุอยู่ได้นานประมาณ 3 – 5 ปี ลักษณะของผล เสาวรสจะออกผลเป็นผลเดี่ยว ผลมีรูปทรงกลมหรือรูปไข่ และอวบน้ำ ขนาดผลประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีน้ำหนักผลประมาณ 35-115 กรัม ขึ้นอยู่กับขนาดผล ผลมีลักษณะกลม ผลอ่อนจะมีสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ คือ สีม่วง สีเหลือง สีส้ม ซึ่งในบ้านเรานี้จะปลูกครบทั้ง 3 สายพันธุ์ โดยในผลเสาวรสนั้นจะมี ชั้นในสุดของเปลือกเป็นเยื่อสีขาวที่เรียกรก มีเมล็ดสีดำจำนวนมาก มีกลิ่นคล้ายฝรั่งสุก รสออกเปรี้ยวจัด แต่บางสายพันธุ์จะมีรสออกอมหวานด้วย
วิธีการเพาะปลูก เสาวรสนั้นปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุสูง ไม่ชอบน้ำขัง ชอบดินที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย (ค่า pH ประมาณ 6 ) เพียงใส่ปุ๋ย ก็ให้ผลผลิตสูง
การขยายพันธุ์ สามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็น การเพาะเมล็ด การปักชำ และการเสียบยอด แต่จะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและเพาะเมล็ดมากกว่า
การเพาะเมล็ด การปลูกเสาวรสด้วยต้นกล้าจากเมล็ดเป็นวิธีที่นิยมที่สุด เพราะสะดวก รวดเร็ว และได้ต้นกล้าจำนวนมาก อีกทั้ง ต้นที่เติบโตสามารถแตกกิ่งได้มากและลำต้นมีความแข็งแรงมากกว่าต้นที่ได้จาการตอนกิ่งหรือการปักชำ เมล็ดที่ใช้เพาะ ควรเลือกจากผลเสาวรสที่มีผลขนาดใหญ่ ผลมีความสมบูรณ์ เปลือกผลเป็นมันวาว ไม่มีรอยกัดแทะของแมลง เมื่อเลือกผลได้แล้ว ให้ผ่าครึ่งผล จากนั้น ใช้ช้อนตักเมล็ดออกรวมกันใส่ถ้วย จากนั้นจึงนำเมล็ดมาใส่ผ้าขาวบาง แล้วนำไปขยี้ให้น้ำเพื่อให้เยื่อหุ้มเมล็ดหลุดออกจากเมล็ด แล้วจึงนำเมล็ดมาล้างทำความสะอาด พร้อมขยำในน้ำอีกรอบ แล้วนำเมล็ดมาตากผึ่งแดดให้แห้ง นาน 5-7 วัน
ก่อนจะห่อด้วยผ้าขาวเก็บพักไว้ในที่ร่มนาน 1 – 2 เดือน ค่อยนำมาเพาะ (พักไว้เพื่อให้เมล็ดเข้าสู่ระยะพักตัว) เมื่อครบ 2 เดือนจึงนำไปเพาะโดยที่ก่อนเพาะนั้นให้นำเมล็ดมาแช่น้ำไว้ 1 คืน การเพาะเมล็ดอาจเพาะในถุงเพาะชำได้โดยตรงหรือหยอดเพาะในกระบะเพาะก่อน แล้วค่อยแยกลงเพาะต่อในถุงเพาะชำ ทั้งนี้เสาวรส 1 ผล จะแยกเมล็ดได้ประมาณ 150 – 200 เมล็ด
การเตรียมแปลงปลูก ควรวางแนวปลูกในแนวทิศเหนือ – ใต้ เพื่อให้เสาวรสได้รับแสงเต็มที่ เพราะเสาวรสนั้นต้องการแสงแดดวันละ 6 – 8 ชั่วโมง ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 3 x 3 เมตร ขุดหลุมกว้างและลึกประมาณ 50 x 30 เซนติเมตร จากนั้นจึงปล่อยหลุมตากแดดไว้ 3 – 5 วัน เพื่อกำจัดเชื้อโรค
การทำค้าง เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเสาวรสเป็นไม้เถาเลื้อย จำเป็นต้องเกาะเลื้อยไปตามวัสดุต่างๆ การเตรียมค้าง ควรเตรียมหลังการขุดหลุมปลูกเสร็จหรือทำร่วมกับการขุดหลุมปลูก หรืออาจทำหลังการปลูก แต่ต้องระวังไม่ให้ต้นเสาวรสได้รับอันตรายขณะทำค้าง การเตรียมค้างทำได้โดยการใช้เสาคอนกรีตหรือเสาไม้มาฝังใกล้กับต้นเสาวรสตามแนวยาวของแถว จากนั้น ใช้ลวดขึงโยงแต่ละเสาตามแนวยาว แล้วค่อยขึงโยงตัดตามแนวขวางให้เป็นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 50 × 50 เซนติเมตร
การปลูก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก แกลบดำและหน้าดินเดิม ในอัตรา 1 : 1 : 1 แล้วจึงนำต้นกล้าที่เพาะไว้ปลูก กลบดินให้แน่นให้พูนดินบริเวณโคนต้นเป็นรูปหลังเต่าเพื่อป้องกันน้ำขัง
การให้น้ำ ควรให้น้ำตามความเหมาะสม เนื่องจากเป็นพืชทนแล้ง อาจให้น้ำเมื่อเห็นว่าบริเวณหน้าดินแห้ง ประมาณ 5 – 7 วันก่อนการเก็บเกี่ยวให้งดการให้น้ำ
การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพหรือปุ๋ยคอก ต้นละประมาณ 2 – 3 กำมือ ต่อครั้ง ต่อเดือน
การตัดแต่งและจัดทรงต้น เสาวรสมีการจัดทรงต้นเช่นเดียวกับไม้ผลชนิดอื่น ๆ ซึ่งจะต้องจัดทรงต้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต เริ่มตัดแต่งตั้งแต่หลังปลูกจนกระทั่งต้นขึ้นค้าง โดยจะต้องให้เสาวรสมีลำต้นเดียวตั้งแต่ระดับพื้นดินจนถึงค้าง ระยะนี้จะต้องคอยตัดหน่อที่งอกจากต้นตอและกิ่งของต้นออกให้หมดรวมทั้งต้องมัดเถาให้เลื้อยขึ้นตั้งตรงอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้ายอดของเถาห้อยลงจะทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโตและแตกตาข้างมาก หากมีการติดผลต้องหมั่นเด็ดผลทิ้งจนกว่าต้นจะเจริญเติบโตขึ้นถึงค้าง หลังจากต้นถึงค้างแล้วให้ทำการตัดยอดเพื่อบังคับให้แตกเถาใหม่ 3 – 4 กิ่ง จากนั้นจัดเถาให้กระจายออกไปโดยรอบต้นทั่วพื้นที่ของค้างและควรตัดยอดของทุกเถาอีกครั้งเมื่อยาวพอสมควรแล้วเพื่อช่วยให้แตกยอดมากขึ้น
การคัดเลือกผล โดยธรรมชาติเสาวรสจะออกดอกติดผลได้ง่าย โดยดอกจะเกิดที่ทุกข้อบริเวณโคนก้านใบของกิ่งใหม่ ถึงแม้ว่าดอกบางส่วนจะร่วงไม่ติดผล แต่ก็ยังเหลือส่วนที่ติดผลค่อนข้างมาก ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ จึงต้องปลิดผลที่มีคุณภาพต่ำทิ้ง เพื่อให้ผลที่เหลืออยู่มีคุณภาพดี โดยใน 1 เถา เสาวรสจะให้ผลที่มีคุณภาพดี 1 ช่อ ช่อละ 3-4 ผล หลังจากติดผล 1 ชุดแล้วผลชุดต่อไปมักมีขนาดเล็กเนื่องจากมีอาหารไม่เพียงพอจึงต้องปลิดทิ้งบ้าง นอกจากนี้ยังมีผลที่บิดเบี้ยวเนื่องจากการทำลายของโรคและแมลงซึ่งต้องปลิดทิ้งด้วย โดยปลิดเมื่อผลยังมีขนาดเล็กอยู่
การเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังจากดอกผสมเกสรแล้ว ดอกจะพัฒนาเป็นผลขนาดเล็ก และเจริญจนผลสุกพร้อมเก็บ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 50 – 70 วัน หลังการติดผล แนะนำอย่ารอให้ผลสุกเต็มที่ให้เก็บเสียก่อน เก็บเมื่อผลสุกประมาณ 70 – 80 เปอร์เซนต์ แล้วค่อยนำไปบ่มต่อ เพื่อให้สีของผลสวยและมีรสชาติดีขึ้น เก็บเกี่ยวผลโดยการใช้กรรไกรตัดขั้วผลจากต้นให้ขั้วผลสั้นติดผล โดยทั่วไปแล้วจะทำการเก็บเกี่ยวทุกๆ 2 – 3 วันต่อครั้ง
ในการบ่มแนะนำให้ใช้แคลเซียมคาร์ไบด์หรือถ่านแก๊ส ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ใส่ผลเสาวรสลงในภาชนะ เช่น กล่องกระดาษแล้วนำแคลเซียมคาร์ไบด์หรือถ่านแก๊สใส่ภาชนะเล็กๆ หรือห่อด้วยกระดาษพรมน้ำเล็กน้อยให้เกิดก๊าซอะเซทธิลีนแล้วปิดภาชนะทิ้งไว้ 2-3 วัน ผลจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มจึงส่งจำหน่าย ในกรณีที่ผลผลิตมีจำนวนมากให้ใช้วิธีใส่ผลผลิตลงในลังพลาสติก สิ่งที่ควรระวังคือ อย่าใส่แคลเซียมคาร์ไบด์มากเกินไปเพราะจะทำให้ผิวผลเสียหาย เสาวรสที่สุกดีแล้ว หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องจะสามารถเก็บได้นาน 3-7 วัน และหากเก็บไว้ในตู้เย็นจะเก็บได้นาน 1-2 สัปดาห์
โรคและแมลงศัตรู ถึงแม้เสาวรสจะเป็นพืชที่ไม่ค่อยเป็นโรค แต่ก็ยังมีโอกาศเป็นอยู่บ้าง โรคที่พบบ่อยได้แก่ รากเน่า โคนเน่าซึ่งเกิดจากเชื้อรา ให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหรือสารกำจัดเชื้อราผสมน้ำราดบริเวณโคนต้น ทุก 3 – 5 วันจนกว่าพืชจะหาย นอกจากนี้ยังมีแมลงศัตรูพืชที่พบบ่อยคือไรแดงเทียมและเพลี้ยไฟ กำจัดได้โดยการใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียฉีดพ่นทุก ๆ 1 – 2 วัน จนกว่าแมลงจะหาย ทั้งนี้การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียและเชื้อราไตรโคเดอร์มาไม่ควรใช้พร้อมกัน ควรเว้นระยะประมาณ 15 วัน นอกจากนี้ควรหมั่นทำความสะอาดโคนต้นอย่าให้รก
เสาวรสถือเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนแล้ง ทนโรค นอกจากนี้ยังเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้รักสุขภาพอีกด้วยถือเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่น่าจับตามองไม่น้อยเลยทีเดียว ในปัจจุบันสินค้าแปรรูปของเสาวรสก็มีมากมายไม่ว่าจะเป็น น้ำเสาวรส แยมเสาวรส ถือเป็นพืชทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรและผู้ที่รักสุขภาะเลยทีเดียว