อินทผาลัม จัดเป็นพืชตระกูลปาล์มชนิดหนึ่ง มีหลากหลายสายพันธุ์ เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีในเขตที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งอย่างทะเลทราย โดยอินทผาลัมมีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง ประเทศที่ผลิตอินทผาลัมรายใหญ่ได้แก่ อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อาหรับ แอลจีเรีย เรียงตามลำดับ
ผลของอินทผลัม มีลักษณะเป็นผลทรงกลมรี ออกเป็นช่อ มีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีรสหวานฉ่ำ สามารถรับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก โดยผลอินทผาลัมสดจะมีสีเหลืองไปจนถึงสีส้มและเมื่อแก่จัดผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์)
วิธีการเพาะปลูก
อินทผลัมเป็นพืชที่ขอบอากาศร้อนและต้องปลูกอยู่กลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดส่องสว่างตลอดวัน ถึงแม้อินทผลัมสามารถทนแล้งได้ดีก็ตาม แต่อินทผลัมก็เป็นพืชที่ต้องการน้ำมากในการให้ผลผลิตที่ดี ดังนั้นจึงต้องมีการให้น้ำในช่วงฤดูแล้งและฤดูหนาวด้วย สำหรับดินที่เหมาะสมคือดินร่วนปนทรายที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบระบายน้ำที่ดีและมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้อินทผลัมยังเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีดอกตัวเมียและดอกตัวผู้แยกอยู่กันคนละต้นกัน ดังนั้นในการปลูกเพื่อมีการติดผลที่ดี จึงจำเป็นต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ในสวน เฉพาะต้นตัวเมียเท่านั้นที่ให้ผลอินทผลัม แต่ต้องมีเกสรจากต้นตัวผู้มาผสมด้วย ดังนั้นเราจึงต้องปลูกอินทผลัมทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยหากเรามีต้นอินทผลัมตัวผู้สายพันธุ์ที่ดีปลูก จะมีสัดส่วนในการปลูกตัวผู้ 1 ต้น ต่อตัวเมียถึง 40-50 ต้น
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์อินทผลัมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ เพาะจากเมล็ด แยกหน่อจากต้นแม่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แบบแรกการขยายพันธุ์จากเมล็ดจะมีข้อดีคือขยายพันธุ์ปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว โดยมีต้นทุนในระยะแรกต่ำกว่าวิธีอื่น แต่เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชที่่ไม่สมบูรณ์เพศ การขยายพันธุ์โดยเมล็ด โอกาสที่จะได้เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมียมีอย่างละครึ่ง และเราจะไม่สามารถทราบเพศของต้นอินทผลัมจากการเพาะเมล็ด ต้องปลูกไว้และรอจนกว่าอินทผลัมจะออกดอกก่อนจึงจะทราบเพศ และถึงแม้ว่าเราจะได้ต้นตัวเมียไปปลูก แต่ถ้าไม่มีต้นตัวผู้ อินทผลัมก็จะไม่ออกผลผลิตให้เรา ทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมาก
แบบที่สองการขยายพันธุ์โดยแยกหน่ออินทผลัมจากต้นแม่ วิธีนี้เป็นการขยายพันธุ์ที่เราจะได้พันธุ์แท้ ต้นกล้าที่ได้จะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่ทุกประการ แต่เนื่องจากต้นแม่พันธุ์จะมีความสามารถให้หน่อได้เพียงเฉลี่ยประมาณ 20 – 30 หน่อต่อต้นตลอดอายุ (จำนวนหน่ออินทผลัมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) เราจึงไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ในปริมาณมาก ๆ อย่างรวดเร็วได้ ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการจำหน่ายหน่อพันธุ์อินทผลัมในเชิงพาณิชย์ และหากจะสั่งหน่อพันธุ์มาจากต่างประเทศจะมีราคาสูงมาก โดยราคาหน่อพันธุ์จะมีราคาสูงกว่าต้นกล้าที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้หากสั่งซื้อหน่อต้นพันธุ์มาปลูกแล้ว การลงทุนด้วยวิธีนี้ในระยะแรกจะสูงที่สุด วิธีนี้จึงเหมาะกับสวนที่มีต้นแม่พันธุ์อินทผลัมที่ดีอยู่แล้วและต้องการขยายการเพาะปลูกอินทผลัมออกไป
และวิธีสุดท้ายในต่างประเทศจะขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขึ้นมา การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้คือการโคลนนิ่ง ต้นกล้าที่ได้จึงเป็นพันธุ์แท้ โดยจะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ สามารถขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็วเหมาะสำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์ แต่ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าการปลูกด้วยเมล็ด ปัจจุบันการปลูกในเชิงพาณิชย์ของต่างประเทศจะนิยมวิธีนี้ เนื่องจากสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้ดีกว่า ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีและสม่ำเสมอ และให้ผลผลิตได้เร็ว สามารถปลูกได้ปริมาณมากตามต้องการและทุกฤดูกาล ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ในระยะเวลาสั้น
การเพาะเมล็ด ผลอินทผลัมที่ซื้อมาจากตลาดทั่วไปหรือซุปเปอร์มาเก็ตทั้งแบบกินผลสดและผลแห้ง เมล็ดที่ได้หลังจากการบริโภคแล้ว สามารถนำไปเพาะเป็นต้นกล้าเพื่อเพาะปลูกได้ ในกรณที่เป็นผลแห้งต้องเป็นอิทผลัมที่ตากแห้งด้วยวิธการปกติ ไม่ใช่การอบแห้ง เพราะการอบแห้งนั้นจะทำลายต้นอ่อนในเมล็ด เมื่อได้เมล็ดมาแล้วให้นำเมล็ดมาล้างทำความสะอาด โดยจะต้องล้างให้เยื่อที่หุ้มเมล็ดอินทผลัมออกให้หมด ในกรณีที่เป็นผลแบบกินแห้งจะมีน้ำตาลเกาะอยู่ที่เมล็ดมาก การล้างทำความสะอาดอาจจะทำได้ยากกว่าเมล็ดแบบกินสด อาจจะผสมน้ำยาล้างจานลงไปเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งการล้างจะต้องทำการล้้างหลายๆรอบให้สะอาดจริงๆเพราะถ้าเราล้างไม่สะอาดจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นที่เมล็ดที่เรานำมาเพาะได้ แล้วจึงนำเมล็ดที่ทำความสะอาดเสร็จแล้วมาแช่น้ำทิ้งไว้ 2- 3 วัน โดยทำการเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยทุกๆ 12 ชั่วโมง คอยสังเกตุดูว่ามีมดมาเกาะบริเวณขอบน้ำที่เราแช่เมล็ดอินทผลัมไว้หรือไม่ หากมีแสดงว่าเราอาจจะทำความสะอาดเมล็ดไม่ดีพอ ให้นำเมล็ดอินทผลัมไปทำความสะอาดใหม่
จากนั้นจึงเตรียมกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิทมาล้างทำความสะอาด นำกระดาษทิชชูมารองก้นกล่องพลาสติกไว้หนาประมาณ 3 ชั้น พรมน้ำใช้ชุ่มทั่วทั้งแผ่นทิชชูแต่อย่าให้แฉะ นำเมล็ดอิทผลัมมาจัดเรียงในกล่องพลาสติก แล้วปิดฝาให้สนิท ในช่วงการงอกของเมล็ดอินทผลัมต้องการความชื้นที่สม่ำเสมอ แต่ไม่ได้ต้องการอากาศ จึงจำเป็นต้องปิดฝาให้สนิท นำกล่องที่จัดเรียงเมล็ดอินทผลัมและปิดฝาสนิทแล้ว ไปไว้ในบริเวณที่อากาศร้อนอบอ้าว (แต่ไม่ให้โดนแดด) เช่น ห้องครัว หรือห้องเก็บของ หลังจากนั้นประมาณ 3-5 วัน รากสีขาวจะเริ่มงอกออกมาจากบริเวณสะดือของเมล็ดเมื่อรากงอกออกมายาวประมาณ 1 นิ้ว ให้นำออกมาเพาะในถุงดำขนาดอย่างน้อย 4×6 นิ้ว ทั้งนี้เมล็ดอาจจะงอกไม่พร้อมกันให้ทยอยนำออกมาเพาะ เมื่อเมล็ดถูกนำมาเพาะในถุงดำประมาณ 15 – 20 วันก็จะเริ่มออกแทงหน่อเล็กๆออกมา ให้เลี้ยงไว้จนออกใบเลี้ยงประมาณ 3 ใบ จึงนำไปเปลี่ยนถุงขนาดใหญ่ขึ้น ให้เลี้ยงไว้จนต้นกล้าออกใบขนนกประมาณ 3 – 4 ใบ (ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป) จึงนำไปปลูกลงดินได้
การเตรียมแปลงปลูก ระยะห่างสำหรับการปลูกอินทผลัมที่แนะนำคือตั้งแต่ 8 x 8 เมตร จนถึง 10 x 10 เมตร ส่วนขนาดหลุม ขึ้นอยู่กับสภาพดินด้วย หากมั่นใจในคุณภาพของดินสามารถขุดหลุมกว้างลึกขนาด 50 x 50 เซนติเมตร หรือหากไม่มั่นใจในคุณภาพดินให้ขุดหลุมกวย้างลึกขนาด 1 x 1 เมตร
การปลูก สำหรับฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกอินทผลัมคือช่วงต้นฤดูฝน แต่ถ้าสามารถติดตั้งระบบการให้น้ำในสวนได้ ก็สามารถที่จะปลูกอินทผลัมได้ทุกฤดู รองหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักชีวภาพและให้ปลูกเสมอหน้าดินเดิมหรือให้ดินกลบโคนต้นเพียงเล็กน้อย ให้รดน้ำทุก ๆ 1-2 วัน จนเมื่อต้นตั้งตัวได้แล้วประมาณ 1 เดือน จึงเริ่มให้ปุ๋ยอีกครั้ง
การให้น้ำ ควรให้น้ำทุก ๆ วันในฤดูร้อนและฤดูหนาวหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะทำให้อินทผลัมเติมโตได้ดีและให้ผลผลิตที่ดี
การให้ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือนตุลาคมและพฤษภาคมโดยการพรวนดินให้ปุ๋ยผสมเข้ากับดินได้ดี
การตัดแต่งใบ ใบอินทผลัมที่แก่แล้วให้ตัดทิ้ง โดยในต้นเล็กอาจจะใช้กรรไกรตัดแต่งใบ ต้นที่โตขึ้นมาอาจจะใช้เคียวในการตัดแต่งใบ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ใบแก่เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลง และยังทำให้ทรงพุ่มดูสะอาดสวยงาม สำหรับใบที่ยังไม่แก่ ให้ตัดหนามบริเวณโคนใบทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายในขณะทำงาน และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณโคนใบอินทผลัมจะมีหนามที่แข็งและยาวมาก
การผสมเกสร เนื่องจากอินทผลัมมีต้นตัวผู้และตัวเมียแยกจากกัน การอาศัยธรรมชาติจากลมและแมลงเพียงอย่างเดียว ให้มาช่วยผสมเกสรจะทำให้อินทผลัมติดลูกไม่ดก ดังนั้นจึงต้องอาศัยเราให้ช่วยผสมเกสรให้จึงจะติดลูกดก อินทผลัมจะออกดอกเป็นจั่นโดยลักษณะดอกเกสรตัวผู้จะมีสีขาว กลีบดอกเป็นแฉกๆคล้ายหางกระรอก
การตัดแต่งช่อผล เราจะต้องทำการปลิดผลอินทผลัมบางส่วนในขณะที่ผลยังเล็กอยู่ออกบ้าง เพื่อให้ผลอินทผลัมที่เหลืออยู่มีขนาดใหญ่ มีคุณภาพดี สุกเร็ว มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยให้มีผลอินทผลัมเหลืออยู่ในแต่ละก้านประมาณ 20 – 25 ผล และมีอยู่ 45 – 50 ก้านใน 1 ช่อ การปล่อยให้แต่ละช่อมีจำนวนก้านและติดผลดกมากจนเกินไป จะทำให้ผลที่ได้มีขนาดเล็ก และมีผลบางส่วนไม่สมบูรณ์
โรคและศัตรูพืช ในช่วงปลายฤดูฝนจะมีศัตรูพืชลักษณะเป็นเม็ดเล็กมาจับที่ใบอินทผลัม ส่วนมากจะอยู่บริเวณด้านหลังใบ และจะแพร่ขยายออกไปทำให้ใบแห้ง เรียกว่าโรคใบจุด ให้รีบตัดใบนั้นไปทำลายทิ้งก่อนแพร่ระบาดออกไป ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืช เพียงแต่หมั่นตรวจดูว่าเริ่มมีการระบาด แล้วให้รีบกำจัดโดยการตัดใบที่เป็นโรคทิ้งไปแต่เนิ่นๆ
การปลูกอินทผลัมถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในปัจจุบัน เนื่องจากต้องการน้ำน้อยและทนต่อโรคและผลผลิตมีราคาที่สูง แต่การลงทุนในการปลูกเพื่อการค้านั้นก็สูงเช่นกัน ผู้ที่ต้องการปลูกควรศึกษาเรื่องสายพันธุ์และการตลาดให้ดีเสียก่อน