เป้าหมายธุรกิจ ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง

เป้าหมายธุรกิจ
 

เมื่อพูดถึงคำว่า “เป้าหมายของธุรกิจ SMEs” ย่อมหมายถึงว่า “การไปสู่สิ่งที่เป็นสิ่งมุ่งหวังของผู้ประกอบการ SMEs ” ดังนั้น ถ้าต้องการความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ย่อมต้องมีการตั้งเป้าหมาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งเป้าหมายในส่วนของอัตราการเติบโตของธุรกิจ หรือ Growth Rate จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิธีการที่เป็นระบบมารองรับการตั้งเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายอย่างเป็นระบบจะช่วยให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จ

นอกจากนั้นแล้ว การตั้งเป้าหมายจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจ SMEs สามารถแยกแยะได้ว่ากิจกรรมใดเป็นประโยชน์ และกิจกรรมใดไม่เป็นประโยชน์ ดังนั้นจึงสามารถเลือกทำแต่ในกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารเวลาของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่มักละเลย

การตั้งเป้าหมายธุรกิจ

ซึ่งในการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจ หรือเป้าหมายใดก็แล้วแต่ เป้าหมายนั้นจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1. มีความเฉพาะเจาะจง และมีความชัดเจน

ความเฉพาะเจาะจง และความชัดเจน จะช่วยให้ท่านสามารถใช้ทรัพยากร หรือกำลังที่ท่านมีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านพูดประโยคสองประโยคต่อไปนี้ คือ ประโยคแรก คือ

“ต้องการได้เงินทุนสักก้อนหนึ่ง”

ประโยคที่สองท่านพูดว่า

“ต้องการเงินทุน 1,000,000 บาท ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2560”

จะเห็นได้ว่าประโยคสองประโยคนี้ดูเผินๆ แล้ว จะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ความจริงไม่ใช่เลย ประโยคสองประโยคนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ประโยคแรกนั้นเป็นประโยคที่ไม่มีความชัดเจนเลย เนื่องจากไม่ได้พูดถึงเลยว่าต้องการเท่าไหร่ และต้องการเมื่อใด ฟังดูแล้ว มันช่างเป็นความหวังที่ลมๆ แล้งๆ เสียจริง เมื่อเปรียบเทียบกับประโยคที่สองนั้น ดูแล้วหนักแน่นจริงจัง กล่าวคือ ต้องการ 1,000,000 บาท และต้องการภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2560

2. ต้องมีความเชื่อว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จะเป็นจริงอย่างแน่นอน

ท่านจะสังเกตุได้ว่า บุคคลที่ประสบสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในระดับโลกนั้น ล้วนแล้วแต่อาศัยพลังแห่งความเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น บิล เกตต์ มีความเชื่อว่า “การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ไม่ได้ให้ในสิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริง” ดังนั้น เขาจึงลาออกจากมหาวิทยาลัย Harvard ตั้งแต่ปีหนึ่ง เพื่อออกมาตั้งบริษัทเขียนโปรแกรม ผลลัพธ์แห่งความเชื่ออันแรงกล้า ก็คือ Microsoft Corps ในปัจจุบัน แล้วท่านหล่ะ มีความเชื่อในตัวเองหรือไม่ ว่าจะทำสิ่งที่ท่านมุ่งหวังให้ประสบผลสำเร็จ

3. ต้องมีความเป็นไปได้

การตั้งเป้าหมายที่ดี นอกจากจะต้องมีความชัดเจน เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นแล้ว ยังต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ต้องมีการคิดอย่างมีเหตุมีผล ถึงความเป็นไปได้ของเป้าหมายนั้น ด้วยการวิเคราะห์การดำเนินการในอดีต และเฝ้าสังเกตสถานการณ์ปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ธุรกิจของท่านสามารถทำยอดขายได้เฉลี่ยเดือนละ 100,000 บาท แต่จู่ๆ ในปีที่สี่ ท่านก็ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ได้เดือนละ 1,000,000 บาท โดยที่ไม่ได้วิเคราะห์สถานการณ์ หรือความเป็นไปได้เลย ดังนั้นท่านจะต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ก่อนที่จะตั้งเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายที่ปราศจากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ถือว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

4. เป้าหมายต้องมีทั้งระยะสั้น และระยะยาว

การเป็นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน จะต้องมีทักษะในการตั้งเป้าหมายที่มีคุณสมบัติทั้งสามคุณสมบัติข้างต้น ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ระยะสั้นอาจจะเป็นช่วง 6-12 เดือนแรก ถ้าเป็นเป้าหมายระยะยาว อาจจะเป็นในช่วงปีที่ 2, 5, 10 หรือมองไปไกลถึงในอีก 20 ปีข้างหน้า

นี่คือ คุณสมบัติที่จำเป็นของการตั้งเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายของผู้ประกอบการ SMEs ยุคใหม่

การจินตนาการในเป้าหมายธุรกิจ

ถ้าในวันนี้ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs อยู่แล้ว หรือกำลังคิดที่จะก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจ SMEs ท่านจำเป็นจะต้องเรียนรู้การวางแผน สิ่งแรกที่ท่านต้องทำ ก็คือ หยิบกระดาษเปล่ามาหนึ่งใบ แล้วเขียน “เป้าหมายทางธุรกิจ” ของท่านลงไปในกระดาษใบนั้น หลังจากนั้น ให้นำกระดาษใบนี้ไปถ่ายเอกสารสัก 10-20 แผ่น ต่อจากนั้นนำไปติดไว้ในจุดที่ท่านเห็นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น White Board บนโต๊ะทำงานของท่าน, ในห้องน้ำ, แปะบนกระจกเงา, หน้าตู้เย็น

ในเวลาที่ท่านเริ่มเขียน “เป้าหมายทางธุรกิจ” ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการนำตัวท่านไปสู่ความสำเร็จที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ขอให้ท่านระลึกถึง สิ่งนี้เหมือนกับว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ นอกเหนือไปจากการสร้าง “เป้าหมายทางธุรกิจ” แล้ว สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ การสร้างกำหนดเวลา หรือ Milestone ให้กับความสำเร็จของเป้าหมายย่อยๆ ของ “เป้าหมายธุรกิจ” ของท่านด้วย

สิ่งที่ผมต้องการให้ท่านทำก็คือ ขอให้ท่านลองหลับตา และจินตนาการว่า ท่านได้ไปสู่ความสำเร็จตาม “เป้าหมายทางธุรกิจ” ที่ท่านได้ตั้งไว้แล้ว จงพยายามสร้างจินตนาการที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกตัวอย่างเช่น ณ จุดนั้น ท่านกำลังแต่งกายอย่างไร สถานะภาพ หรือฐานะของคุณเป็นอย่างไร คุณกำลังทำอะไร และรู้สึกอย่างไรที่ประสบผลสำเร็จ จงจินตนาการแบบนี้ทุกๆ วัน และฝึกให้เป็นนิสัย

ยกตัวอย่างเช่น ท่านจินตนาการว่า ท่านเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ก็ให้จินตนาการให้เห็นธุรกิจร้านอาหารของท่าน มีคนจองเต็มทุกๆ วัน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า มีหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ มาขอสัมภาษณ์ท่าน มีผู้คนมากมายสนใจในธุรกิจร้านอาหารของท่าน และต้องการขอซื้อแฟรนไชส์ ไม่ว่าท่านจะไปที่ไหน ก็มีแต่คนชื่นชมธุรกิจร้านอาหารของท่าน เป็นต้น

ที่สำคัญที่สุด ขอให้ท่านเขียนวิสัยทัศน์ หรือภาพพึงประสงค์ในอนาคตที่เกี่ยวกับ วิถีชีวิตของท่านที่ท่านต้องจะให้มันเป็นด้วย

– จงปลดปล่อยจินตนาการของให้ท่านให้เป็นอิสระ แล้วสร้างพลังแห่งการมองภาพในอนาคต
– จงมองไปที่จินตนาภาพแห่งความสำเร็จ แล้วเดินก้าวไปข้างหน้าด้วยพลังแห่งจินตนาการที่ท่านสร้างขึ้นในมโนทัศน์ของท่าน
– จงอย่าคิดไปก่อน วิสัยทัศน์ที่ท่านคาดหวังไว้ ไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้

ข้อแตกต่างประการสำคัญระหว่าง ผู้ที่ประสบความสำเร็จ กับผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คือบุคคลที่ประสบความสำเร็จจะเชื่อ และมุ่งมั่นที่จะทำตามจินตนาการที่ตนเองกำหนดไว้ แต่บุคคลที่ไม่ประสบความสำเร็จ จะคิดไปก่อนว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เมื่อคิดอย่างนี้เสียตั้งแต่ทีแรก ก็เลยไม่สานต่อจินตนาการนั้น

สิ่งผมกล่าวไปข้างต้น คือ พลังแห่งมองภาพแห่งความสำเร็จ หรือ Power of Visualization ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของผู้ประกอบการ และของบุคคลทั่วไป ที่ต้องประสบความสำเร็จในชีวิต SMEs

เทคนิคเหล่านี้ เป็นหลักการที่เรียกว่า “Visualization” ซึ่งจะช่วยสร้างมโนภาพในลักษณะ “Positive Thinking” ให้เกิดกับท่าน และสร้างพลังแห่งการทุ่มเท ให้การดำเนินธุรกิจ หรือการดำเนินการใดๆ ก็แล้วแต่ของท่าน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญประการแรกของการวางแผนเพื่อไปสู่ความสำเร็จ หรือ “Plan for Success”

error: Content is protected !!