ไม่ยากถ้าอยากเป็นนักเขียน
เพื่อนๆ หลายๆ คนอาจจะเคยมีความคิดอยากจะเขียนหนังสือขึ้นมาสักเล่มแบบที่วางขายกันทั่วไป แต่ก็มีคำถามว่าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไง แบบไหน และเขียนแล้วจะเอาไปขายใคร และเราเป็นเพียงแค่นักเขียนอิสระคนหนึ่ง ยังไม่มีชื่อเสียงอะไร และที่สำคัญงานเขียนหนังสือนั้นจะสามารถทำให้เรารวยได้หรือเปล่า? ถ้าอย่างงั้น ลองอ่านบทความเกี่ยวกับ “รวยด้วยงานเขียน” ในเว็บ Millionaire Academy นี้ดู แล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิดไว้ครับ
ถ้ามองถึงการทำอาชีพนักเขียนที่ทำหนังสือขาย หลายคนอาจจะมองว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ยากกว่าอาชีพอื่นๆ เนื่องจากต้องมีความรัก มีทักษะ ความชำนาญในการเขียน จึงจะสามารถทำได้ โดยเชื่อว่าเป็นอาชีพเฉพาะทาง แต่ในความเป็นจริง ถ้าเรามองอย่างง่ายๆ ว่า เพียงแค่คุณรู้จริงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และคุณสามารถพูดให้คนทั่วไปฟังแล้วสื่อสารกันเข้าใจได้ คุณก็เพียงเปลี่ยนการเล่าจากการส่งเสียง เปลี่ยนเป็นตัวอักษร จัดองค์ประกอบเนื้อหา เขียนให้คำสะกดให้ถูกต้อง เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเขียนหนังสือเป็นเล่มออกมาขายได้แล้ว
งานเขียนนั้นก็ถือได้ว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยศาสตร์และศิลป์ (บางครั้งคนเขียนหนังสือส่วนใหญ่ออกจะดูติสๆ หน่อยครับ) เราต้องเรียนรู้สองสิ่งนี้ไปควบคู่กัน แต่นอกจากสองสิ่งที่กล่าวมาแล้วนั้น พื้นฐานสำคัญในการเขียนหนังสือก็คือ “การอ่าน” ยิ่งเราได้มีโอกาสอ่านหนังสือมากเท่าไร เราก็สามารถที่จะเขียนได้ดีเท่านั้น เพราะอะไร เพราะเราจะไเด้มีข้อมูลที่กลั่นกรองออกมาที่จะเขียน และการอ่านนี้แหล่ะเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คนปรารถนาอยากเป็นนักเขียน
ยกตัวอย่างเช่น พี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) เค้าเป็นนักร้องชื่อดังระดับประเทศที่น้อยคนไม่รู้จัก และในอีกมุมหนึ่งเค้าก็เป็นนักเขียนชื่อดัง ซึ่งก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รวยด้วยงานเขียน จริงๆ ไม่ว่าหนังสือจะออกมากี่เล่มต่อกี่เล่ม ก็มีแฟน ๆ ของเค้าตามซื้อตามอ่านกันจนต้องพิมพ์เพิ่มอีกหลายๆ ครั้ง พี่จุ้ยเคยเขียนบทความไว้ชิ้นหนึ่งที่นิตยสารไรเตอร์ฯ เมื่อนานมาแล้วว่า “นักเขียนไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเขียนเก่ง แต่จำเป็นจะต้องเป็นนักอ่านที่ดี” เพียงเท่านี้ก็พอจะมองภาพรวมในการเป็นนักเขียนออกแล้วว่าการอ่านนั้นมีประโยชน์มากมายขนาดไหน
แล้วขั้นแรกเราจะต้องเริ่มอย่างไรละ? โดยพื้นฐานของนักเขียนเกือบจะทุกคนนั้นมักจะมีนิสัยที่ชอบเขียน และชอบจดบันทึกอยู่แล้วเวลาไปเจอเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต หรือท่องเที่ยวเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ อาจจะเขียนทุกวันหรือเขียนวันเว้นวัน หรือตามที่ใจอยากเขียนก็แล้วแต่ แต่อย่างไงก็ต้องเขียน ถ้าใครอยากเป็นนักเขียนอย่าละเลยกับการเขียนบันทึกประจำวันเสียละครับ เพราะการเขียนบันทึกประจำวันนั้นนอกจากจะทำให้เราฝึกเขียนแล้ว ยังฝึกให้เราสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย และตรงนี้นี่เองเมื่อเวลาผ่านไป หากเราจะหาข้อมูลหรืออยากจะหาเรื่องมาเขียน ไม่ว่ากำลังเขียนอะไรอยู่ เราสามารถย้อนกลับมาอ่านสิ่งที่เราเขียนบันทึกเอาไว้เป็นไอเดีย หรือเนื้อเรื่องประกอบการเขียนได้
อาชีพไหนเหมาะแก่การเขียนหนังสือขาย
หลายคนอาจตั้งคำถามอีกว่า แล้วจะเขียนเรื่องอะไร หรือออกตัวก่อนว่าเขียนไม่เป็นหรอก นิยาย เรื่องสั้น บทละคร ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นเลยครับ งานประจำที่คุณทำอยู่ เช่น ครู ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล พนักงานธนาคาร พนักงานบริษัท คนงานโรงงาน คนรับจ้างทั่วไป เกษตรกร และอาชีพอื่นๆ คุณสามารถเอาอาชีพของคุณนั้น มาเขียนหนังสือเพื่อสร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้ทั้งนั้น
เช่น ถ้าคุณเป็นพนักงานบริษัทแผนกบุคคล คุณก็สามารถเขียนเรื่องเทคนิคการสมัคร และสอบสัมภาษณ์ได้ หรือถ้าคุณทำสวน ทำไร่ คุณก็สามารถเอาเคล็ดลับ เช่น วิธีการปลูกพืช การเพิ่มผลผลิตให้ดก การใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ หรือถ้าคุณทำอาชีพอสังหาริมทรัพย์ คุณก็เอาประสบการณ์มาเขียนเล่าเรื่องเทคนิคต่างๆ เช่น การเลือกทำเล การหาผู้รับเหมา การตรวจงาน หรืออีกตัวอย่างที่กำลังฮอตฮิตในตลาดหนังสือขณะนี้ คือถ้าคุณเป็นนักลงทุน คุณก็เอาเทคนิคการลงทุนมาเขียนได้ หนังสือขายดีในร้านหนังสือขนาดใหญ่ ล้วนเป็นหนังสือแนวประเภทนี้ทั้งนั้น ยิ่งเกิดจากประสบการณ์ที่ในสายงานนั้นๆ หรือในเรื่องราวนั้นๆ ยิ่งจะมีคนติดตามอ่านมาก
เพียงคุณรู้เคล็ดลับ หรือเทคนิคบางประการว่า ก่อนที่จะเขียนหนังสือ คุณแค่ลองตั้งคำถามกับตัวคุณก่อนว่า เขียนเพื่อให้ใครอ่าน ทำไมเขาถึงต้องการอ่านเรื่องที่คุณเขียน ถ้าคุณตอบโจทย์ทั้ง 2 ข้อนี้ได้ชัดเจนในสาระสำคัญ เพียงแค่ปรับการดำเนินเรื่องให้กลุ่มคนอ่านที่คุณประเมิน หรือวิเคราะห์จากหลักการทั้งสองประการข้างต้น ให้เขียนออกมาให้น่าอ่าน ให้น่าสนใจ เพียงเท่านี้หนังสือของคุณก็สามารถโลดแล่นอยู่ในชั้นวางหนังสือ หรืออาจขึ้นชั้นหนังสือขายดีก็ได้ใครจะไปรู้ ถึงตรงนี้ สรุปได้เลยว่า ทุกสาขาอาชีพสามารถเอาความรู้ และประสบการณ์มาเขียนเป็นหนังสือได้ทั้งนั้น
คุณสมบัติที่นักเขียนควรมี
ถ้าคุณต้องการสร้างรายได้จากการเขียนหนังสือขาย เป็นช่องทางเป็นรายได้เสริม หรือต้องการที่จะพัฒนาเป็นรายได้ประจำในอนาคต คุณสมบัติหลัก และสำคัญมากที่นักเขียนต้องมีก็คือ ชอบบันทึก ค้นคว้า สังเกต วิเคราะห์ และชอบอ่าน นอกจากนั้น คุณสมบัติที่เรียกว่ามีความเป็นมืออาชีพ คุณต้องมีไหวพริบในการมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น เพราะงานเขียนของคุณจะมีเสน่ห์มาก ถ้าคุณเขียนเรื่องธรรมดาๆ ในสิ่งที่ทุกคนมองข้าม หรือไม่ฉุกคิด ออกมานำเสนอได้ เรื่องแบบนี้โดยธรรมชาติผู้คนทั่วไปส่วนใหญ่จะชอบกัน เพราะใกล้ตัวแต่ลืมคิด
คุณสมบัติเด่นๆ ที่ควรเตรียมตัวกับการเป็นนักเขียน คือ ควรพกสมุด ปากกา อยู่ใกล้มือตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่เจอประเด็นที่น่าสนใจ หรือไอเดียที่น่าวนใจ ก็ให้รีบจดบันทึกทันที เพราะถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไปเราจะลืมเสียก่อน หรือเห็นชีวิตผู้คนนึกอะไรดีๆ ก็บันทึกเอาไว้ เข้าประชุมงานแล้วมีเรื่องน่าสนใจ ก็จดเอาไว้ เข้าไปในโลก Social Network แล้วมีเรื่องน่าสนใจ ก็จดเอาไว้ หรือแม้กระทั่งอ่านหนังสือ แล้วเจอประโยคเด็ดๆ ก็ควรจดเอาไว้ เพื่อไปประยุกต์ใช้ในงานเขียนของเรา หรือเอาไปต่อยอดกับงานเขียนของเรา
ในโลกที่เทคโนโลยีล้ำสมัยบางครั้งโทรศัพท์มือถือของเราก็อาจทำหน้าที่แทนสมุด และปากกาได้ ทั้งถ่ายภาพ จดบันทึก หรือบันทึกเสียง เก็บไว้ได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ก็อยู่ที่เราจะพลิกแพลงใช้ประโยชน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เช่นกัน
สรุปนะครับว่าการเขียนบันทึกประจำวันนั้นมันไม่ได้เป็นการสูญเสียเวลาในชีวิตไปเปล่าๆ เลย ตรงกันข้ามกลับเป็นการฝึกเขียนชั้นดีเลยหล่ะครับ เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ในหัวออกมาแปรเป็นตัวหนังสือ อาจจะลองเขียนแบบทำเป็นไดอารี่ออนไลน์ก็ได้ครับ หรือทำเป็น blog ที่ bloggang.com หรือที่ oknation.nationtv.tv/blog ก็ได้ เป็นการพิสูจน์ฝีมือในการเขียน โดยวัดจากผู้ที่ติดตามอ่านไดอารี่ออนไลน์ของเรา บางคนเขียนไดอารี่เล่นๆ แต่ปรากฎว่ามีคนเข้ามาอ่านมาก จนกระทั่งมีโฆษณามาขอลง ซึ่งบางคนก็สร้างเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากงานเขียนนี้ไป
ครับ ก็ไม่ยากนะครับ ถ้าจะเริ่มต้นฝึกฝนงานเขียน ถ้าอยากเริ่ม ต้องลองดูเสียตั้งแต่วันนี้ครับ เวลาไม่เคยรอใครครับ
ประเภทของงานเขียนมีอะไรบ้าง
เมื่อเราเรียนรู้การเริ่มต้นที่จะเป็นนักเขียนแล้ว ขั้นต่อไปเราต้องเรียนรู้ก่อนว่าประเภทของงานเขียนนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราเขียนนั้นเรียกว่าอะไร และจะทำให้เรารู้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งว่าเราถนัดอะไร
มีนักเขียนหลายคนที่สามารถเขียนงานได้หลายประเภท ซึ่งนักเขียนเหล่านั้นมีความชำนาญกับการใช้ภาษาเป็นอย่างมาก เช่น ประชาคม ลุนาชัย นักเขียนอีกคนหนึ่งที่สามารถรวยด้วยงานเขียนของตน จากการเขียนหนังสือหลายแนว ทั้งเรื่องสั้น บทกวี นิยาย สารคดี บทความ และอัตชีวประวัติ
ถ้าถามว่านักเขียนทั่วไปทำได้ไหม? ตอบได้ง่ายๆ เลยว่า ทำได้ ถ้าเราเรียนรู้ที่จะใช้ภาษามากพอ เคยมีคนถามนักต่อนักว่า งานเขียนประเภทไหนเขียนง่ายที่สุด ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะงานเขียนแต่ละประเภทก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภท คือ
งานเขียนเรื่องสั้น เรื่องสั้นนั้นเป็นงานเขียน ที่นักเขียนหลายคนใช้เป็นก้าวแรกของการเป็นนักเขียน เพราะสั้นกระชับ วางพล๊อต หรือโครงเรื่องได้ง่ายกว่าแบบอื่น ทำให้สามารถควบคุมตัวละคร โครงเรื่อง แก่นเรื่องได้ง่าย
งานเขียนนิยาย หรือนวนิยาย เป็นงานเขียนที่ยาว ต้องใช้เวลา และพลังในการเขียนค่อนข้างมาก ที่สำคัญต้องรู้จักที่จะวางพล๊อตเรื่อง หรือโครงเรื่องที่รัดกุมไม่ให้หลุดจากกรอบ หรือถึงหลุดจากกรอบ ก็สามารถควบคุมมันได้ ไม่ให้ไปไกลเกินกว่าที่วางพล๊อตไว้ตั้งแต่แรก
งานเขียนบทกวี หรือบทกลอน จัดเป็นงานเขียนที่เรียกว่าง่ายก็ได้ หรือยากก็ได้ เพราะกลอน หรือกวีนั้นแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ กลอนเปล่า และกลอนฉันทลักษณ์ กลอนเปล่านั้นเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะไม่ต้องเกรง หรือกังวัลกับสัมผัสตามแบบแผนแบบกลอนฉันทลักษ์ที่เคยเล่าเรียนมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ต้องมีความชำนาญการใช้ภาษาคือ ต้องกระชับ รัดกุม
งานเขียนบทความ,สารคดี,อัตชีวประวัติ งานเขียนทั้งสามประเภทนี้ เป็นงานเขียนที่นอกจากจะต้องใช้ความชำนาญในการใช้ภาษาแล้ว ยังต้องรู้จริงในสิ่งที่เขียนด้วย งานเขียนทั้งสามประเภทนี้ เป็นงานเขียนที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งต่างจากงานเขียนข้อข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว
นอกจากงานเขียนที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่ละประเภทยังสามารถแยกย่อยลงไปได้อีก แต่ในเบื้องต้นยังไม่มีความจำเป็นต้องรู้ลึกเช่นนั้น เพียงแต่รู้ว่าหลักใหญ่ๆ ของประเภทงานเขียนนั้นมีอะไรบ้าง การชำนาญในการใช้ภาษานั้น สามารถทำให้เราเขียนงานได้หลายอย่าง และเมื่อเราชำนาญแล้ว เราก็สามารถรวยด้วยงานเขียนได้ไม่ต่างกับนักเขียนดังๆ เลย
คำแนะนำในการเป็นนักเขียน
สุจิปุลิ หัวใจของการเขียน
คุณประภัสสร เสวิกุล นักเขียนอีกท่านที่รวยด้วยงานเขียน งานเขียนของท่านที่รู้จักกันดี คือ เวลาในขวดแก้ว,ลอดลายมังกร ฯลฯ นั้น ท่านเคยกล่าวไว้ว่า หัวใจหลักของการเป็นนักเขียนนั้น คือ สุ จิ ปุ ลิ คำทั้ง 4 คำนี้หมายถึง
สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่า การฟัง
จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน
กล่าวโดยสรุปแล้วคือ การจะเป็นนักเขียนที่ดีให้ได้นั้นต้องเป็นนักทั้ง 4 ที่ดีคือ นักฟังที่ดี ต้องตั้งใจฟังในสิ่งที่คนอื่นพูด เพราะการฟังมากก็ไม่ต่างกับการอ่าน แถมมีประโยชน์ต่องานเขียนเราเสียอีก มีประโยชน์อย่างไร? มีประโยชน์ตรงที่เราได้รับรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ เราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสิ่งที่คนอื่นพบเจอมา (ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเท็จจริงหรือไม่ก็ตาม เพราะแน่นอนเมื่อฟังแล้วเราจะต้องไปสังเคาระห์กรองเอาความจริงเท็จออกจากกัน)
นักคิดที่ดี ต้องคิดวิเคาะห์แยกแยะสิ่งที่ฟังนั้นออกมา กลั่นกรองว่าอะไรเป็นอะไรจริง ลวง เท็จ เราต้องแยกแยะออกให้ได้ ซึ่งตรงนี้ต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการคิดพล๊อตเรื่อง ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไปอีกที
นักถามที่ดี แน่นอนสิ่งที่ได้ฟังมานั้น หลายสิ่งหลายอย่างเราไม่เคยพบเจอเลย เมื่อเราสงสัยในสิ่งนั้นๆ ควรจะถาม เพื่อให้รู้แจ้งในสิ่งที่ฟัง และการเป็นนักถามที่ดีนั้น มีประโยชน์ต่องานเขียนประเภทเขียนสารคดี เขียนบทความ หรือเขียนชีวประวัติบุคคล เพราะเราสามารถฝึกการตั้งคำถามที่ดี ที่ตรงจุด ที่ตรงประเด็นได้ นักเขียนที่ดี อันนี้แน่นอนอยู่แล้ว เมื่อเราผ่านทั้งสามคำมาเราก็เอามาเขียน ไม่ว่าจะเขียนบันทึก หรือสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ
นักเขียนที่รวยด้วยงานเขียนหลายคนนั้นมีคำ 4 คำนี้คือ สุ จิ ปุ ลิ อยู่ในใจและใช้อยู่ในชีวิตประจำวันเสมอ ถ้าหากอยากจะเป็นนักเขียนที่ดีต้องเอาคำ 4 คำนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันครับ
จินตนาการคือสิ่งสำคัญที่สุด
นอกจากสำนวนของนักเขียนที่เคยกล่าวไปแล้วว่าทำให้ผู้อ่านติดใจจนซื้อหาหนังสือของนักเขียนนั้นๆ มาอ่าน จนนักเขียนคนนั้นรวยด้วยงานเขียน ซึ่งสิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งก็คือ “จินตนาการ” ซึ่งจินตนาการนี้ละที่เป็นบ่อเกิดโครงเรื่องต่างๆ ตัวละครต่างๆ ที่โลดแล่นอยู่ในบรรณพิภพ จินตนาการกับงานเขียนนั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง สำคัญมากกว่าความรู้เสียอีก ดั่งเช่นที่นักฟิสิกส์ทฤษฎี ชาวเยอรมันนี เจ้าของรางวัลเบล พ.ศ. 2464 นามว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าววว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”
เมื่อจินตนาการสำคัญเพียงนี้เราจะหาจินตนาการได้จากที่ใด อันที่จริงจินตนาการนั้นมีอยู่รอบๆ ตัวเรานั้นเอง เราต้องฝึกมองเห็นอย่างที่คนอื่นไม่เคยเห็น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเดินไปถนนเห็นคนชรานั่งขอทานริมถนน เราจะต้องไม่คิดว่านั้นเป็นเพียงขอทานชราคนหนึ่งเท่านั้น แต่เราจะต้องเอาขอทานชรานั้นมาผูกเป็นเรื่อง โดยอาศัยจินตนาการของเราเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้เป็นเรื่องเป็นราว อาจจะให้ขอทานนั้นเมื่อก่อนเป็นคนรวยแต่ติดการพนันจนล้มละลาย ลูกเต้าเลยไม่เหลียวแล เพราะแค้นที่ขอทานคนนั้นเอาแต่เล่นการพนันไม่สนใจคนในบ้าน สุดท้ายเลยต้องมานั่งขอทาน อะไรทำนองนี้
เห็นไหมเพียงขอทานริมถนนคนหนึ่งซึ่งคนอื่นๆ อาจจะเห็นเพียงแค่ขอทานลูกหลานไม่มี แต่เมื่อเราเอาจินตนาการของเราใส่เข้าไปผูกโยงเป็นเรื่อง ก็จะได้เรื่องๆ หนึ่งขึ้นมา
นักเขียนดังๆ หลายคนนั้นเป็นคนที่มีจินตนาการสูง เพราะพวกเขามองไม่เหมือนคนทั่วไป มองอะไรแต่ละอย่างก็ผูกเป็นเรื่องเป็นราวได้ร้อยแปด แล้วเขียนมันออกมา สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้ฝึกไว้คือ พยายามสังเกตหรือมองสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว เก็บเกี่ยวรายละเอียดต่างๆ เอาไว้ในใจ หรือจดบันทึกเอาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้นั้นมันจะช่วยงานเขียนของเราในอนาคตได้ ยามเมื่อเราจะเขียนถึงมัน สิ่งดังกล่าวที่กล่าวมานั้นเป็นองค์สำคัญในการเขียนหนังสือ เพราะหากยากจะ รวยด้วยงานเขียน แล้วจะต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ
แรงบันดาลใจในการเขียนผลงาน
นักเขียนหลายๆ คนไม่ว่าคนนั้นจะเป็นนักเขียนที่มีชื่อหรือมีชื่อเสียงน้อย ก็ล้วนแต่เคยไม่มีแรงบันดาลใจที่จะเขียนด้วยกันทั้งสิ้น การไร้แรงบันดาลใจนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เหมือนมนุษย์เรานั้นละ ทำอะไรไปนาน ๆ ก็รู้สึกเบื่อ เมื้อยล้าบ้าง ฉะนั้นการหาแรงบันดาลใจนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อเราคิดจะเขียนอะไรแล้วอยู่ๆ ไม่มีแรงบันดาลใจเขียนขึ้นมาดื้อ ๆ ลองหยุดเขียนดูซักพัก ทางที่ดีที่สุดคือการออกท่องเที่ยว “การเดินทางเป็นหนทางของนักเขียน” นักเขียนต้องเดินทางอยู่เสมอ ไม่ว่าการเดินทางนั้นใกล้หรือไกล เดินทางไปหาสิ่งใหม่ๆ หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ แต่ระหว่างเดินทางนั้นอย่าเพิ่งไปคิดว่าจะเขียน ให้หยุดพักเรื่องการเขียนไว้ชั่วคราว อย่าไปคิดถึงมัน ปล่อยมันไว้เลยได้เป็นดี แล้วเราจะพบว่าระหว่างทางนั้นเราอาจจะพบเจอสิ่งอะไรใหม่ ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เราเขียนต่อก็เป็นได้
อีกวิธีหนึ่งเมื่อเราเขียนหนังสือหรือเรื่องอะไรซักเรื่องที่ยังไม่จบ แล้วหมดแรงบันดาลใจเสียดื้อๆ ให้เราหยุดเขียนเรื่องนั้นไปเลย ลองหันไปเขียนเรื่องอื่นๆ ดู แล้วค่อยกลับมาเขียนเรื่องเดิมที่เขียนค้างไว้ไม่จบก็ได้
นักเขียนที่รวยด้วยงานเขียน หลายท่านก็ใช้วิธีนี้ นวนิยายบางเรื่องกว่าจะเขียนจบก็ใช้เวลาเป็นแรมปี เพราะเหตุผลเดียวกันนี้คือ ไม่มีแรงบันดาลใจเขียนต่อ จึงหยุดไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วกลับมาเขียนใหม่ อย่าไปกลัวว่าจะทำไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรพล๊อตก็อยู่กับเรา ตัวละครที่เราสร้างขึ้นมาก็ยังอยู่กับเรา ไม่แน่ช่วงที่หยุดไปนั้นอาจจะได้ตัวละคร หรือสร้างพล๊อตใหม่ที่ต่อเนื่องจากเรื่องเดิมที่ดีก็อาจจะเป็นได้
อยากเก่งต้องกล้าเขียน
หลายคนที่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน แต่ไม่ลงมือเขียนซักทีก็คงต้องบอกว่า ก็คงได้แต่ “ฝัน” ไปวันๆ นั้นล่ะครับ และไม่เพียงแต่การเขียนหนังสือเท่านั้น อะไรก็ตามถ้าเราอยากเป็นอยากจะทำแล้ว แต่ยังไม่กล้าที่จะลงมือทำ ก็คงไม่มีพระเจ้าที่ไหนมาบันดาลให้ฝันเป็นจริงได้หรอกครับ นอกจากตัวเราเอง ฉะนั้นการลงมือเขียนเสียแต่เดี๋ยวนี้คือ สิ่งแรกที่คนอยากเป็นนักเขียนควรทำครับ
และเมื่อเราเขียนออกมาแล้ว เราจะต้องกล้าที่จะให้คนอื่นๆ อ่านผลงานของเรา และเราต้องกล้าที่จะยอมรับคำวิจารย์จากคนอ่าน พูดง่าย ๆ ก็คือต้องมีใจกว้างนั้นเอง ไม่ว่าคนอ่านคนนั้นจะเป็นพี่เรา น้องเรา เพื่อนเรา หรือแม้กระทั้งพ่อแม่ของเราเอง เพราะคำวิจารย์เหล่านั้นเป็นเสมือนกระจกเงาของงานเขียนของเรา ถ้อยคำวิจารย์นั้นเราสามารถนำมาปรับปรุงงานเขียนของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
ไม่มีนักเขียนที่ประสบความสำเร็จคนไหนที่ไม่เคยผ่านการวิจารณ์งานเขียนมา นักเขียนหลายๆ คน ที่ดังๆ สามารถสร้างรายได้ รวยจากงานเขียน ก็เคยผ่านการวิจารณ์งานเขียนมาทั้งสิ้น ท่านเหล่านี้โน้มรับคำวิจารย์อย่างยินดี ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงในชิ้นงานของตน
แต่ถ้าหากคุณอายที่จะส่งงานของตนให้คนรอบตัวอ่านแล้วละก็ สมัยนี้โลกทางอินเตอร์เน็ทนั้นสามารถทำให้เราเผยแพร่งานเขียนของเราให้คนอื่นๆ อ่านได้อย่างสบายๆ มีเว็บไซต์มากมายที่เราสามารถนำเอางานเขียนของตัวเองไปลงให้คนอื่นอ่าน และมาวิจารย์งานของเรา และก็มีนักเขียนอีกมากมายเช่นกันที่ รวยด้วยงานเขียนของตนจากการนำผลงานของตนมาเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ท แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นการเป็นนักเขียนนั้นจะต้องมีใจเป็นกลาง ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และยอมรับที่จะรับฟังคำวิจารย์ ไม่ว่าคำวิจารย์นั้นจะดีหรือร้ายก็ตาม การจะเป็นนักเขียนนั้นต้องกล้า กล้าที่จะเขียน