หากย้อนไปประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว การได้รับเงินเดือนสมัยก่อนสำหรับคนที่จบปริญญาตรี แต่ละบริษัทจะสตาร์ทเงินเดือนเพียงแค่ประมาณ 7,500 บาท เท่านั้น และกว่าจะไต่เต้า หรือรอเวลาเพื่อให้เจ้านายขึ้นเงินเดือนในแต่ละปี ก็ดูเหมือนเป็นการรอคอยที่แสนยาวนาน หรือบางทีก็ไม่ขึ้นเงินเดือนให้ ซึ่งถือว่าต่างจากสมัยนี้ที่เริ่มสตาร์ทด้วยเงินเดือน 15,000 นั่นอาจเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิต รวมถึงค่าครองชีพต่างๆ ที่เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะค่าอาหารการกิน ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ที่มีราคาสูงขึ้นตามยุคเศรษฐกิจนั่นเอง
เหตุผลที่ทำให้หลายๆ คนอยากขึ้นเงินเดือนกับบริษัทเก่า
เพราะพนักงานรุ่นเก่าที่เริ่มสตาร์ทจากเงินเดือนน้อยๆ แม้จะมีวุฒิถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งกว่าจะทำงานมาจนถึงเงินเดือนที่เทียบเท่ากับการสาตาร์ทของเงินเดือนของเด็กเพิ่งจบสมัยนี้ เชื่อว่ามีหลายคนคงแอบน้อยใจกันบ้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหตุผลที่ทำให้พนักงานรุ่นก่อนๆ อยากจะให้เจ้านายเพิ่มเงินเดือนขึ้นบ้าง เพราะที่ผ่านมาก็ถือว่าทำงานเต็มที่ แถมบางปีเจอเศรษฐกิจแตกเป็นฟองสบู่ ทำให้อดได้โบนัสรายปีอีกต่างหาก แต่เพื่อความก้าวหน้า และการขึ้นเงินเดือนในอนาคต ทำให้ต้องตัดสินใจอยู่ และบางคนที่อายุมากแล้ว ไม่อยากเริ่มงานที่อื่นก็จึงต้องอยู่ที่เดิมต่อไป แม้จะได้เงินน้อยก็ตาม แต่ในใจก็ยังแอบหวังเล็กๆ ที่เจ้านายอาจจะขึ้นเงินเดือนให้บ้าง
เหตุผลที่ทำให้พนักงานออกไปหางานใหม่เพื่อเพิ่มเงินเดือน
เพราะบางคนที่ทำงานในบริษัทเดิมมานาน และไม่มีทีท่าว่า เจ้านายจะขึ้นเงินเดือนให้ แถมยังรับเด็กใหม่เข้ามาโดยให้เงินเดือนมากกว่า หรือเทียบเท่ากับตัวเองอีก ทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้เกิดอาการน้อยใจ และคิดว่าตัวเองก็มีความสามารถพอเพียง บวกกับประสบการณ์ในการทำงานมานาน ซึ่งอาจจะเป็นการดีหากไปอยู่บริษัทอื่น เพื่อทำการเพิ่มเงินเดือน แม้จะยังไม่ลาออกโดยตรง แต่ก็คงจะลา และแอบไปสมัครงาน หรือสัมภาษณ์ที่อื่นนั่นเอง แต่เชื่อว่าก่อนที่จะตัดสินใจจะลาออกไปสมัครงานที่อื่นนั้น อาจจะมีการต่อรองเงินเดือน หรือทำการเจรจากับเจ้านาย เพื่อเป็นส่วนที่อาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจเร็วขึ้น ซึ่งการต่อรองเงินเดือนกับเจ้านายถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะเปรียบเสมือนการยื่นคำขาด ซึ่งหากทางเจ้านายยินดีก็ถือว่าเป็นโชคดีของคุณไป แต่หากถูกปัด หรือปฏิเสธ ก็เชื่อว่าคงจะต้องรีบทำให้คุณหาทางไปที่อื่นแน่นอน
สมัครงานใหม่กับเทคนิคการต่อรองเงินเดือน
เมื่อต้องไปสมัครที่ใหม่ และต้องการได้เงินเดือนตามที่ต้องการ ก็อาจจะเขียนช่องเงินเดือนที่ต้องการ เพื่อเป็นการวัดดวงไปเลยว่า ทางบริษัทนั้นจะเรียกสัมภาษณ์หรือเปล่า เพราะบางแห่งหากเรียกเงินเดือนสูงเกินไป เค้าก็จะดูจากประสบการณ์การทำงาน หรืออาจจไม่รับพิจารณาเลยก็ได้ การได้รับเงินเดือนตามที่ตัวเองตั้งใจ ถือเป็นสิ่งที่ควรคาดหวังอย่างหนึ่ง และหากคุณมีความมั่นใจที่ต้องการจะได้เงินเดือนตามที่ขอนั้น คุณจะต้องรู้ว่าตัวคุณมีความสามารถแค่ไหน เหมาะกับเงินเดือนที่คุณเสนอไปหรือไม่ ซึ่งอาจเขียนความสามารถเด่นๆ ในใบสมัคร เพื่อที่จะให้ผู้สัมภาษณ์เกิดความสนใจในตัวคุณ จะช่วยทำให้การเจรจาง่ายขึ้น
หลักการพูดเจรจาต่อรองเงินเดือน
เมื่อข้อมูลของคุณพร้อมแล้ว ในช่วงสัมภาษณ์ที่ถูกยื่นข้อเสนอให้ได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่า คุณจะต้องมีเทคนิคในการพูดเพื่อให้ทางบริษัทเข้าใจว่า เหตุใด และทำไมคุณถึงต้องได้เงินตามที่คุณเสนอไป อย่างการพูดว่า ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจระดับเงินเดือนตำแหน่งนี้ และจากประสบการณ์การทำงาน อัตราเงินเดือนจะอยู่ในระดับที่ขอ และคิดว่าเงินเดือนที่ทางบริษัทเสนอมานั้นค่อนข้างน้อยไปนิด แต่ด้วยความสามารถ และประสบการณ์ เงินเดือนในระดับที่เสนอนี้น่าจะเหมาะสมมากกว่า
มีใจกล้าที่จะต่อรองเงินเดือน
ไม่ต้องกลัว หรือรู้สึกไม่ดี หากต้องเจรจาต่อรองเรื่องเงินเดือน เพราะผู้สมัครงานหลายคน มักจะทำลายโอกาสของตนด้วยการไม่ยืนหยัดรักษาสิทธิ์ที่ตัวเองพึงจะได้ ลองคิดดูว่าพูดแบบไหนจึงจะได้ตามที่คุณต้องการ วิธีต่อรองเงินเดือนที่แสดงถึงความมั่นใจ และความกล้า จะทำให้คุณดูดีกว่าคนที่กล้าๆ กลัวๆ ซึงการเจราต่อรองเงินเดือนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ด้วยวิธีการพูดที่ดี จะทำให้คุณได้ในสิ่งที่คาดหวัง หรืออย่างน้อยก็ได้มากกว่าที่คุณไม่ต่อรองอะไรเลย แต่ก่อนจะเจรจาต่อรองเงินเดือน ควรสอบถามเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า อัตราเงินเดือนที่คุณต้องการนั้น เหมาะสมกับหน้าที่ที่คุณต้องรับผิดชอบแค่ไหน
เทคนิคการต่อรองเงินเดือน
การต่อรองเงินเดือน ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับผู้ที่กำลังหางาน คือ การเจรจาต่อรองเงินเดือนนั้น ถือว่าขั้นตอนนี้มีความสำคัญตรงที่ผู้หางาน จะต้องโน้มน้าวใจให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณมีความสามารถมากพอที่จะได้รับค่าตอบแทนตามที่คาดหวัง แต่ส่วนใหญ่ผู้หางานมักเป็นกังวลที่จะต่อรองอย่างมั่นใจ นอกจากความสามารถ และประสบการณ์ที่คุณมีแล้ว คุณคิดว่าทางบริษัทยังต้องการอะไรอีกบ้างในการเจรจาต่อรองเงินเดือน การเรียกเงินเดือนที่เหมาะสม ควรอ้างอิงจากอัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยตามราคาตลาด ซึ่งเมื่อได้ข้อมูล คุณก็จะทราบว่างานที่คุณสมัครนั้นจะได้รับค่าตอบแทนในระดับใด และอย่าเพิ่งพูดถึงเงินเดือนจนกว่าจะได้พูดคุยเรื่องคุณสมบัติของคุณให้เรียบร้อยเสียก่อน และหากทางผู้ประกอบการได้ทราบแล้วว่าคุณคือคนที่ใช่หรือ เหมาะสมกับงานดังกล่าว คุณจึงจะอยู่ในฐานะที่จะเรียกเงินเดือนตามที่คาดหวังไว้ได้
หากบริษัทเสนอเงินเดือนให้คุณน้อยกว่าที่คุณคาดหวังไว้ อย่าลังเลที่จะต่อรองจากผลการทำงานในอนาคตของคุณ เพราะหากผลงานของคุณที่อยู่ในช่วงทดลองงานเป็นที่น่าพอใจ บริษัทสามารถเพิ่มเงินเดือนตามที่คุณเรียกได้หรือไม่ ซึ่งอาจบอกผู้ประกอบการให้เข้าใจว่าคุณยอมรับเงินเดือนต่ำกว่าที่คาดหวัง เพราะเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะพิสูจน์คุณค่าของคุณ และมีความเหมาะสมที่จะได้รับเงินเดือนมากกว่าที่บริษัทเสนอให้ในครั้งแรก ที่สำคัญ การแต่งกายให้สุภาพดูดี และการวางตัวที่เหมาะสม และมีความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง สิ่งเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับคุณได้มากขึ้น