การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีทางการเงินของแต่ละบุคคลนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของรายได้ที่มีการจัดสรรอย่างเหมาะสม สามารถที่จะมีเงินไว้ใช้จ่ายประจำวันอย่างพอเพียงโดยไม่สร้างภาระทางการเงินหรือใช้เงินเกินกว่ารายได้ที่ได้รับ นั่นคือต้องมีความสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่าย แต่คนส่วนใหญ่ก็คงต้องการความสมบูรณ์และมั่นคงในการดำเนินชีวิต การเก็บออมเงินเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ทันหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการที่จะซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับตนเองและครอบครัว รวมถึงความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงในการดำรงชีวิตที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ
ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงต้องมีการวางแผนในการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้นด้วยการนำเงินมาลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้ที่เพียงพอต่อความต้องการในการซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตนเองและครอบครัวรวมถึงมีหลักประกันที่มั่นคงในชีวิต
แหล่งเงินทุนที่ต้องนำมาใช้มีอยู่ 2 แหล่งคือ
1.แหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ
2.เงินของเราเองที่เก็บออมไว้
ในแง่ของการลงทุนคนส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมากกว่าการนำเงินสดที่มีอยู่มาลงทุน จึงถือว่าการกู้ยืมเงินเป็นเครื่องมือในการสร้างรากฐานทางการเงิน เพราะเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งต่างจากการกู้ยืมเงินเพื่อจัดหาทรัพย์สินและซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตนเอง เช่น กู้มาเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ประเด็นสำคัญในการกู้ยืมเงินอยู่ที่ว่าจะกู้ยืมเงินมาอย่างไรไม่ให้เป็นภาระต่อตนเองจนมากเกินไป หรือไม่ก่อหนี้จนเกินกว่ากำลังในการชำระคืนนั้นเอง
การสร้างหนี้ ในทางปฏิบัติคนที่เป็นหนี้มักไม่ได้กู้ยืมเงินอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณและไม่ได้ประเมินความสามารถของตนเองในการชำระคืน โดยเฉพาะการกู้ยืมเพื่อการบริโภค เช่น บัตรเครดิตถือเป็นการกู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สามารถนำเงินออกมาใช้จ่ายได้ง่ายๆ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นหนี้จนเกินกำลังความสามารถในการชำระคืนก็มักจะสายเกินไปแล้ว และนอกจากนั้นยังส่งกระทบหรือส่งผลเสียต่อสถานะทางการเงินของผู้กู้อีกด้วย สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกได้ว่าคุณมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากเกินไป เช่น
-ไม่เหลือเงินไว้เก็บออม
-บัตรเครดิตมียอดใช้จ่ายเต็มวงเงิน
-ชำระบัตรเครดิตด้วยยอดขั้นต่ำเสมอ
-ชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ต่างๆ ช้ากว่ากำหนดอยู่เป็นประจำ
-ไม่รู้ยอดเป็นหนี้ที่เป็นอยู่
-ถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ
เมื่อเริ่มรู้สึกตัวว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากจนเกินกำลังความสามารถในการชำระคืนแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกก็คือการมีสติ หลายคนเมื่อมีหนี้สินจนเกินกำลังก็พยายามดิ้นรนทำงานหรือหาช่องทำกินเพื่อหารายได้ให้มากขึ้นซึ่งบางครั้งการแก้ไขด้วยวิธีเหล่านั้นอาจเป็นการสร้างหนี้สร้างภาระให้กับตนเองยิ่งขึ้น การมีสติและคิดวางแผนในการชำระหนี้ต้องเริ่มจากต้นเหตุคือสำรวจก่อนว่าเรามีข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดในการบริหารเงินอย่างไร จากนั้นก็หาช่องทางหรือหาวิธีปลดหนี้ถ้าบริหารเงินให้เป็นหนี้สินเหล่านั้นก็อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับทุกคน