วิธีปลูกลำไย พร้อมคำแนะนำในการขายลำไย

ต้นลำไย
 

ในบทความนี้ผมก็จะพาท่านผู้อ่าน ไปพบกับสาระน่ารู้เกี่ยวกับผลไม้ไทย ที่มีชื่อเรียกว่า ลำไย ว่าลำไยมีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีวิธีปลูกอย่างไร รวมไปถึงการทำธุรกิจขายลำไย เอาหล่ะครับ มาเริ่มต้นอ่านเรื่องราวของลำไยกันเลยดีกว่าครับ

ข้อมูลทั่วไปของลำไย

– ลำไย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Dimocarpus longan
– และชื่อภาษาอังกฤษว่า Longan (ลองแกน)
– และมีชื่อเรียกทางพื้นบ้านว่า บ่าลำไย
– เป็นผลไม้ในตะกูล Sapindaceae
– เป็นพืชพื้นเมืองในพื้นที่ราบต่ำของลังกา และอินเดียตอนใต้ บังกลาเทศ พม่า รวมไปถึงจีนภาคใต้
– เป็นพืชไม้ผลเขตร้อน และกึ่งร้อน
– เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นจะมีสีน้ำตาล ออกดอกเป็นช่อ มีสีขาวครีม
– ผลมีลักษณะทรงกลมเป็นช่อ ผลดิบจะมีเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว ผลสุกจะมีสีน้ำตาลล้วน
– เนื้อลำไยจะมีสีขาว หรือสีชมพูอ่อน
– เมล็ดจะมีสีดำเป็นมัน เนื้อล่อนเม็ด

ประวัติลำไย

ถิ่นกำเนิดของลำไย สันนิษฐานว่าอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ เนื่องจากในหรังสือ RuYa ของจีนที่ได้เขียนไว้เมื่อ 110 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีการกล่าวถึงผลไม้ที่มีชื่อว่าลำไยไว้แล้ว และชาวยุโรปก็ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับลำไยไว้ในปี พ.ศ. 1585 แสดงว่าลำไยมีการปลูกในจีนที่มณฑลกวางตุ้งเสฉวน มีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฟูเกียน และลำไยได้กระจายตัวเข้าสู่ประเทศอินเดีย พม่า ฟิลิปปินส์ จนไปถึงฝั่งยุโรป และฮาวาย ฟลอริดาในสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงประเทศคิวบา หมู่เกาะอินเดียตะวันตก และเกาะมาดากัสการ์ เรียกได้ว่าไปไกลหลายทวีปเลยนะครับ ส่วนในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่าลำไย ได้ถูกเข้ามามาจากทางประเทศจีนตอนใต้เช่นกัน โดยมาที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นที่แรก จากนั้นก็ได้กระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โดยใช้การเพาะเมล็ดจนเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น เกิดลำไยพันธุ์ใหม่ตามสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศในสถานที่นั้นๆ

พันธุ์ลำไย

ลำไยกะโหลก เป็นพันธุ์ลำไยที่ให้ผลขนาดใหญ่มีเนื้อหนา รสหวานมีหลายสายพันธุ์ คือ
– สายพันธุ์สีชมพู จะมีผลใหญ่ มีเนื้อหนา เมล็ดจะมีขนาดเล็ก เนื้อจะมีสีชมพูเรื่อๆ รสชาติจัดว่าดีที่สุด ออกดอกประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นมกราคม เก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม
– สายพันธุ์ตลับนาค จะมีผลใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดจะมีขนาดเล็ก หวานกรอบแห้ง เปลือกบาง
– สายพันธุ์เบี้ยวเขียว หรือเรียกอีกย่างว่าอีเขียว เป็นพันธุ์หนัก จะมีผลใหญ่กลมเบี้ยว เนื้อหนา เมล็ดจะมีขนาดเล็ก รสชาติหวานกรอบ เนื้อล่อน ออกดอกปลายเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน
– สายพันธุ์อีดอ เป็นพันธุ์เบา จะมีผลขนาดปานกลาง เมล็ดเล็ก รสขาติออกไปทางหวาน แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ อีดอยอดแดง ใบอ่อนจะมีสีแดง และอีดอยอดเขียว ใบอ่อนจะมีสีเขียว ออกดอกประมาณเดือนธันวาคม เก็บเกี่ยวประมาณเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม
– สายพันธุ์อีแดง จะสีเปลือกของผลค่อนข้างแดง เป็นพันธุ์กลาง กิ่งเปราะทำให้หักง่าย ผลกลมใหญ่ เมล็ดจะมีขนาดใหญ่ รสชาติหวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ อีแดงเปลือกหนา จะมีใบป้อมใหญ่ผลใหญ่ กับอีแดงเปลือกบาง จะมีใบยาว ผลจะมีขนาดเล็กกว่าอีแดงเปลือกหนา
– สายพันธุ์อีดำ จะมีผลใหญ่ ใบดำ เนื้อหนา เมล็ดจะมีขนาดเล็ก รสชาติหวานกรอบ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ อีแห้วยอดแดง จะมีเมล็ดขนาดปานกลาง และอีแห้วยอดขาว จะมีผลกลมใหญ่ หัวเบี้ยว เนื้อกรอบ รสชาติไม่หวาน
ลำไยกระดูก เป็นพันธุ์พื้นเมือง ทรงพุ่มกว้างใบหนาทึบ ผลเล็กมีน้ำมาก เนื้อน้อยไม่หวาน มีน้ำตาลประมาณ 13.75% ขึ้นได้ทั่วไปปลูกง่าย เหลือให้เห็นน้อย เพราะไม่นิยมปลูก ไม่มีราคา
ลำไยธรรมดา ผลจะมีขนาดปานกลาง เนื้อจะออกหนากว่าลำไยพันธุ์กระดูก เนื้อกรอบบางมีน้ำมาก และให้ผลดก
ลำไยสายน้ำผึ้ง ลักษณะภานอกดูคล้ายลำไยธรรมดา แต่เนื้อลำไยมีสีเหลืองอ่อน รสชาติดี หอมกรอบ เมล็ดจะมีขนาดเล็ก
ลำไยเถา หรือลำไยเครือ เป็นไม้ต้นรอเลื้อย ลำต้นจะไม่มีแก่น จึงสามารถพันเข้ากับรั้วหรือหลักได้ ผลเล็ก และเมล็ดจะมีขนาดโตกว่าลำไยบ้าน เนื้อหุ้มเมล็ดบาง ลำไยพันธุ์นี้นิยมปลูกไว้ประดับมากกว่าปลูกไว้ทาน ส่วนใหญ่จะชอบขึ้นตามป่าเขา
ลำไยขาว ผลจะมีขนาดเล็กกว่าลำไยทั่วไป เปลือกออกสีน้ำตาลอ่อนเกือบขาว เนื้อลำไยเป็นสีขาวใส เมล็ดลีบ รสชาติหวาน

วิธีการปลูกลำไย

พื้นที่สำหรับปลูกลำไย

หากเคยเป็นพื้นที่ ที่เคยปลูกพืชอย่างอื่นมาก่อน ให้ไถดินลึกลงไปประมาณ 30 เซนติเมตร และตากดินไว้ประมาณ 20 วัน และพรวนย่อยดินอีกสัก 2 ครั้ง และปรับระดับดินให้สม่ำเสมอตามแนวลาดเอียง ดินที่จะปลูกลำไยได้ดี จะต้องมีความอุดมสมบูรณ์สูง สามารถระบายน้ำได้ดี และมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ที่ประมาณ 5.5 – 6.5 และการปลูกลำไยต้องปลูกในที่โล่งแจ้ง ที่มีแสงแดดส่อง

การเตรียมพันธุ์ลำไย

เตรียมพันธุ์ลำไยโดยวิธีการตอนกิ่ง ซึ่งเราควรจะเตรียมล่วงหน้าไว้ 1 ปี เพื่อที่จะได้ต้นกล้าลำไยที่มีความแข็งแรง

ระยะปลูกลำไย

ระยะปลูกลำไยที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่างแถวและต้นขนาด 8×8 เมตร หรือขนาด 10×8 เมตร ตามสภาพพื้นที่ หรือขนาด 7×5 เมตร ในกรณีที่มีการควบคุมทรงพุ่ม

วิธีการปลูกลำไย

– เริ่มจากขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง ยาว ลึก ขนาด 80x80x80 เซนติเมตร
– รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ที่ย่อยสลายแล้ว อัตราที่ 3-5 กิโลกรัมต่อหลุม โดยผสมกับหน้าดิน และใส่ลงหลุม พูนดินสูงจากปากหลุมประมาณ 15 เซนติเมตร
– ก่อนปลูกทำหลุมเท่าถุง เพื่อวางชำต้นกล้า ตัดรากที่ขดงอรอบๆ ถุงชำต้นกล้าทิ้งไป โดยเฉพาะบริเวณก้นถุงให้ใช้มีดกรีดจากก้นถุงขึ้นมาปากถุงทั้งสองด้าน แล้วดึงถุงพลาสติกออก ระวังอย่าให้ดินแตก และกลบดินลงให้แน่น
– ปักไม้หลัก และผูกเชือกยึดต้น เพื่อป้องกันต้นกล้าโยกคลอน
– รดน้ำให้ชุ่ม พรางแสงให้จนกระทั่งแตกยอดอ่อน 1 ครั้ง จึงงดการพรางแสง
– ฤดูปลูกลำไย สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ช่วงที่เหมาะที่สุด คือ ปลายฤดูฝน ประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม) ซึ่งความชื้นในดินและอากาศเหมาะสม ลำไยจะเจริญเติบโตได้ดี

การดูแลรักษาลำไยในระยะที่ยังไม่ให้ผล

– การทำร่มเงาต้นลำไย ควรจะทำร่มเงาให้กับต้นลำไยที่ได้ปลูกใหม่ เมื่อต้นลำไยตั้งตัวได้ดีแล้ว จึงค่อยเอาที่บังออก
– การให้น้ำต้นลำไย ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอประมาณสัปดาห์ละ
หนึ่งครั้ง จนต้นลำไยตั้งตัวได้ดีแล้วก็ให้น้ำตามความจำเป็น
– การคลุมดินต้นลำไย วัสดุใช้คลุมดิน เช่น ฟางข้าว เศษหญ้า หรือพืชตระกูลถั่วต่างๆ ปลูกคลุมดิน ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน
– การสร้างทรงพุ่มของต้นลำไย จะสร้างทรงพุ่มของลำไยให้เป็นต้นเดี่ยวขึ้นไปก่อน และต่อมาจึงค่อยปล่อยให้แตกกิ่งก้าน เมื่อต้นลำไยมีความสูงจากดินประมาณ 1 เมตร สักประมาณ 3 กิ่ง
– การให้ปุ๋ยต้นลำไย เมื่อต้นลำไยตั้งตัวได้แล้ว ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงไป เช่น ปุ๋ยคอก และปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15-15-15 อัตรา 100 – 150 กรัม/ครั้ง/ต้น

การดูแลรักษาลำไยในระยะที่ให้ผลผลิต

เดือนกันยายน ระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต

– การตัดแต่งกิ่ง ควรตัดแต่งกิ่งที่ถูกโรคแมลงเข้าทำลาย กิ่งฉีกหัก กิ่งน้ำค้าง กิ่งไขว้ซ้อนกัน เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งขึ้น
– ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 10 – 20 กก./ต้น
– ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 1 – 2 กก./ต้น
– ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการแตกใบอ่อนได้เร็วขึ้น
เดือนตุลาคม ระยะแตกใบอ่อน
– พ่นปุ๋ยทางใบสูตร 30-20-10 อัตรา 20 – 30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
– ควรกำจัดวัชพืชให้หมด

เดือนพฤศจิกายน ระยะใบแก่

– ควรมีการแต่งกิ่งอีกครั้ง ตัดเฉพาะกิ่งที่แตกออกมาเป็นกระจุก กิ่งน้ำค้าง กิ่งซ้อนกัน
– การใส่ปุ๋ยเคมีตัวกลางและตัวหลังสูง เช่น สูตร 9-24-24 ประมาณ 1 – 2 กก./ต้น เพื่อบำรุงให้มีการสะสมอาหารและการสร้างตาดอก
– ควรงดให้น้ำเพื่อให้ต้นพักตัวเร็วขึ้น

เดือนธันวาคม ระยะใบแก่

$11. ควรกำจัดวัชพืช ทำความสะอาดสวนและใต้ทรงพุ่ม
$12. ควรพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อบำรุงต้นและกระตุ้นการสร้างตาดอก เช่น ปุ๋ย 10-45-10 อัตรา 20 – 30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
$13. ควรงดการให้น้ำเพื่อให้ต้นลำไยมีการสร้างตาดอก

เดือนมกราคม ระยะแทงช่อดอก

$11. ควรมีการให้น้ำเล็กน้อย และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ
$12. ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อบำรุงช่อดอก และการติดผลที่ดี เช่น ปุ๋ยสูตร 10-45-10 อัตรา 20 – 30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

เดือนกุมภาพันธ์ ระยะดอกบาน

– ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
– ควรนำผึ้งมาเลี้ยงในระยะนี้เพื่อช่วยในการผสมเกสร
– ควรงดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคแมลงทุกชนิด

เดือนมีนาคม – เมษายน ระยะติดผลขนาดเล็ก

– ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
– ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ประมาณ 1 – 2 กก./ต้น เพื่อบำรุงให้ผลโตอย่างสม่ำเสมอ

เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ระยะผลกำลังเจริญเติบโต

– ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
– ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 30 วัน ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21

เดือนสิงหาคม ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต

– ควรงดการให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 7 – 10 วัน
– การเก็บเกี่ยว ควรใช้ บันได หรือ พะอง พาดกิ่งขึ้นไปใช้กรรไกรตัดข้อผลให้ลึกเข้าไปประมาณ 1 ฟุต จากปลายช่อ

ลำไย

การขายลำไยนอกฤดู

ลำไยถือเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งแต่ละปีสามารถส่งออกและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งในรูปของการส่งออกลำไยสด ลำไยอบแห้ง และผลิตภัณฑ์รวมกันปีละกว่า 5,000 ล้านบาท โดยผลผลิตส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคเหนือ แต่เมื่อถึงช่วงฤดูกาลที่ลำไยให้ผลผลิตคือ ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เกษตรกรมักประสบกับปัญหาราคาตกต่ำจนภาครัฐต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือเป็นประจำทุกปี ในขณะที่ความต้องการของตลาดจีนที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่มีเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์และงานฉลองวันชาติจีน และในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน ดังนั้น หากเกษตรกรสามารถกระจายผลผลิตให้ออกในช่วงเวลาที่ตลาดต้องการแล้ว ก็จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำได้อย่างยั่งยืน

การวิเคราะห์โครงการทางการเงินเพื่อศึกษาความคุ้มค่าในการผลิตลำไยนอกฤดู พบว่า เกษตรกรควรมีงบลงทุนเริ่มแรกแปลงละประมาณ 70,000-90,000 บาท (ประมาณ 5 ไร่) เพื่อใช้ในการวางระบบน้ำ การขุดบ่อน้ำบาดาล รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายต่อไร่? ในการปลูกลำไย และจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องฉีดพ่นวัชพืชและกำจัดแมลง โดยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาปีที่ 1-4 เฉลี่ยปีละ 3,000-4,000 บาท ปีที่ 5-10 เฉลี่ยตั้งแต่ไร่ละ 7,000- 13,000 บาท และปีที่ 11-20 เฉลี่ยตั้งแต่ไร่ละ 15,000-18,000 บาท

มีอัตราผลตอบแทนจากโครงการ ร้อยละ 16 มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อทุน 1.25 มีระยะเวลาคืนทุน 9 ปี และเมื่อวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ โดยกำหนดให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ลดลงร้อยละ 10 และกำหนดให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากที่คาดการณ์ไว้ การลงทุนผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรถือว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรระบุว่า ลำไยเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมบริโภคของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สามารถบริโภคได้ทั้งในรูปผลสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายชนิด ผลผลิตลำไยนอกจากมีการขายในตลาดใน ประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

error: Content is protected !!