ในบทความนี้ผมก็จะเขียนถึงโอกาสในการไปลงทุนทำธุรกิจที่ประเทศลาวว่ามีความน่าสนใจอย่างไรนะครับ
ประเทศลาวเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับประเทศไทย และด้วยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอาณาเขตของประเทศที่ติดต่อกัน ซึ่งเอื้อต่อการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางต่างๆ และนอกจากนี้การที่เศรษฐกิจในประเทศลาวขยายตัวในระดับสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เอาหล่ะครับ เรามาอ่านเนื้อหากันเลยดีกว่าครับ
ข้อดีในการทำธุรกิจที่ประเทศลาว
– ธุรกิจในประเทศลาว ลงทุนด้วยเงินทุนที่น้อยกว่าประเทศไทย เพราะค่าครองครองชีพต่ำกว่าประเทศไทย และธุรกิจที่ประเทศลาวขยายตัวได้รวดเร็ว มีคู่เเข่งไม่มาก
– ทำเลที่ตั้ง ของประเทศลาวตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และมีพรหมแดนติดกับจีน ( 1,500 ล้านคน) ไทย (65 ล้านคน) เวียดนาม (83 ล้านคน) และกัมพูชา (13 ล้านคน) เฉพาะรอยตะเข็บบริเวณชายแดนมีประชากรประมาณ 200 ล้านคน เป็นตลาดขนาดใหญ่ จึงมีความได้เปรียบเป็นประตูสู่จีน เวียดนาม และไทย
– เป็นแหล่งแรงงานราคาถูก จึงเหมาะสำหรับเป็นฐานการผลิตให้แก่ประเทศอื่นๆ
– เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านชีวภาพ ด้านพลังงาน ไฟฟ้า และทรัพยากรธรรมชาติ เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิต ด้านอุตสาหกรรม ในอนาคต
– ลาวได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า (MFN ) จากสหรัฐ อเมริกา และได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร (GSP) จากสหรัฐอเมริกาและยุโรป
– ลาวได้รับสถานะ Normal Trade Relations (NTR) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้การส่งออก สินค้าของลาวไปสหรัฐ มีภาษีลดลง เช่น สิ่งทอ ไหม ภาษีลดลงจาก ร้อยละ 90 เหลือร้อยละ 0.8 สินค้าหัตถกรรมจากร้อยละ 45 – 60 เหลือร้อยละ 0
– เนื่องจากลาวเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก จึงทำให้ลาวได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศในหลายๆ ด้าน
– ทางด้านเศรษฐกิจสินค้าจากไทยยังคงได้รับความนิยมจากประเทศลาว เพราะความใกล้ชิดการรับข้อมูลข่าวสารที่มีภาษาคล้ายกัน ดังนั้นหากสินค้าที่ดีมีคุณภาพก็จะได้รับความเชื่อถือจนกลายมาเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สาคัญ
– ทางด้านธูรกิจนั้น ธุรกิจลาวที่น่าจับตามองยังคงเน้นหนักในกลุ่มการเงิน การธนาคาร ประกันภัย การประกันสุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์
– ถ้าเราเป็นเจ้าของสินค้าอยู่แล้ว ต้องการทดลองตลาดบุกเบิกไปอาเซียน การลองตลาดโดยไปที่ประเทศลาวเป็นประเทศแรก ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะสินค้าไทยหลายชนิดถูกใจชาวลาว แต่นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่มองข้ามโอกาสทางธุรกิจในประเทศลาวซึ่งอยู่ใกล้ๆ เรา ที่ตลาดยังเปิดไปไกลได้อีกมาก
– ที่ดินในประเทศลาวไม่แพงมาก จะซื้อไว้เก็งกำไร หรือซื้อไว้สร้างโรงแรม รีสอร์ท หอพัก หรือห้างสรรพสินค้า ก็ยังมีโอกาสอีกมาก
– อุปสรรคทางด้านภาษาที่มีน้อย คือ คนลาวส่วนใหญ่ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง สังเกตได้จากคนลาวชอบดูละครไทย ละครไทยไปดังที่ประเทศลาวก็หลายเรื่องเหมือนกันครับ
ข้อเสียในการทำธุรกิจที่ประเทศลาว
– พื้นที่ของประเทศลาว ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง และเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล จึงทำให้การคมนาคมขนส่งไม่สะดวก
– นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่มองว่าตลาดลาวมีขนาดเล็ก และมีกำลังซื้อต่ำ
– โครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนา จึงไม่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศที่จะเข้าไปลงทุนในลาวมากนัก
– ข้อกฎหมายต่างๆ ของประเทศลาว เป็นกฎหมายเชิงคุ้มครองมากกว่าเชิงส่งเสริม และขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้ไม่คล่องตัวต่อการลงทุน
– เงินกีบของลาวขาดเสถียรภาพ (แกว่งขึ้น-ลง) ทำให้ยากต่อการวางแผนด้านการตลาดและการลงทุน
– แรงงานส่วนใหญ่ของลาวเป็นแรงงานไร้ฝีมือ
– ขาดระบบฐานข้อมูลที่ใช้ในการวางแผน และขาดระบบการจัดการที่ดี
– การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าในประเทศลาว มีข้อจำกัดทางกฎหมายหลายประการ โดยเฉพาะสื่อต่างๆ ที่ถูกรัฐบาลลาว ควบคุมอย่างเข้มงวด
– ปัญหาการสต็อก เเละการกระจายสินค้าสู่ตัวเเทนเเละลูกค้าในประเทศลาว
– น้ำมันเชื้อเพลิงที่ประเทศลาวราคาสูงกว่าที่ประเทศไทย ดังนั้นต้นทุนค่าขนส่ง และการกระจายสินค้าไปยังมือลูกค้าในประเทศลาว จึงสูงกว่าในประเทศไทยมาก
– การนำเข้าและส่งออกสินค้าในประเทศลาว ต้องผ่านบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลลาวเท่านั้น ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมประมาณร้อยละ 2-3 % ของราคาสินค้า ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ทำให้สินค้ามีต้นทุนสูงขึ้น
– ขั้นตอนการนำเข้าและออกเอกสารของประเทศลาว มีความซับซ้อนและล่าช้า ต้องยื่นขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งต้องวางเงินค้ำประกันการนำเข้าส่งออก
– บริษัทนำเข้าต้องมีสัดส่วนการส่งออกอย่างน้อย 2 ใน 3 ของมูลค่าสินค้านำเข้า นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดโควตานำเข้าสินค้าบางรายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ ข้าว และเหล็กเส้น
– สินค้าไทยเริ่มราคาสูงกว่าประเทศอื่น เนื่องจากปัญหาการเพิ่มค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยสูงขึ้น ทาให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น สินค้าไทยบางรายการจึงไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดประเทศลาวได้ นอกจากนี้ประเทศจีน และประเทศเวียดนามได้เข้ามาสร้างโรงงานผลิตสินค้า และมีการขอสัมปทานสร้างศูนย์การค้าในประเทศลาว ทาให้สินค้าไทยเกิดคู่แข่งมากขึ้น
– สินค้าไทยถูกปลอมแปลงจากคู่แข่ง เช่น อะไหล่ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องอุปโภคบริโภคประเภทต่างๆ ซึ่งสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคอย่างมาก ทำให้อาจจะแยกไม่ออกระหว่างสินค้าจริงกับสินค้าปลอม
– มีการลักลอบขนส่งสินค้าตามแนวชายแดน เนื่องจากไทยและประเทศลาว มีชายแดนติดต่อกันมากกว่า 1,800 กิโลเมตร และมีประมาณ 700 ช่องทางผ่านแดนเข้า-ออกระหว่างกัน ทำให้สินค้าไทยที่ลักลอบเข้าไปในประเทศลาว มีราคาถูกกว่าสินค้าที่นำเข้าอย่างถูกต้อง จึงส่งผลให้สินค้าไทยเข้าไปแข่งขันด้านราคากันเอง เนื่องจากสินค้าลักลอบนำเข้ามีต้นทุนต่ากว่า ตัวแทนจำหน่ายสินค้าในระบบไม่สามารถแข่งขันได้ ส่งผลกระทบต่อผู้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าไทยที่ถูกกฎหมาย
– ความไม่พร้อมของเส้นทางคมนาคมบางพื้นที่ ซึ่งเป็นทางลูกรัง การขนส่งทำได้ช้าจึงเปลืองเชื้อเพลิง และทำให้ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น
– การกำหนดน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกสินค้าแตกต่างกันในแต่ละแขวง ทำให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าสูงขึ้น
– ไฟฟ้า และน้ำประปายังไม่เพียงพอต่อความต้องการในบางพื้นที่
นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของประเทศลาว
รัฐบาลลาวได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น เช่น มาตรการด้านภาษี อนุญาตให้นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงจำปาสัก และแขวงหลวงพระบาง มีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแขวงอื่นๆ สามารถอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าลงทุนไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศในลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศจีน ประเทศออสเตรเลีย และประเทศฝรั่งเศส
การหาลู่ทางทำธุรกิจที่ประเทศลาว
– ข่าวดีสำหรับนักธุรกิจไทยก็คือ คนลาวส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้สินค้าจากประเทศไทย เนื่องด้วยการที่ประเทศลาวไม่มีแรงงานเพียงพอภายในประเทศ ในขณะที่ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวสูงขึ้น ทำให้ประเทศลาวยังต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
– ประชาชนลาวยังมีค่านิยมที่คิดว่าสินค้านำเข้า มีคุณภาพดีกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศลาว เพราะฉะนั้นสินค้าไทยที่มีฉลากภาษาไทยเขียนว่า Made in Thailand และราคาจะต้องสอดคล้องกับรายได้ของประชากรลาว จึงมีแนวโน้มโดนใจกลุ่มเป้าหมายในประเทศลาว จะทำตลาดได้มหาศาลจากความนิยมและเป็นที่ยอมรับในตลาด แม้ลาวจะกำลังซื้อน้อยก็ตาม
– ผู้ประกอบการหน้าใหม่ควรพิมพ์ตราสินค้า รายละเอียดที่ระบุส่วนประกอบสำคัญ รวมถึงวิธีการใช้สินค้าด้วยภาษาไทย หรือเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเดียวกับสินค้าที่จำหน่ายในไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้สินค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวลาวได้มากขึ้น
– ผู้ประกอบการที่มีสินค้าติดตลาดในประเทศลาวอยู่แล้ว ควรรักษาระดับคุณภาพ และมาตรฐานของสินค้า และไม่ควรเปลี่ยนแปลงสูตร หรือบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากจะส่งผลให้ชาวลาวเข้าใจผิดว่า เป็นสินค้าคนละชนิดกับที่เคยซื้อ นอกจากนี้ชาวลาวมักซื้อสินค้าบ่อย แต่ในปริมาณไม่มากนัก
– กลุ่มเป้าหมายในการขายสินค้าของเราไม่ได้มีแค่ประชาชนชาวลาวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มแรงงานมีฝีมือชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศลาวด้วย
– เจ้าของสินค้าอาจลดปริมาณสินค้า และบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลง และราคาถูกลง เพื่อให้ชาวลาวส่วนใหญ่สามารถซื้อในราคาที่จับต้องได้ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดอย่างการลด แลก แจก แถม
– สินค้าที่จะวางจำหน่ายในประเทศลาว ควรบรรจุหีบห่ออย่างรัดกุมตามชนิดสินค้า เนื่องจากสภาพถนนส่วนใหญ่ในประเทศลาว ค่อนข้างขรุขระ ซึ่งอาจทำให้บรรจุภัณฑ์และตัวสินค้าได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งได้
– ร้านค้าปลีกก็จัดได้ว่าเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าที่สำคัญ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านค้าที่ตั้งมานานในย่านชุมชนซึ่งชาวลาวคุ้นเคยเป็นอย่างดี และมีสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทให้เลือก
– นครหลวงเวียงจันทน์เป็นจุดกระจายสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังแขวงต่างๆ ในประเทศลาว ขณะที่แขวงหลวงพระบางเป็นจุดกระจายสินค้าของภาคเหนือของประเทศลาว และแขวงจำปาสักเป็นจุดกระจายสินค้าของภาคใต้ของประเทศลาว นอกจากร้านค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถเลือกจำหน่ายสินค้าผ่านการขายตรง หรืองานแสดงสินค้าได้เช่นเดียวกัน
– สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรคำนึงในการทำธุรกิจส่งออกไปประเทศลาว นั่นก็คือ การทำสัญญา โดยควรทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นโดยการไม่ปฏิบัติตามในสัญญา และควรหลีกเลี่ยงการเขียนข้อความที่เปิดช่องว่างให้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ในอนาคต
– นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องตกลงกับผู้นำเข้าชาวลาวให้ชัดเจน ถึงวิธีการชำระค่าสินค้าที่เป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย โดยอาจพิจารณาเครื่องมือการชำระเงินทางการค้าระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เช่น เลตเตอร์ออฟเครดิต (Documentary Letter of Credit : L/C) ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ส่งออกที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจกันเป็นครั้งแรก หรือยังไม่มั่นใจในความสามารถในการชำระเงินของผู้นำเข้าชาวลาว โดยธนาคารในประเทศลาว จะออกตราสารดังกล่าวตามคำสั่งของผู้นำเข้า เพื่อรับรองการชำระเงินตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในตราสารนั้นแล้วส่งให้แก่ผู้ส่งออก วิธีการดังกล่าวสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้นำเข้าชาวลาวได้ในระดับหนึ่ง
การทำการตลาดที่ประเทศลาว
– สื่อการตลาด เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บริเวณแยกถนนกลางเมืองสำคัญ และโปสเตอร์ตามแหล่งชุมชน สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวลาวได้เป็นอย่างดี
– การโฆษณาสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุของไทยก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากชาวลาวสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ และฟังรายการวิทยุที่ออกอากาศจากไทยได้ เช่น ชาวลาวในนครหลวงเวียงจันทน์รับวิทยุท้องถิ่นของจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย ขณะที่ชาวลาวในแขวงจำปาสักรับวิทยุท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้นการโฆษณาสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์หรือวิทยุจึงมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าได้มาก
– ทั้งนี้ในการโฆษณาสินค้าควรเลือกนักแสดงชาวไทย เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกใกล้ชิดและเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ขณะที่การออกงานแสดงสินค้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดตามข่าวสารงานแสดงสินค้าได้จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย
– พื้นที่ในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นและมีความเจริญเติบโตน่าลงทุน คือ นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงสะหวันนะเขต แขวงจำปาสัก และแขวงปากเซ
– ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มต้องการมากขึ้น ได้แก่ โมเดิร์นเทรด สินค้าบริโภค สินค้าปัจจัย 4 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวัสดุ สินค้าอุปโภคอย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อหุงข้าว พัดลม ตู้เย็น เป็นต้น
– สินค้าที่มีการแข่งขันสูงในตลาดลาว ได้แก่ สินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เหล็กกล้า สแตนเลส วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือช่าง เครื่องมือการเกษตร พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ในครัวเรือน และภาชนะบรรจุอาหาร ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากจีนและเวียดนาม ซึ่งราคาถูกกว่าสินค้าจากไทย
ส่งออกสินค้าอะไรไปประเทศลาวดี
ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ประกอบไทย คือ ไม่รู้ว่าจะส่งออกสินค้าอะไรไปประเทศลาวดี ซึ่งในขั้นแรกของการส่งออกไปประเทศลาว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาคำตอบให้ได้ว่า สินค้าใดที่ตนมีศักยภาพในการผลิต หรือในการจัดหาสินค้า และเป็นที่ต้องการของตลาดลาว ซึ่งสินค้าไทยที่เป็นที่ต้องการของชาวลาวแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
สินค้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ
รัฐบาลประทศลาวมีโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายด้าน เช่น ถนน ระบบไฟฟ้า และระบบชลประทาน เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวลาวให้ดีขึ้น ประเทศลาวจึงมีความต้องการสินค้าในหมวดเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น
– รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
– เหล็ก และเหล็กกล้า
– ปูนซีเมนต์
– เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องจักรกลการเกษตร)
– คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
สินค้าอุปโภคบริโภค
ปัจจุบันประทศลาวผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ไม่มากนัก เพราะยังขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็น และเงินลงทุนในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ นอกจากนี้การที่ประทศลาวมีประชากรเพียง 7 ล้านคน ส่งผลให้การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศ อาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเท่าใดนัก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก นอกจากนี้เครื่องปรุงรสต่างๆ จากไทยก็ได้รับความนิยมในร้านอาหาร และภัตตาคารในประเทศลาว เพราะอาหารลาวใช้วัตถุดิบที่คล้ายคลึงกับอาหารไทย ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศลาว ก็ต้องการสินค้าเหล่านี้เช่นเดียวกัน
– น้ามันสำเร็จรูป
– สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ
– เคมีภัณฑ์
– เครื่องสำอาง สบู่ แชมพู และผลิตภัณฑ์รักษาผิว
– ผลิตภัณฑ์พลาสติก
– เครื่องดื่ม
– น้ำตาล
– อาหารกึ่งสำเร็จรูป
– เครื่องใช้ในครัวเรือน
– ผงซักฟอก
– อาหารแปรรูป
– ขนมขบเคี้ยว
ส่วนเครื่องปรุงรสต่างๆ จากไทย เช่น
– น้ำปลา
– น้ำตาล
– กะปิ
นำเข้าสินค้าอะไรจากลาวมาขายดี
นี่ก็เป็นสินค้าที่ประเทศไทยนำเข้ามาจากประเทศลาวในอัตราสูงนะครับ
– สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
– เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
– ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทาจากผัก ผลไม้
– เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
– พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
– ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์
– เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด
– ลวด และสายเคเบิล
– ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช
ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับธุรกิจประเทศลาว
ตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศลาว คือ ประเทศไทย ประเทศจีน ประเทศเวียดนาม ประเทศออสเตรเลีย และประเทศเยอรมนี
ตลาดนำเข้าที่สำคัญของประเทศลาว คือ ประเทศไทย ประเทศจีน ประเทศเวียดนาม ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้
สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศลาว คือ แร่ทองแดง ทองแดงและของใช้ที่ทำด้วยทองแดง ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ทองคำผสม ทองคำแท่ง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์จากไม้ ยาสูบ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
สินค้านำเข้าที่สำคัญของประเทศลาว คือ น้ามันเชื้อเพลิง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พาหนะขนส่งทางบก เหล็กและเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็ก ชิ้นส่วนรถยนต์และอะไหล่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยางและเครื่องใช้ที่ทำด้วยยาง ทองแดงและเครื่องใช้ที่ทำด้วยทองแดง
สรุปการทำธุรกิจที่ประเทศลาว
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับบทความนี้ ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจจะเข้าไปสำรวจตลาดประเทศก่อน อาจจะไปทริปสำรวจความเป็นอยู่ของชาวสักพักนึง เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวลาว วัฒนธรรม และทิศทางของตลาดในปัจุับน รวมทั้งดูว่ามีผู้ประกอบการรายอื่นนำสินค้าประเภทเดียวกันกับเราเข้าไปจำหน่ายแล้วหรือยัง และสินค้าที่ผู้ประกอบการต้องการส่งออกไปที่ประเทศลาวจะสามารถแข่งขันได้หรือไม่ และต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าผู้ประกอบการท่านอื่นในประเทศลาวที่เค้าทำอยู่แล้ว เค้านำเข้าสินค้าประเภทเดียวกับเรามาจากที่ไหน จัดซื้ออย่างไร ราคาเท่าไร และจัดส่งมาถึงร้านด้วยวิธีใด เพื่อใช้ข้อมูลเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินงานของบริษัทของเราต่อไป
และผู้ประกอบการที่จะไปลงทุนในประเทศลาว ควรศึกษากฎหมายการลงทุนที่ประเทศลาวอย่างทะลุปุโปร่ง ว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการอาจจะศึกษาได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ หรือเว็บไซต์ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อการเดินไปข้างหน้าของธุรกิจท่านอย่างราบรื่นครับ