เมื่อพูดถึงเงาะแล้วสิ่งที่เรานึกถึงคงเป็นรสชาติที่หวานชุ่มคอเนื้อกรอบนุ่มราคาไม่แพง รับประทานก็ง่ายไม่ยุ่งยาก ยิ่งถ้าได้แช่ให้เย็นฉ่ำด้วยล่ะก็ แค่คิดก็ชื่นใจแล้วใช่ไหมครับ และถ้าเอาไปขายก็ทำกำไรได้เรื่อยๆ ในวันนี้เรามาทำความรู้จักกับเงาะ และวิธีการปลูกเงาะกันให้ละเอียด จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปว่ากว่าจะมาเป็นผลไม้ที่มีเปลือกสีแดง เนื้อในสีขาวรสหวานฉ่ำนี้ มีวิธีการปลูกอย่างไรกันบ้าง
ก่อนอื่นก็ขอเกริ่นถึงเรื่องเงาะสักเล็กน้อย เงาะมีชื่อในภาษาอังกฤษคือ Rambutan และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nephelium lappaceum Linn เงาะเป็นไม้ยืนต้น เป็นผลไม้เมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย และแพร่ขยายมาปลูกมาในประเทศไทยในภายหลัง เป็นผลไม้ที่สามารถเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นสูง เงาะในประเทศไทยจึงนิยมปลูกในภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งสายพันธุ์ที่นิยมเพาะปลูกมากที่สุดก็ได้แก่ พันธุ์โรงเรียน หรือชื่อเรียกว่าอีกอย่าง คือ เงาะโรงเรียน และพันธุ์สีทอง พันธุ์สีชมพู เป็นต้น ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ก็มีปลูกกันอยู่บ้างตามพื้นที่ต่างๆ
พันธุ์เงาะในปัจจุบัน มี 2 ชนิด คือ เงาะติดกับเงาะล่อน เงาะติดคือเงาะที่มีเนื้อติดกับส่วนของเมล็ด มักมีรสเปรี้ยวไม่นิยมรับประทานหรือปลูกเพื่อจำหน่าย อีกชนิดหนึ่งคือเงาะล่อน ซึ่งเนื้อของเงาะจะล่อนสามารถแยกออกจากเมล็ดโดยง่าย เงาะล่อนจะมีหลายสายพันธุ์ส่วนมากจะมีรสหวานอร่อย คนจะนิยมรับประทานเงาะล่อนมากกว่าเงาะติด
ลักษณะ และคุณสมบัติของเงาะสายพันธุ์ที่นิยมปลูก
1. เงาะโรงเรียน ปลูกง่ายผลดกเมื่อสุกเปลือกจะมีสีแดงเข้มปลายขนจะมีสีเขียว เปลือกบางเนื้อหนาแห้ง เม็ดล่อน เนื้อกรอบรสหวานแหลม สามารถเก็บได้นาน เป็นเงาะที่นิยมรับประทาน และปลูกกันมาก เป็นที่ต้องการของตลาด ที่ขึ้นชื่อที่สุดก็คือเงาะโรงเรียนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
2. เงาะเจ๊ะมง ใบจะใหญ่ปลูกยากแต่ผลจะงามมาก สีแดงสดสวย เนื้อหวานกรอบไม่แฉะ มีลูกน้อยผลไม่ดก นิยมปลูกกันมากทางภาคใต้
3. เงาะสีชมพู เป็นพันธุ์ที่มีขนาดผลใหญ่ เมื่อสุกจะมีเปลือกและขนเป็นสีชมพูสด เนื้อผลจะเหนียวหนาฉ่ำน้ำ แต่เปลือกบางช้ำง่ายไม่ทนต่อการขนส่ง ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ นิยมปลูกกันมากในภาคตะวันออก
นอกจากนั้นก็ยังมีพันธุ์สีทอง พันธุ์น้ำตาลกรวด พันธุ์ปีนัง พันธุ์ตาวี เงาะบางยี่ขัน ซึ่งไม่นิยมปลูกทำเลที่เหมาะในการทำสวนเงาะคือที่มีดินร่วนปนทราย และที่สำคัญคือมีปริมาณน้ำฝนมาก เพราะเงาะเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในอากาศมากเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยในการออกดอกติดผล ทำให้เงาะมีผลผลิตมาก
วิธีการปลูกเงาะทำอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ
1. วิธีการขุดหลุมปลูก การปลูกวิธีนี้เหมาะกับพื้นที่ซึ่งไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก วิธีนี้จะให้ดินในหลุมเป็นตัวเก็บกักความชื้น ควรขุดหลุมกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร ตากแดดทิ้งไว้หนึ่งสัปดาห์ ใช้หญ้าแห้งรองก้นหลุมใส่ปุ๋ยแล้วนำเงาะลงได้ หากมีปุ๋ยคอก เช่น มูลโค กระบือ หรือปุ๋ยดินฟอสเฟต ให้ใส่รองก้นหลุมก็จะดียิ่งขึ้น
2. ปลูกแบบไม่ต้องขุดหลุม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การปลูกแบบนั่งแท่น หรือยกโคก วิธีนี้เหมาะกับพื้นที่มีฝนตกชุก วิธีนี้จะสามารถทำการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขังโคนต้นแต่ต้องมีการวางระบบน้ำไว้ก่อน เงาะจะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการปลูกในหลุม
ทั้งนี้จุดเน้นที่สำคัญในการปลูกเงาะ คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีระบบรากดี ไม่ขดงอในถุง แต่ถ้าจะใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ก็ให้ตัดดิน และรากที่ขดหรือพันตรงก้นถุงออก
ระยะห่างการปลูกเงาะ
ระยะห่างการปลูกเงาะเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ควรมีระยะห่างระหว่างต้นอย่างน้อยที่สุดคือ 12 เมตร แต่ระยะที่เหมาะสมจริงๆ ควรอยู่ที่ 16 เมตร เพราะเงาะจะได้แผ่กิ่งก้านสาขาได้อย่างเต็มที่ ในสวนหนึ่งไร่จะปลูกเงาะได้ราว 9-16 ต้นเท่านั้น และต้องคอยตัดแต่งกิ่งไม่ให้ทรงพุ่มชนและบังแสงกัน สำหรับสวนที่ใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงาน ควรเว้นระยะระหว่างแถวให้ห่างพอที่เครื่องจักรกลจะเข้าไปทำงาน แต่ให้ระยะระหว่างต้นชิดขึ้น
การดูแลรักษา
การดูแลรักษา ต้องให้น้ำเงาะสม่ำเสมอ แล้วงดน้ำในช่วงปลายฝน เงาะที่ต้นสมบูรณ์เมื่อผ่านสภาพขาดน้ำติดต่อกัน ประมาณ 20-30 วัน จะแสดงอาการขาดน้ำโดยใบจะห่อ ให้กระตุ้นการออกดอกด้วยการให้น้ำในปริมาณมากเต็มที่ ก่อนหยุดให้น้ำอีกประมาณ 10 วัน เมื่อพบว่าตายอดเริ่มพัฒนาเป็นดอก ก็เริ่มให้น้ำอีกครั้งเพื่อเร่งการพัฒนาของดอก
แต่ถ้าหลังจากให้น้ำแล้วตายอดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเขียว แสดงว่าให้น้ำมากเกินไป ถ้าตายอดพัฒนากลายเป็นใบ ต้องหยุดให้น้ำปล่อยให้ต้นเงาะขาดน้ำอีกครั้ง ถ้าตาดอกเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลอมเขียวกลายเป็นสีน้ำตาลทองก็เริ่มให้น้ำอีกครั้ง จากนั้นเมื่อต้นเงาะแทงช่อดอกและติดผลแล้ว ให้รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ
การบำรุงรักษาต้องคอยกำจัดหญ้า และใส่ปุ๋ย โดยเฉพาะเมื่อเงาะออกดอกแล้ว และหลังจากการเก็บเกี่ยว และเมื่อทำการเก็บเกี่ยวแล้วต้องมีการตัดแต่งกิ่งเงาะทุกครั้ง โดยตัดกิ่งเล็กๆ ออกทิ้ง เหลือไว้แต่กิ่งใหญ่
สรุปการปลูกเงาะ
จะเห็นได้ว่าการปลูก และวิธีการดูแลเงาะนั้นไม่ได้ยากอย่างที่หลายๆ ท่านคิดเลยครับ สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแต่เราหมั่นขยันดูแลเอาใจใส่ในงานของเราเพียงเท่านี้ ไม่ว่าการจะลงมือทำ หรือปลูกพืชชนิดใดก็แล้วแต่จะต้องสำเร็จได้อย่างแน่นอนครับ
การขายเงาะ
สำหรับเงาะเนี่ยจะให้ผลผลิตปีละครั้ง เริ่มเก็บผลผลิตได้ช่วงปลายเดือนมีนาคม การปลูกเงาะมีเยอะในจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด สำหรับในภาคใต้ต้องรอเดือนกรกฎาคมถึงจะเริ่มเก็บผลผลิตได้
ราคาเงาะตอนออกจากสวนจะเป็นราคาที่ถูกที่สุด พอออกจากสวนแล้วก็มาวางขายที่ตลาดขายส่ง ราคาก็เขยิบขึ้นมานิดหน่อย และราคาจะแพงสุดเมื่อนำไปวางขายปลีก ซึ่งราคาเงาะที่ขายก็แล้วแต่พื้นที่ครับ
สำหรับการขายเงาะนั้นนะครับ เงาะก็ถือได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีคนทานเยอะ เรียกได้ว่าเอาไปวางขาย ยังไงก็ต้องมีคนซื้อ แต่การขายเงาะจะเหนื่อยหน่อย เพราะเราต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปขายเงาะ เพราะส่วนใหญ่คนจะมาซื้อเงาะที่ตลาดตอนเช้าๆ ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ทำให้เรามีเงินได้ครับ ชีวิตขายผลไม้ของพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ขายแบบสบายๆ ส่วนใหญ่จะเหน็ดเหนื่อย เหมาะสำหรับคนขยัน ไม่เกี่ยงความลำบาก แต่อาชีพขายเงาะก็ทำให้หลายๆ คนมีเงินจำนวนมากเข้าขั้นคนรวยมาแล้ว