สูตรวิธีทำขนมดอกจอก พร้อมคำแนะนำในการขายขนมดอกจอก

ขนมดอกจอก
 

ขนมดอกจอกเป็นขนมไทยที่มีมาแต่โบราณ กรุบๆ กรอบๆ หอมหวาน รสชาติมันอร่อย เด็กสมัยปัจจุบันมักจะไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว เพราะนับวันจะหาคนทำขนมดอกจอกขายก็ยากเต็มที แต่ไม่ใช่ว่าปัจจุบันจะไม่มีคนทานขนมดอกจอกนะครับ ยังมีคนทานอยู่เรื่อยๆ และนี่ก็เป็นโอกาสของเราจะเข้ามาในตลาดนี้ ขายขนมดอกจอกสร้างรายได้ สร้างอาชีพครับ

ขนมดอกจอกนั้นเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สังเกตธรรมชาติของพืช­น้ำ และพวกจอก แหน นำมาสร้างสรรค์เป็นรูปทรงขนมขึ้นมา หรืออีกนัยก็คือ ขนมดอกจอกเป็นขนมที่มีรูปทรงคล้ายดอกจอกที่มีเเหล่งกำเนิดอยุ่ในน้ำ ในสมัยก่อนเป็นที่นิยมมาก เป็นหนึ่งในขนมที่จัดขึ้นในงาน เเละพิธีการสำคัญต่างๆ เช่น งานบวช งานเเต่งงาน งานขึ่นบ้านใหม่ เป็นต้น ซึ่งความนิยมไม่เเพ้ขนมไทยอย่างทองหยิบ ทองหยอด หรือฝอยทองที่เป็นที่นิยมทั่งในอดีต และปัจจุบัน

สูตรขนมดอกจอกนี้มีขั้นตอนการทำไม่ยาก รสชาติหวานกำลังดี หอมเนื้อแป้ง ชุบแล้วร่อนออกจากพิมพ์ทองเหลืองง่าย ซึ่งก่อนที่เราจะทำขนมดอกจอกไปขายกันกัน เราก็ต้องมารู้จักอุปกรณ์ในการทำขนมดอกจอกนี้กันก่อน ขนมชนิดนี้เป็นขนมไทย ที่จะต้องอาศัยพิมพ์ขนมในการทำให้ขนมเป็นรูปร่างอย่างที่ต้องการ ซึ่งพิมพ์ขนมดอกจอกหน้าตาเป็นแบบในรูปนี้ครับ

พิมพ์ขนมดอกจอก

ลักษณะจะมีพิมพ์อยู่ที่ปลายด้านหนึ่ง และก็จะมีด้ามยาวไว้สำหรับจับ หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทำขนมทั่วไปเลยครับ ซึ่งพิมพ์ขนมดอกจอกไม่ได้มีขนาดเดียวนะครับ มีประมาณ 3 ขนาดได้ ที่นิยมเห็นจะเป็นขนาดเล็กสุด เพราะทำออกมาแล้วขนมจะดูสวยงามขนาดเล็กดี แต่ละขนาดก็จะมีราคาแตกต่างกันออกไป ราคาก็เริ่มตั้งแต่ร้อยกว่าบาท อุปกรณ์ทำจากทองเหลือง

ก่อนจะนำพิมพ์ดอกจอกไปชุบแป้งขนมนี่ ให้นำพิมพ์ไปแช่น้ำมันพอท่วมตัวพิมพ์ไว้อย่างน้อย 1-2 คืนนะครับ จะทำให้ตอนทอดขนมหลุดร่อนออกจากพิมพ์ได้โดยง่ายเพียงแค่การสลัดครับ

เอาหล่ะครับ เรามาดูสูตรวิธีการทำขนมดอกจอกกันเลยครับ

สูตรวิธีการทำขนมดอกจอก สูตรที่ 1

วิธีการทำก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ผสมแป้งให้พอดีๆ ใช้แม่พิมพ์สำหรับขนมดอกจอก จุ่มลงกระทะตั้งน้ำมัน รอแป๊ปเดียว ก็ได้อร่อยกับขนมดอกจอกกันแล้วครับ

ส่วนผสม

– แป้งข้าวเจ้า 100 กรัม
– แป้งมัน 100 กรัม
– แป้งสาลี 50 กรัม
– เกลือป่น 1 ช้อนชา
– น้ำตาลทราย 1/4 ถ้วย
– น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
– น้ำมันพืช สำหรับทอด
– น้ำปูนใส 1/2 ถ้วย
– ไข่ไก่ 1 ฟอง
– งาดำ งาขาว ตามชอบ
– พิมพ์ขนมดอกจอก

วิธีการทำ

1. ผสมแป้งทั้งสามชนิดรวมกัน ค่อยๆ ใส่น้ำปูนใส และน้ำทีละนิด นวดแป้งพอเข้ากัน จากนั้น ใส่ไข่ไก่ น้ำตาลทราย เกลือป่น น้ำมัน คนให้เข้ากัน เติมน้ำที่เหลือจนหมด
2. ใส่น้ำมันลงในภาชนะ แช่พิมพ์สำหรับทำขนมในน้ำมัน ตั้งไฟให้ร้อน ใช้ไฟปานกลาง ยกพิมพ์ขึ้นซับกับกระดาษซับน้ำมัน แล้วจุ่มลงในแป้งที่เตรียมไว้ ให้แป้งติดพิมพ์ แล้วนำลงไปจุ่มในน้ำมันทอด
3.พอแป้งอยู่ตัวแล้วสะบัดให้แป้งหลุดจากพิมพ์ (ถ้าไม่หลุดหาไม้หรือมีดปลายแหลมช่วยเขี่ยออก) ทอดให้เหลือง ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน ปล่อยให้เย็น เก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท

ข้อแนะนำ

1. พิมพ์ใช้ทำขนม ควรแช่ในน้ำมันก่อน 1 คืน จะทำให้ขนมล่อนออกจากพิมพ์ง่าย
2. ถ้าพิมพ์ไม่ร้อน ก็จะจุ่มแป้งไม่ติด และถ้าน้ำมันติดพิมพ์มากไป แป้งก็จะไม่ติดเช่นกัน
3. ควรคนแป้งให้เข้ากันก่อนทุกครั้ง ก่อนจุ่มพิมพ์ เพราะแป้งที่ผสมจะนอนก้น
4. การทอดแต่ละครั้ง ควรแบ่งแป้งใส่ถ้วยเล้กที่มีขนาดใหญ่กว่าพิมพ์เล็กน้อย

สูตรวิธีการทำขนมดอกจอก สูตรที่ 2

ส่วนผสม

– แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย
– แป้งมัน 1 ถ้วย
– แป้งตราว่าว 1/2 ถ้วย (ใช้แป้งสาลีทั่วไปแทนได้)
– น้ำ 3/4 ถ้วย (ใช้น้ำกะทิแทนเป็น 1 ถ้วยได้)
– น้ำปูนใส 1 ถ้วย
– น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ
– ไข่แดง 1 ฟอง
– น้ำตาล 6 ช้อนโต๊ะ
– งาดำงาขาว
– น้ำมันสำหรับทอด
– เกลือ (นิดหน่อย)

วิธีการทำ

1. เอาทุกอย่างมาผสมกัน
2. ต่อมาใส่งาดำ งาขาว ลงไป คนให้เข้ากัน
3. ระหว่างนั้น ก็ตั้งน้ำมันในกระทะให้ร้อน พร้อมน้ำพิมพ์ลงไปแช่ในน้ำมัน เตรียมความพร้อมของพิมพ์ก่อน
4. เมื่อน้ำมันร้อนกำลังพอดี จุ่มพิมพ์ในขนม แต่ต้องจุ่มไม่ให้จมพิมพ์ไม่งั้นตอนทอดขนมจะไม่หลุดจากพิมพ์

ข้อแนะนำ

– ถ้าซื้อพิมพ์มาใหม่ๆ ต้องแช่น้ำมันไว้ก่อนใช้เป็นเวลา 1 คืน เวลาทอดขนมดอกจอกจะได้ไม่ติดพิมพ์ แต่หลังจากการใช้ครั้งแรกแล้ว ใช้ครั้งต่อไปก็ไม่ต้องน้ำไปแช่น้ำมันครับ

สูตรวิธีการทำขนมดอกจอก สูตรที่ 3

ส่วนผสม

– แป้งข้าวเจ้าตราช้างสามเศียร 350 กรัม
– แป้งมัน 50 กรัม
– น้ำตาลทราย 1 ถ้วย
– เกลือ 1/2 ช้อนชา
– น้ำกะทิ 1 ถ้วย
– น้ำปูนใส 1 ถ้วย
– ไข่ไก่ 1 ฟอง
– น้ำมันสำหรับทอด
– งาขาว งาดำ

วิธีการทำ

1. เทวัตถุดิบลงในอ่างผสม เริ่มจากเทแป้งแป้งข้าวเจ้า และแป้งมัน และตามด้วยน้ำตาล และเกลือ และกะทิ ตามลำดับ
2. สำหรับน้ำปูนใสต้องค่อยๆ รินใส่ ระหว่างนี้ให้คนแป้งไปด้วย แป้งจะได้ไม่จับตัวกันเป็นก้อน
3. ต่อไปใส่ไข่ลงไป
4. คนส่วนผสมทั้งหมดให้เป็นเนื้อเดียวกัน
5. เมื่อคนส่วนผสมแล้ว ใส่งาขาวงาดำตามลงไป และคนส่วนผสมทั้งหมดอีกครั้ง
6. นำกระทะมาใส่น้ำม้น ใส่พิมพ์ ตั้งไฟ ใช้ความร้อนระดับปานกลาง
7. ให้จับที่ก้านพิมพ์ ถ้าร้อนแล้ว นำมาจุ่มแป้งได้เลย เวลาจุ่มแป้งให้เหลือขอบบนไว้เล็กน้อย จะได้ทำให้ขนมหลุดออกจากพิมพ์
8. เวลาจุ่มพิมพ์ต้องค่อยๆ จุ่ม
9. ตอนยกพิมพ์ขึ้น ให้แป้งหยดลงเล็กน้อย ห้ามสบัดพิมพ์เด็ดขาด
9. ถ้าจะให้ขนมดอกจอกสวยงาม ต้องหรี่ไฟลงเล็กน้อย ดอกจะได้ไม่สะดุ้งไฟ
10. กดพิมพ์ลงให้ตัวขนมจมน้ำม้นลงไป และเขย่าพิมพ์เบาๆ ให้ขนมหลุดออกมา
11. พลิกกลับขนม ให้สุกโดยทั่วทั้งชิ้น ตัวขนมด้านล่างจะหนา ต้องทอดนานหน่อย
12. สุดท้ายเรื่องพิมพ์ทอด ลองสังเกตพิมพ์ที่แช่นำ้มัน ถ้าซื้อพิมพ์ใหม่มา ต้องแช่พิมพ์ให้อิ่มน้ำมันก่อนนำมาใช้ครับ

สูตรวิธีการทำขนมดอกจอก สูตรที่ 4

ส่วนผสม

– แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย
– แป้งสาลี 1 ถ้วย
– แป้งมัน 1/2 ถ้วย
– น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วย
– เกลือ 1 ช้อนชา
– ไข่แดง 1 ฟอง
– น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
– กะทิ 1 ถ้วย
– น้ำปูนใส 1 ถ้วย
– งาขาวงาดำ 1/2 ถ้วย
– น้ำมันสำหรับทอด

วิธีการทำ

1. ผสมแป้งทั้ง 3 ชนิดเข้าด้วยกัน และพักไว้
2. นำน้ำตาลทราย เกลือ ไข่แดง กะทิ น้ำปูนใส ผสมให้เข้ากัน และเติมน้ำมันพืชลงไป คนให้เข้ากัน
3. ค่อยๆ ใส่ส่วนผสมที่ละลายแล้วดังข้อ 2 ลงในแป้งทีละน้อย จนแป้งรวมตัวเป็นก้อน นวดพอนุ่มมือ และค่อยๆ คลายด้วยส่วนผสมที่เหลือจนหมด นำมากรอง ใส่งาขาวงาดำ คนให้เข้ากัน
4. นำน้ำมันใส่กระทะขึ้นตั้งไฟโดยใช้ไฟปานกลาง นำพิมพ์ลงจุ่มน้ำมันพอพิมพ์ร้อน ยกพิมพ์สลัดให้น้ำมันแห้ง หรือใช้กระดาษซับน้ำมันแล้วค่อยนำไปจุ่มในแป้ง ประมาณ 3/4 ของพิมพ์ แล้วจุ่มลงในน้ำมัน พอให้แป้งร่อนออก
5. เคล็ดไม่ลับ ใส่น้ำปูนใส เพื่อให้ขนมกรอบนาน

ข้อแนะนำ

– ทอดไฟปานกลาง น้ำมันร้อนจัด
– พิมพ์ชองดอกจอกต้องร้อนจัดขณะจุ่มแป้งลงไป จึงจะจับแป้งได้ดี

การขายขนมดอกจอก

การบรรจุซองขนมดอกจอก

– ให้บรรจุขนมดอกจอกในภาชนะบรรจุที่สะอาด ปิดได้สนิท และสามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกที่อยู่ภายนอกได้
– น้ําหนักสุทธิ หรือจํานวนชิ้นของขนมดอกจอกในแต่ละภาชนะบรรจุต้องไม่น้อยกว่าที่ระบุไว้ที่ฉลาก

เครื่องหมาย และฉลากขนมดอกจอก

ที่ภาชนะบรรจุขนมดอกจอกทุกหน่วย อย่างน้อยต้องมีเลข อักษร หรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ ให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน

– ชื่อผลิตภัณฑ์ เช่น ขนมดอกจอก ดอกจอกสมุนไพร ดอกจอกฟักทอง ดอกจอกชาเขียว หรืออื่นๆ
– ส่วนประกอบที่สำคัญ
– น้ำหนักสุทธิ หรือจำนวนชิ้น
– วัน เดือน ปีที่ผลิต และวัน เดือน ปีที่หมดอายุุ หรือข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน (วัน เดือน ปี) ”
– ข้อแนะนำในการเก็บรักษา เช่น ควรเก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
– ชื่อร้าน หรือบริษัท หรือสถานที่ทำ พร้อมสถานที่ตั้ง หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
– ในกรณีทีใช้ภาษาต่างประเทศ ต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น

การขายขนมดอกจอก

เท่านี้เราก็จะได้ขนมดอกจอกเอาไว้ขายกันได้แล้วครับ ลองดูนะครับ การขายขนมดอกจอกอาจจะทำให้คุณมีรายได้ จนถึงขั้นร่ำรวยก็ได้ ใครจะไปรู้ครับ

ถ้าหน้าบ้านเรา อยู่ใกล้ตลาด หรือแหล่งชุมชน เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการเปิดขายเล็กๆ น้อยๆ หน้าบ้านเรา โดยใช้เวลาหลังเลิกงาน หรือวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เพื่อดูการตอบรับมีผู้มาซื้อมากน้อยเพียงใด ถ้าผลตอบรับดี เราอาจจะลาออกจากงาน เพื่อมาขายขนมดอกจอกแบบเต็มเวลากันไปเลย เพื่อผลกำไรที่จะได้รับมากขึ้น อาจจะตั้งชื่อร้านให้เป็นทางการ คนจะได้จำชื่อร้านของเราได้ เผื่อมีการบอกต่อๆ กันถึงความอร่อยของร้านเรา เมื่อนึกถึงขนมดอกจอก จะต้องนึกชื่อของร้านเรา ทำอะไรทำให้สุดไปเลยครับ

แต่ถ้าหน้าบ้านไม่ใช่แหล่งชุมชน ก็ต้องลองไปเช่าพื้นที่ตามตลาดนัด เพื่อดูปริมาณการซื้อในแต่ละวันว่ามีมากน้อยเพียงใด ขายได้กำไร หรือขาดทุน ซึ่งถ้าทำอร่อย ผมเชื่อว่ายังไงก็ขายได้อยู่แล้ว

สรุป

ซึ่งขนมดอกจอกก็เป็นขนมไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีประวัติอยุ่คู่กับคนไทยมายาวนาน เเละเป็นขนมที่มีขั้นตอนการทำไม่ยาก ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งวัตถุดิบในการทำขนมดอกจอกก็หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป และราคาไม่เเพง ขนมดอกจอกเป็นขนมอีกหนึ่งชนิดที่เหมาจะะขายเป็นอาชีพ และช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่กับคนไทยไปนานๆ ครับ

error: Content is protected !!