อาเซียนคืออะไร และประวัติอาเซียน

สำหรับคำว่าอาเซียน (ASEAN) นั้น ชื่อเต็มภาษาไทย คือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชื่อเต็มภาษาอังกฤษ คือ Association of South East AsianNations

ซึ่งอาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งได้มีการลงนามที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ผู้ที่ร่วมลงนามก็คือ รัฐมนตรีของไทย และต่างประเทศ สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ

– ประเทศสิงคโปร์
– ประเทศมาเลเซีย
– ประเทศอินโดนีเซีย
– ประเทศฟิลิปปินส์
– ประเทศไทย

ซึ่งรัฐมนตรีผู้แทนจากทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วย

– นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์)
– นายตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย)
– นายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย)
– นายนาซิโซ รามอส (รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์)
– พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย)

โดยการจัดตั้งในครั้งแรกมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและร่วมมือในเรื่องสันติภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ องค์ความรู้ สังคมวัฒนธรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก เมื่อจัดตั้งอาเซียนขึ้นครั้งแรกแล้ว ในเวลาต่อมาได้มีประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเพิ่มเติม คือ

– ประเทศบรูไนดารุสซาลาม เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2527
– ประเทศเวียดนาม เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538
– ประเทศลาว และประเทศพม่า เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
– ประเทศกัมพูชา เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542

ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกอาเซียนรวมแล้วทั้งหมด 10 ประเทศ

คำขวัญอาเซียน คือ หนึ่งวิสัยทัศน์, หนึ่งอัตลักษณ์, หนึ่งประชาคม (One Vision, One Identity, One Community)

สัญลักษณ์อาเซียน

รูปรวงข้าวสีเหลืองบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาวและสีน้ำเงิน

-รูปรวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น มัดรวมกันไว้ หมายถึง ประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
-พื้นที่วงกลม สีแดง สีขาว และน้ำเงิน ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกภาพ
-ตัวอักษรคำว่า “asean” สีน้ำเงิน อยู่ใต้ภาพรวงข้าวอันแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภาพ เอกภาพ และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน

สีน้ำเงิน  หมายถึง   สันติภาพและความมั่นคง
สีแดง     หมายถึง   ความกล้าหาญ และความก้าวหน้า
สีขาว      หมายถึง   ความบริสุทธิ์
สีเหลือง  หมายถึง   ความเจริญรุ่งเรือง

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาเซียน

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาเซียน คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่ง สันติภาพเสถียรภาพ และความมั่นคงทางการเมือง สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม และ วัฒนธรรมการกินดีอยู่ดีของประชาชนบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยแบ่งออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
2. เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
3. เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
4. เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
5. เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปแบบของการฝึกอบรมและการวิจัยและส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
6. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจนปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
7. เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่นๆ และองค์การระหว่างประเทศ

อาเซียน รวมตัวกันเพื่อ ความร่วมมือกันทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และได้มีการพัฒนาการเรื่อยมา จนถึงขณะนี้ที่เรามีกฎบัตรอาเซียน (ธรรมนูญ อาเซียน หรือ ASEAN Charter) ซึ่งเป็นเสมือนแนวทางการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ

1.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC ชื่อเต็มคือ Asean Economic Community) ดำเนินงานเเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอาเซียน
2.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Socio-Cultural Pillar) ดำเนินงานเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมในอาเซียน
3.ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (Political and Security Pillar) ดำเนินงานเกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคงในอาเซียน

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีพัฒนาการไปด้วยกัน โดยเหตุที่คนส่วนใหญ่มักจะพูดถึงแต่ AEC ซึ่งก็คือด้านเศรษฐกิจหรือ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” คงเป็นเพราะว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ดูจะจับต้องได้มากกว่าเรื่องอื่นๆ  อีกทั้งในการขับเคลื่อนส่วนใหญ่แล้วที่มักจะก้าวไปเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ก็คือภาคธุรกิจ ดังนั้นคนอาจจะรับรู้เรื่อง AEC มากกว่ามิติความร่วมมืออื่นๆ ของอาเซียน

อย่างไรก็ดีความร่วมมือทั้ง 3 เสาหลักของอาเซียนก็มีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น เพราะการสร้างประชาคมอาเซียนย่อมหมายถึงการร่วมมือและหลอมรวมกันในทุกมิติ และแต่ละมิติก็ล้วนมีความสำคัญและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เราคงไม่อาจผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้หากปราศจากความมั่นคงทางการเมือง หรือความเข้าใจกันของคนในอาเซียน

ขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เรื่องการเปิดเสรีแรงงานในอาเซียนจะทำได้อย่างอิสระ ตัวอย่างเช่น แรงงานสามารถข้ามฝั่งโขงไปก็หางานทำอีกประเทศหนึ่งได้เลย ข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการเปิดเสรีด้านแรงงานที่อาเซียนได้เจรจากันครอบคลุมเฉพาะในส่วนของแรงงานมีฝีมือ ขณะนี้อาเซียนได้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัติวิชาชีพเพียง 7 สาขา คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก และชำงสำรวจ แต่การที่แรงงานมีฝีมือใน 7 สาขาดังว่าจะเข้ามาทำงานในประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้ จะต้องทำตามขั้นตอนและกฎระเบียบภายในประเทศต่างๆ อยู่ดี เช่น หากต้องการทำงานในไทยก็ต้องผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพหรือผ่านขั้นตอนการประเมินตามเงื่อนไขภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแรงงานไร้ฝีมือไม่อยู่ในขอบเขตของการเปิดเสรีด้านบริการอาเซียน ดังนั้นการเปิดเสรีเป็นคนละส่วนกับปัญหาแรงงานต่างด้าวทั่วไป รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งในส่วนนั้นประเทศไทยได้พยายามร่วมมือกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบ

เมื่อไม่นานมานี้มีการสอบถามความตระหนักรู้ของประชาชนใน 10 ประเทศสมาชิกเกี่ยวกับอาเซียน ปรากฏว่า ไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ ขณะที่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน (CLMV) อย่าง ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม กลับรู้จักและเห็นความสำคัญของอาเซียนมากกว่า เพราะเขาติดตามข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทย ซื้อสินค้าไทย ดูละครไทย และเรียนรู้ภาษาไทยกันมากขึ้น คนไทยเป็นคนเก่ง มีจุดแข็งและมีความโดดเด่นหลายด้าน และไม่ได้ด้อยเรื่องความรู้ความสามารถ แต่ยังมีจุดอ่อนอันดับแรกในเรื่องของภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาทางการของอาเซียน ซึ่งต้องพัฒนาอีกมาก

นอกจากนี้ เราต้องหันมาให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกันเองมากขึ้น ว่าตอนนี้เขาทำอะไรกัน มีพัฒนาการในเรื่องใด มีความแข็งแกร่งและมีจุดอ่อนในเรื่องไหน เพราะเมื่อรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนใน ปี 2558 ประเทศในอาเซียนจะมีการติดต่อกันมากขึ้น

ขณะที่องค์กรต่างๆในประเทศไทย ก็ต้องพัฒนาความรู้และติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนในสาขาที่เกี่ยวกับตนเอง เพื่อให้สามารถรับมือกับคู่แข่งจากอีก 9 ประเทศให้ได้ จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทยและประเทศไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงอยากให้มองว่าปี 2558 ที่อาเซียนจะก้าวสู่การเป็นประชาคม ไม่ได้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของอาเซียน แต่เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของอาเซียน และเราจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

error: Content is protected !!