วิธีปลูกกล้วยน้ำว้า พร้อมคำแนะนำในการขายกล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้าถือเป็นผลไม้ ที่เป็นพืชล้มลุก ลำต้นทรงกลมตั้งตรงอยู่เหนือพื้นดิน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากการผสมพันธุ์กัน ระหว่าง กล้วยป่า กับกล้วยตานี คนไทยรู้จักนำกล้วยน้ำว้ามาประกอบอาหารทั้งคาวหวานได้หลายอย่าง ทั้งอาหารคาว ขนมหวานอย่างกล้วยบวชชี กล้วยทอด กล้วยปิ้ง กล้วยกวน ฯลฯ

กล้วยน้ำว้าพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักกัน ทุกวันนี้ก็อย่างเช่น

-พันธุ์มะลิอ่อง ลำต้นมีสีเขียวปนแดง ใบสีเขียวสด ผลสุกสีเหลืองปนนวลสีขาว นิยมนำมาแปรรูปเป็นขนม อย่างเช่น กล้วยแช่น้ำผึ้ง กล้วยตาก เนื่องจากรสชาติที่หวานจัดกว่าทุกพันธ์ เนื้อนุ่ม และไม่มีเมล็ด
-กล้วยน้ำว้ากาบขาว นิยมปลูกกันในแถบจังหวัดราชบุรี ลำต้นสีเขียวอ่อน ลักษณะผลมีเหลี่ยมเล็กน้อย เมื่อสุกออกสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานหอม
-กล้วยน้ำหว้าดำ จัดเป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์เก่าแก่ ที่มีปลูกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ลำต้นสีเขียวอ่อน ผลเมื่อยังอ่อนสีน้ำตาลแดง เมื่อผลแก่จัดจึงเปลี่ยนเป็นสีดำ เนื้อในสีขาว มีรสหวาน ด้วยลักษณะสีน้ำตาลแดงไปจนถึงดำ กล้วยน้ำว้าดำ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “กล้วยน้ำว้าทองสัมฤทธิ์”
-กล้วยน้ำว้ายักษ์ เกิดจากความบังเอิญที่มีเกษตรกร ไปพบกล้วยน้ำว้ากลายพันธุ์ที่จังหวัดกาญจนบุรี ลักษณะลำต้นสูงใหญ่ และมีผลขนาดใหญ่กว่ากล้วยธรรมดาถึงเท่าตัว จึงได้นำหน่อพันธุ์ไปให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำการเพาะเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
-กล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 เป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์ที่กำลังได้รับความนิยม และปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นผลงานการวิจัยของสถานีวิจัยปากช่อง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พันธุ์ปากช่อง 50 เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้มาจากการคัดเลือกกล้วยสายพันธุ์ดี 10 สายพันธุ์ เพื่อให้ได้กล้วยที่เหมาะที่จะปลูกในเชิงพาณิชย์ (ตัวเลข 50 มาจากวาระครบรอบ 50 ปีของสถานีวิจัย ในปีที่เปิดตัว) ลักษณะเด่นของพันธุ์นี้คือ มีเครือขนาดใหญ่ มีมากกว่า 10 หวีต่อ 1 เครือ มีผลขนาดใหญ่และอวบ น้ำหนักต่อเครือมากกว่า 30 กิโลกรัม

การปลูกกล้วยน้ำว้า

การปลูกกล้วยน้ำว้า ที่ทำกันทุกวันนี้ มีอยู่ 2 วิธี คือ ปลูกจากหน่อ และปลูกจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

-การแยกหน่อ ข้อดีของการปลูกด้วยหน่อคือ ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลมาก โอกาสรอดสูง แต่ข้อเสียของมันคือ มันมีโรค และศัตรูตามมามากมาย มันตั้งตัวได้ง่ายจริงแต่หลังจากนั้นจะควบคุมยาก ถ้าปลูกไว้กินเองภายในบ้าน วิธีนี้ก็ถือว่าสะดวกดี และยังเป็นที่นิยมกันอยู่
-การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีที่ควรจะใช้ ถ้าหากจะทำการปลูกในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องโรค และสามารถควบคุม จังหวะของการเจริญเติบโต และการออกผลให้พร้อมกันได้ง่าย ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของวิธีนี้ คือ ตอนเริ่มปลูก ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องแดด และน้ำ จนกว่ามันจะตั้งตัวได้ เรียกว่าค่อนข้างยุ่งยาก โตช้ากว่า แต่ก็ชัวร์ แล้วก็แลกกับต้นทุนราคาต้นพันธุ์ ที่ค่อนข้างสูง (15-35 บาทต่อต้น)

ขั้นตอนการปลูก

-ไถพรวน และตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน
-กำหนดจุดที่จะขุดหลุมปลูก โดยให้ระยะห่างของแต่ละหลุม ห่างกัน 4 เมตร (เท่ากับว่า 1 ไร่ จะปลูกได้ 100 ต้น) ถ้าระยะห่างน้อยกว่านี้จะมีปัญหาเมื่อต้นแตกกอ ออกมาเบียดกัน
-ขุดหลุมตามจุดที่กำหนดขนาด 50x50x50 เซนติเมตร
-ผสมปุ๋ยคอกเข้ากับดินรองก้นหลุม 2 กิโลกรัมต่อหลุม ตามด้วยฟูราดานป้องกันหนอนกอกล้วย 1 ช้อนโต๊ะ
-คัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีขนาดโตพอดี(สูง 15 เซนติเมตรขึ้นไป) นำลงปลูกในหลุม กลบดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทำระบบน้ำหยด หรือสปริงเกลอร์ ได้ก็จะดี
-ดูแลให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ครบ 1 เดือน ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 150 กรัมต่อต้น
-เดือนที่ 2-3 ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักแทน คอยดูแลถากถางกำจัดวัชพืช
-เดือนที่ 4-5 กลับมาใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 150 กรัมต่อต้น
-เดือนที่ 6 ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก จากนั้นหยุดการให้ปุ๋ย จนกว่ากล้วยจะออกหัวปลี
-กล้วยจะออกหัวปลี ประมาณเดือนที่ 9 หลังจากนั้น ประมาณ 4 เดือน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้

การตัดแต่งหน่อ

เราจะไว้หน่อที่ 1 เมื่อต้นกล้วยอายุ 6 เดือน (หน่อที่แทงออกมาก่อนหน้านั้นให้ปาดทิ้งให้หมด) หลังจากนั้นเว้นระยะไป 3 เดือนจึงไว้หน่อที่ 2 และเว้นไปแบบนี้ทุก 3 เดือน จนได้ 4 หน่อที่มีอายุห่างกันหน่อละ 3 เดือน ที่เหลือให้ปาดทิ้งให้หมด

วิธีเลือกเอาหน่อไว้ให้เลือกหน่อที่โคนใหญ่ๆ แสดงว่าเป็นหน่อที่สมบูรณ์ เก็บสะสมอาหารไว้มาก และไม่ควรเลือกหน่อที่ขึ้นติดกับต้นแม่ ให้เลือกหน่อที่ห่างจากต้นแม่หน่อย สาเหตุที่ไว้หน่อที่ระยะห่างกันทุก 3 เดือน เพื่อที่จะให้กล้วยกระจายกันออกผลได้ทั้งปี สามารถบริหารการเก็บเกี่ยวขายได้ดีกว่า

การดูแลส่วนอื่นๆ ก็คอยดูแลเรื่องน้ำ ความชื้นของหน้าดิน เพราะรากของต้นกล้วยน้ำว้า จะหากินอยู่ตามบริเวณผิวดิน คอยดูแลตัดแต่งใบ คัดใบที่เหี่ยว แก่ หรือใบที่เป็นโรคทิ้ง แล้วก็เรื่องกำจัดวัชพืช จนกว่าจะถึงวันเก็บเกี่ยว

error: Content is protected !!