ส้มแก้วเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวสมุทรสงคราม โดยเฉพาะอัมพวา และอำเภอบางคนที แต่เดิมส้มแก้วมีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ประเทศต่างๆ ประเทศไทยพบมากในจังหวัดสมุทรสงคราม ส้มแก้วเป็นส้มที่ใหญ่อันดับสองรองลงมาจากส้มโอ
ลักษณะโดยทั่วไป
ผลส้มแก้วมีลักษณะกลมแป้นบริเวณเปลือกเรียบมีต่อมไขมันทั่วบริเวณเปลือกแกะง่าย เป็นไม้ยืนต้น ใบเรียบ นิยมนำมารับประทานแบบคั้นน้ำ เนื่องจากสีของส้มแก้วเป็นสีเหลืองทองทำให้ชาวไทยเชื้อสายจีน เชื่อกันว่าเป็นผลไม้มงคล จึงมักเห็นพวกเข้าเหล่านั้นนำขึ้นหิ้ง หรือเป็นของเซ่นไหว้ในเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะตรุษจีน หรือสารทจีน เป็นต้น
สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกส้มแก้ว
เป็นดินเหนียวปนดินร่วน จะทำให้ต้นส้มแก้วสามารถเจริญเติบโตได้ดี สมุทรสงคราม จึงเป็นแหล่งปลูกส้มแก้วมากที่สุด เนื่องจากกระแสน้ำได้พัดพาตะกอนของน้ำเหนือมาทับถมในพื้นที่ ประกอบกับแหล่งน้ำที่จืดสนิท ทำให้เกิดเป็นอินทรียวัตถุที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที เป็นต้นกำเนินต้นส้มแก้วแห่งแรก และแห่งเดียวที่มีอยู่ในประเทศไทยจนปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ส้มแก้วที่ได้จากที่นี่มีผลโต คุณภาพดี และมีน้ำหนักที่ดีกว่าการนำต้นส้มแก้วไปปลูกยังจังหวัดอื่นๆ สภาพโดยทั่วไปเกษตรกรนิยมปลูกร่วมกับไม้ผลชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลิ้นจี่ หรือส้มโอ
วิธีการปลูกส้มแก้ว
เนื่องจากส้มแก้วเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีพุ่มที่เล็กจนถึงปานกลาง ไม่ค่อยชอบแสงแดดเท่าไหร่นัก เกษตรกรจึงนิยมปลูกผสมร่วมกับไม้ผลชนิดอื่น เพื่ออาศัยร่มเงาจากไม้ผลชนิดอื่นในการเจริญเติบโต มีลูกดก หากได้รับการดูแลสามารถสร้างผลผลิตให้เกษตรได้ดีไม่แพ้ไม้ผลอื่นๆ ในสวน
1.ก่อนการปลูกจะมีการจัดเตรียมหน้าดิน โดยการขุดหลุม ลึกประมาณ 1 ศอก ตากแดดให้ดินแห้ง ที่สำคัญเป็นการฆ่าเพลี้ย และโรคต่างๆ ที่มากับดินด้วยแสงแดดได้ในระดับหนึ่ง
2.จากนั้นให้น้ำกิ่งพันธุ์ส้มแก้วลงปลูก ในหลุมที่เตรียมไว้ ( กิ่งพันธุ์นี้ได้มาจากการตอนกิ่ง ปักชำ หรือการต่อกิ่ง แต่เกษตรกรนิยมใช้กิ่งที่ได้จากการตอนมากกว่า เพราะมันจะไม่กลายพันธุ์ เติบโตง่าย ที่สำคัญให้ผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว)
3.คอยดูแล ให้น้ำและใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ทุกเดือน เดือนละครั้ง ครั้งละ 1กิโลกรัม
4.เมื่ออายุต้นส้มแก้วเข้าสู่ช่วงให้ผลผลิตจะออกดอก รออีกประมาณ 4 เดือน เกษตรกรจะนำใบตองแห้งมาหุ้มผลส้มแก้วเพื่อป้องกันแมลงมากัดกิน ทิ้งไว้ 1 ปี ผลส้มแก้วก็จะสุกเต็มที่พร้อมต่อการเก็บเกี่ยว
การดูแลรักษาส้มแก้ว
1.ส้มแก้วเป็นไม้ผลที่ต้องการแสงแดดเพียงแค่ 50% เท่านั้นดังนั้นในการเลือกพื้นที่ปลูกจะมีลักษณะคล้ายกับปลูกส้มเช้ง คือปลูกผสมผสานกับไม่ผลอื่นๆ บนพื้นที่ดินร่วน มีอินทรีย์วัตถุมากๆ ที่สำคัญพื้นที่เหล่านั้นจะต้องระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำที่ท่วมขังค้างนาน ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลต่อระบบรากและต้นส้มแก้วตายในที่สุด
2.ส้มแก้วมีระบบรากที่ตื้น หากินบนพื้นผิวดิน ดังนั้นเกษตรกรไม่ควรที่จะทำการตกแต่งรากแต่อย่างไร ทำได้เพียงแค่พูนดินเพื่อหล่อรากให้ขึ้นมาข้างบน วิธีการนี้จะช่วยให้ต้นส้มแก้วแตกรากใหม่ได้ดี
3.เมื่อปลูกได้ประมาณ 2-3 ปีจะเริ่มติดผล แต่สามารถให้ผลได้อย่างเต็มที่ก็ประมาณ 5-7 ปีหลัง โดยจะออกผลเพียงแค่ปีละ 1 รุ่นเท่านั้น ช่วงเวลาในการออกดอก พ.ย. – ธ.ค ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวคือ ต.ค.- พ.ย. ในปีถัดมา
4.ช่วงที่กำลังให้ผล จะต้องยืดระยะเวลาการแก่ของผลออกไปด้วยการให้แคลเซียม ไนเตรท จี.เกรดทางใบ 2-3 รอบ ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะครับ เพราะมันจะไม่ไปส่งผลต่อคุณภาพของตัวส้มแก้วแต่อย่างไร
5.หากต้นส้มแก้วต้นไหนที่ได้รับการดูแล และได้รับสารอาหารตลอด 24 ชั่วโมง ติดกันหลายๆ ปี จะส่งผลให้ส้มแก้วมีผลผลิตได้ตลอดปี หรือทุกครั้งที่มีการแตกยอดอ่อน
6.พื้นที่ปลูกส้มแก้วเป็นสวนยกร่อง จะทำให้ส้มแก้วได้รับไนโตรเจนน้ำตลอดเวลา ผลที่ได้ออกมานั้นคือจะมีรสชาติที่เปรี้ยว วิธีการแก้คือก่อนการเก็บเกี่ยว 15-20 วันให้งดน้ำอย่างเด็ดขาด แล้วทำการบำรุงเร่งหวานทั้งรากและใบ ส่วนพื้นที่ราบแห้งจะสามารถควบคุมน้ำได้ดี จะทำให้รสชาติของส้มแก้วที่หวานและอร่อย
จะเห็นได้เลยว่าการปลูกส้มแก้วไม่ใช่เรื่องยาก แต่การดูแลรักษา ป้องกันหนอนและผีเสื้อกลางคืนเป็นเรื่องที่ยาก เกษตรจะต้องดูและอย่างใกล้ชิด เพราะแมลงเหล่านี้จะทำการเจาะผิวส้มแก้วแล้วเข้าไปวางไข่เป็นหนอนฝีดาษ สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก
ส้มแก้วเป็นผลไม้ที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดสูง ควรค่าแก่การอนุรักษ์สายพันธุ์ ไม่ต้องออกไปหาตลาดที่ไหน ฤดูการเก็บเกี่ยวก็จะมีเหล่าพ่อค้า แม่ค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงในสวน แต่ปัจจุบันนี้เกษตรกรที่ปลูกส้มแก้วมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน สวนกระแสความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากส้มแก้วเป็นไม้ผลที่ค่อนข้างดูแลยาก ต้นทุนในการผลิตสูง และใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าส้มอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุหลักในการถอดใจของเกษตรกร